9 ธ.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
ทำไมผู้ผลิตชิปอันดับ 3 ของโลก “ขาดทุน” ทั้งที่ชิปทั่วโลก “ขาดแคลน”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกให้พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการชิปหรือหน่วยประมวลผลเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นขาดแคลน
1
แต่ทว่า GlobalFoundries บริษัทผู้ผลิตชิป ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
กลับขาดทุนนับหมื่นล้านบาท สวนทางกับความต้องการชิปที่เพิ่มขึ้น
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ GlobalFoundries ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริงอยู่ว่าหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับ GlobalFoundries
แต่จริง ๆ แล้ว บริษัทแห่งนี้มีผู้ร่วมก่อตั้งคือ Advanced Micro Devices หรือ AMD
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของธุรกิจ CPU และ GPU ยักษ์ใหญ่ของโลก
ด้วยความที่โรงงานผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตชั้นสูง
1
รวมถึงต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการก่อตั้งโรงงานขึ้นมา ทำให้มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถตั้งโรงงานผลิตได้
1
นั่นจึงทำให้ในปี 2009 AMD ตัดสินใจแยกส่วนโรงงานผลิตของตัวเองมาตั้งเป็นบริษัทใหม่อีกบริษัทหนึ่งที่มีชื่อว่า The Foundry Company และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “GlobalFoundries” ในเวลาต่อมา
2
บริษัทแห่งนี้ AMD ได้ร่วมทุนกับกลุ่มทุน Advanced Technology Investment Company หรือ ATIC
ซึ่งเป็นของรัฐบาลอาบูดาบี โดยจะแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นเป็น
1
- ATIC 65.8%
- AMD 34.2%
1
แต่ไม่กี่ปีถัดมา AMD ก็ได้ตัดสินใจถอนหุ้นออกจนหมด
1
อย่างไรก็ตาม GlobalFoundries ยังรับหน้าที่ดำเนินการผลิตให้กับ AMD ซึ่งถือเป็นลูกค้าหลัก
และรับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่น ๆ ที่ออกแบบชิปไว้แล้วแต่ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง
1
ทำให้ AMD สามารถโฟกัสไปที่การออกแบบชิปเพียงอย่างเดียว
เพื่อที่จะแข่งขันกับ Intel ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมากังวลในส่วนของการผลิต
1
ในขณะเดียวกัน หากเกิดปัญหาชิปขาดแคลน AMD ก็มีอิสระ
ที่จะไปจ้างโรงงานอื่นให้ผลิตชิปให้ ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
1
ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้ ก็เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างระหว่าง AMD และ Intel
เนื่องจาก Intel มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองและเพื่อตัวเองเท่านั้น
โดยไม่ได้รับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่น
ต่อมา ATIC ก็ได้เข้าซื้อกิจการของ Chartered Semiconductor ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติสิงคโปร์ ในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นผู้ผลิตที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และได้นำบริษัทแห่งนี้ควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของ GlobalFoundries
จากการควบรวมนี้เอง ก็ได้ทำให้ GlobalFoundries มีฐานลูกค้าทั่วโลกกว่า 150 รายจากหลากหลายอุตสาหกรรม ครอบคลุมตั้งแต่คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
1
โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา GlobalFoundries เป็นผู้ผลิตหลักให้กับ AMD มาโดยตลอด
แต่จริง ๆ แล้ว AMD ก็ไม่ได้พึ่งพาเพียง GlobalFoundries เท่านั้น
5
เพราะ AMD ก็ได้เข้าซื้อ ATI Technologies ผู้พัฒนาชิปการ์ดจอคอมพิวเตอร์และชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปี 2006
1
ซึ่งแต่เดิม ATI ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกอีกรายหนึ่ง
ก็คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC
จึงทำให้ภายหลังการควบรวม AMD ได้รู้จักกับ TSMC
และ AMD ได้วางให้ TSMC เป็นผู้ผลิตชิปให้กับบริษัทนอกเหนือจาก GlobalFoundries
1
จนกระทั่งในปี 2014 AMD ที่นำโดย CEO หญิงไฟแรงอย่าง Lisa Su
มีความต้องการที่จะผลิต CPU ด้วยเทคโนโลยีที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าของ Intel
2
โดย AMD ต้องการเปิดตัว CPU ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับ 14 นาโนเมตรในปี 2015
ทำให้ GlobalFoundries ได้ร่วมมือกับ Samsung ในการผลิตชิปด้วยเทคโนโลยีขนาด 14 นาโนเมตร ซึ่ง Samsung เป็นผู้พัฒนาขึ้นมา
3
ด้วยความร่วมมือกับ Samsung นี้เอง ทำให้ GlobalFoundries สามารถส่งมอบ CPU ให้กับ AMD ได้ตามกำหนด
1
จากความสำเร็จของเทคโนโลยีการผลิตระดับ 14 นาโนเมตรและต่อยอดไปเป็น 12 นาโนเมตร ซึ่งมีดีทั้งประสิทธิภาพในการใช้งานและการผลิต ก็ทำให้ GlobalFoundries สามารถรักษาการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ให้กับ AMD ไว้ได้
2
แต่แล้วการแข่งขันกันลดขนาดของเทคโนโลยีที่ใช้ผลิต CPU
ระหว่าง AMD และ Intel ก็สร้างความลำบากให้กับผู้ผลิตชิปในตลาด..
เพราะทุกครั้งที่มีการปรับลดขนาดของเทคโนโลยีลง
โรงงานผลิตก็จำเป็นต้องปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตใหม่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
โดยเฉพาะเครื่องจักร ที่ใช้ในการผลิตที่มีราคาสูงมากและเครื่องจักรที่มีขายก็มีเพียงเครื่องจักรของ ASML เพียงรายเดียวบนโลกที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตซึ่งสามารถผลิตได้ถึงระดับ 5 นาโนเมตร
1
อีกประเด็นหนึ่งคือ ถึงแม้จะมีเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขนาดไหน
แต่การปรับลดขนาดทรานซิสเตอร์ของชิปลง ก็จะทำให้ “Production Yield Rate”
หรือก็คือผลตอบแทนต่อการผลิตที่ได้ก็ต่ำลงไปด้วย
2
ทั้งค่าใช้จ่ายในการวางระบบและจัดหาเทคโนโลยีใหม่ รวมถึง Production Yield Rate ที่ต่ำลง
ก็ได้ส่งผลโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้กำไรของผู้ผลิตน้อยลงตามไปด้วย
5
และจากการที่ AMD ใช้การลดขนาดของเทคโนโลยีในการผลิตเป็นนโยบายหลักในการแข่งขันกับ Intel และได้รับผลตอบรับที่ดี
ทำให้ไม่นานนัก AMD ก็เริ่มพัฒนาชิปตัวใหม่ที่ใช้การผลิตระดับ 7 นาโนเมตร
และพาร์ตเนอร์คู่บุญอย่าง GlobalFoundries ก็ถูกวางตัวให้เป็นผู้ผลิตหลักของ AMD
1
แม้ในตอนแรก GlobalFoundries จะตอบรับต่อแนวทางดังกล่าว
และพัฒนาเทคโนโลยี 7 นาโนเมตรอยู่เป็นเวลานานถึง 2 ปีด้วยกัน
1
แต่แล้วในปี 2018 GlobalFoundries ก็ประกาศยกเลิกการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตระดับ 7 นาโนเมตร และพุ่งเป้าไปที่การผลิตในระดับ 12 และ 14 นาโนเมตร ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพที่สูงเพียงพอและถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
2
ในขณะที่เทคโนโลยี 7 นาโนเมตรนั้น แม้ AMD จะต้องการมากแค่ไหน
แต่ก็เป็นที่นิยมแค่ในตลาดหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าลูกค้ามีเพียงหยิบมือ
2
เมื่อเป็นเช่นนี้ AMD จึงได้หันไปพึ่งพา TSMC ที่มีเทคโนโลยีนี้อยู่แล้วจากการผลิตหน่วยประมวลผลให้กับสินค้าของ Apple
และจุดนี้เอง เรียกได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของ GlobalFoundries ในการเป็นผู้ผลิตเบอร์หนึ่งให้กับ AMD..
2
และนั่นหมายความว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา GlobalFoundries จะต้องเสียรายได้ทั้งหมดจากการผลิต ให้แก่ AMD แต่ก็แลกกับการไม่ต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการอัปเกรดเครื่องจักร
3
อย่างไรก็ตาม แม้อุตสาหกรรมชิปทั่วโลกจะได้แรงหนุนจากสถานการณ์โควิด 19 จนทำให้ชิปขาดตลาด แต่ผลประกอบการของ GlobalFoundries กลับขาดทุนมาตลอด
3
หากเรามาดูผลประกอบการของ GlobalFoundries 3 ปีย้อนหลัง เป็นดังนี้
1
ปี 2018 รายได้ 2.09 แสนล้านบาท ขาดทุน 9.1 หมื่นล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 1.96 แสนล้านบาท ขาดทุน 4.6 หมื่นล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 1.63 แสนล้านบาท ขาดทุน 4.5 หมื่นล้านบาท
1
สาเหตุที่บริษัทยังคงขาดทุน เนื่องจากลูกค้าของ GlobalFoundries
ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งถึงแม้ว่าชิปที่ผลิตจะไม่มีความซับซ้อน
แต่ก็มีราคาที่ถูกกว่าชิปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และมีความยากในการปรับราคาแม้ชิปจะขาดตลาดก็ตาม
1
อีกประเด็นหนึ่งคือโรงงานผลิตชิป มักจะต้องอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา
ทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์มีระยะเวลาที่สั้น ค่าเสื่อมราคาจึงสูง
ถึงขนาดที่ว่าหากจะให้การผลิตถึงจุดคุ้มทุน โรงงานต้องเดินเครื่องผลิตอย่างน้อย 90% ของกำลังการผลิตเลยทีเดียว แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา GlobalFoundries กลับทำได้เพียง 70 ถึง 84% เท่านั้น
1
ก็เป็นที่น่าติดตามว่าท่ามกลางปัญหาชิปขาดแคลนทั่วโลก GlobalFoundries ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก TSMC และ Samsung จะสามารถกลับมามีกำไรได้หรือไม่
1
หากกลับมาไม่ได้ เราก็คงสามารถสรุปได้ว่าการตัดสินใจล้มเลิกการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีผลิตชิปให้กับ AMD ในครั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของบริษัทเลยทีเดียว..
1
References
โฆษณา