Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
9 ธ.ค. 2021 เวลา 01:08 • ธุรกิจ
"Medical Tourism" อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเทศไทยอยู่จุดไหน?
1
โดยปกติแล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว เนื่องจากมีอาหารที่อร่อยราคาถูก ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม เหมาะสำหรับการมาพักผ่อนอย่างยิ่งสำหรับชาวต่างชาติ แต่นอกจากปัจจัยเหล่านั้นแล้วนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเดินทางมาไทยโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากประเทศไทยมีค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่แพงและมีคุณภาพในระดับสูง ซึ่งทำให้กระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) เป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
📌 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น คือ การที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น การผ่าตัด การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการทำฟัน พร้อมทั้งท่องเที่ยวไปในตัวโดยอาจจะเที่ยวก่อนรักษา เที่ยวหลังรักษา หรือให้คนในครอบครัวไปเที่ยวในขณะที่ตัวเองเข้ารับการรักษาก็นับเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้คนยอมเดินทางไกลเพื่อมารักษาตัวคาดว่ามีอยู่ 3 อย่างด้วยกันได้แก่ ราคา ความเชี่ยวชาญ และเป็นสถานที่ที่น่าเที่ยว
ปัจจัยด้านราคา คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าราคาเป็นสิ่งแรก ๆ ที่เราจะใช้พิจารณาในการเลือกเข้ารับการรักษา ถ้าการรักษาพยาบาลในประเทศเราถูกกว่าต่างประเทศ เราก็คงไม่ยอมลงทุนจ่ายตั๋วเครื่องบินเพื่อไปต่างประเทศ
จากการศึกษาของ Bloomberg Intelligence ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ เช่นการผ่าตัดบายพาสหัวใจ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และอินเดีย มีราคาถูกกว่าเกือบ 90% หากเทียบกับการรักษาในลักษณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกา (แม้จะรวมค่าเดินทางแล้วก็ยังถูกกว่า) เนื่องจากรัฐบาลในประเทศเหล่านี้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การให้วีซ่าระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติ หรือการยกเว้นภาษีสำหรับค่าบริการทางการแพทย์ของชาวต่างชาติ
รูปที่ 1: ค่าใช้จ่ายการรักษาในแต่ละประเทศ
นอกจากปัจจัยด้านราคาแล้ว ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคนั้นๆ หรือการให้บริการที่มีคุณภาพ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศได้ อย่างประเทศเกาหลีใต้ก็มีความเชี่ยวชาญในการทำศัลยกรรมเพื่อความงาม ประเทศฮังการีและเม็กซิโกชูจุดเด่น เรื่องการรักษาทันตกรรมและศัลยกรรมช่องปาก ส่วนประเทศตุรกี มีชื่อเสียงอย่างมากในการทำศัลยกรรมปลูกผม
ทางด้านประเทศไทยเราก็เป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากในฐานะศูนย์กลางศัลยกรรมแปลงเพศ ซึ่งสามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ทั้งจากหญิงเป็นชายและชายเป็นหญิง ทำให้ชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาแปลงเพศในไทยเป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากกว่า 14,000 ล้านบาทในปี 2557 (อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg)
รูปที่ 2: ความเชี่ยวชาญในการรักษาของแต่ละประเทศ
ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ชาวต่างชาติยอมเดินทางไกลเพื่อใช้บริการทางการแพทย์ คือ ประเทศปลายทางมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าดึงดูด เนื่องจากเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การรักษาแต่เพียงเท่านั้น ชาวต่างชาติที่เดินทางมาอาจจะมีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก และผู้ติดตามหรือครอบครัวที่เดินทางมาด้วยก็สามารถที่จะท่องเที่ยวได้ไปในตัวขณะที่ผู้เข้ารับบริการอยู่ในช่วงของการพักฟื้นหลังรักษา หรือหลังหายดีแล้ว
📌 ประเทศไทยอยู่จุดไหนในอุตสาหกรรมนี้
ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเลยก็ว่าได้ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคนต่อปีในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบ่งเป็นผู้ที่เดินทางเพื่อใช้บริการทางสุขภาพ (Medical Tourist) ราว 2.4 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อใช้บริการทางสุขภาพน้อยกว่า (สิงคโปร์ 500,000 คน, มาเลเซีย 1,200,000 คน, ฟิลิปปินส์ 250,000 คน)
การที่ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์เป็นเพราะประเทศไทยมีโรงพยาบาลกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมาตรฐานการรับรองจาก Global Healthcare Accreditation ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานการแพทย์ระดับนานาชาติ
รูปที่ 3: ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว, รายได้ในอุตสาหกรรม Medical Tourism และจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจาก GHA
โดยชาวต่างชาติที่นิยมเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง 12.5% เมียนมา 8.7% สหรัฐอเมริกา 6.2% สหราชอาณาจักร 5% และญี่ปุ่น 4.9%
รูปที่ 4: ประเทศที่นิยมเดินทางมารักษาตัวในไทยมากที่สุด 5 อันดับ
📌 การสนับสนุนจากทางรัฐบาล
เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ระดับนานาชาติ (World Medical Hub) คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการเรื่องการตรวจลงตราวีซ่าประเภทใหม่ ที่เป็นวีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติ (Medical Treatment Visa) โดยจะมีระยะเวลาของวีซ่าอยู่ที่ 1 ปี มีผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถรักษาตัวระยะยาวในประเทศไทยได้ จากที่ก่อนหน้านี้จำเป็นจะต้องใช้วีซ่าประเภทท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งมีความยุ่งยากในเรื่องการขอต่ออายุวีซ่า
นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลไทยยังตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ (มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง 80,000 – 120,000 บาท) เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพการท่องเที่ยวที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ
📌 ภาคเอกชนตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาลเท่านั้นที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภาคเอกชนก็มีมองเห็นถึงโอกาสเช่นกัน โดยบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เครือโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็หันมาให้ความสำคัญในการเจาะกลุ่มลูกค้า Business Tourism (ชาวต่างชาติที่เดินทางมาทำธุรกิจในไทย) และ Medical Tourism (ชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย) ด้วยการให้บริการทางการแพทย์ที่เป็นระบบดิจิทอล เปิดการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์ และเก็บประวัติการตรวจทั้งหมดไว้บนมือถือ ซึ่งมีความสะดวกในการใช้งาน
ส่วนทางด้านบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์เจ้าใหญ่อย่าง บริษัท แอสเสท เวิร์ด คอร์ป หรือ AWC ล่าสุดก็ได้ลงทุนในโครงการ The Integrated Wellness Destination เช่าที่ดินริมน้ำ ล้ง 1919 ด้วยงบกว่า 3,436 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเป็นแลนมาร์คดึงดูดนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพจำนวนมากทั่วโลก
📌 บทสรุป
โดยรวมแล้ว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มีเกือบ 40 ล้านคนในช่วงก่อนการระบาดอาจจะไม่กลับมาทั้งหมดในเร็ว ๆ นี้ เพราะว่าหลายประเทศยังมีข้อจำกัดด้านการเดินทางอยู่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะช่วยกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขาดหายไปได้บางส่วน
ในอนาคตหากประเทศไทยสามารถพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ได้จริง อุตสาหกรรมนี้ก็คาดว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และประเทศไทยอาจจะมีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้คนไทยไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียวเพราะตัวอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมาย เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเทคโนโลยี
#Medical_Tourism #Medical_Hub #การแพทย์ #การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
#เศรษฐกิจไทย #Healthcare
#Bnomics #Industry ##เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
https://www.thansettakij.com/business/504193
https://www.thairath.co.th/news/politic/2253996
https://www.globalhealthcareaccreditation.com/
https://www.bangkokbiznews.com/news/974904
https://www.bangkokbiznews.com/health/898122
https://www.eeco.or.th/th/high-value-and-medical-tourism-industries
https://www.thairath.co.th/business/investment/stockexchange/2248171
https://www.magazine.medicaltourism.com/article/philippines-medical-tourism-destination
https://www.economist.com/business/2018/07/28/how-the-medical-tourism-business-thrives
https://asia.nikkei.com/Business/Health-Care/Thai-BDMS-bets-on-overseas-telemedicine-amid-omicron-threat
https://www.bloomberg.com/news/features/2015-10-26/how-thailand-became-a-global-gender-change-destination
https://www.thailand-business-news.com/featured/59515-thailand-seeks-boost-market-share-medical-tourism-asia.html/
Bloomberg
ASEAN Hospitals - Competitive Pricing, Policies (written by Nikkei Lu)
การท่องเที่ยว
การแพทย์
เศรษฐกิจ
1 บันทึก
8
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
B-Industry
1
8
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย