Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 ธ.ค. 2021 เวลา 12:00 • การเมือง
ไทม์ไลน์ “รัฐธรรมนูญไทย 89 ปี 20 ฉบับ”
1
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” คือ กฎหมายสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ และยังเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ
2
ไทม์ไลน์ “รัฐธรรมนูญไทย 89 ปี 20 ฉบับ”
ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรวมแล้วทั้งหมด 20 ฉบับ
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 โดย คณะราษฎร
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม โดย พระยามโนปกรณนิติธาดา
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ในสมัย ปรีดี พนมยงศ์
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2490 ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม
5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ในสมัย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม
7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ในสมัย ทวี บุณยเกตุ
9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร
10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ในสมัย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 ในสมัย พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่
12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 ในสมัย พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่
13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ในสมัย พลอากาศเอก หะริน หงสกุล
14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ในสมัย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์
15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ในสมัย อุกฤษ มงคลนาวิน
16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในสมัย นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา
17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549 ในสมัย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน
18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในสมัย มีชัย ฤชุพันธุ์
19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 ในสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
20. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็มีรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสภาพของสังคมในตอนนั้น ซึ่งจะยกตัวอย่างบางฉบับที่มีความแตกต่างกัน เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ก็คือ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร มีทั้งหมด 39 มาตรา มีการจัดวางโครงสร้างอำนาจ ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ อำนาจของกษัตริย์ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร อำนาจของคณะกรรมการราษฎร และ อำนาจศาล
หลังจากนั้นในวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2475 มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ได้ประกาศและใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และถือให้เป็น “วันรัฐธรรมนูญ”
หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 4 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 หรือหนึ่งวันหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ เป็นผู้ตรวจร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใช้บังคับในขณะนั้น และมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้และได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2490 ต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ของไทย มีการบัญญัติเป็นครั้งแรกว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" จัดร่างโดยสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ของประเทศไทยซึ่งร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญภายหลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเหตุการณ์ การชุมนุมใหญ่ของนิสิตนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพื่อใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 โดยมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
2
หลังจากนั้นมีการใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 14 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 โดยมีพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นการประกาศใช้หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พร้อมกำหนดให้มี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยให้มีสมาชิกได้ไม่เกิน 300คนทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ รวมถึงทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และกำหนดให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแปรสภาพเป็น สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นประธานสภาและมีสมาชิกได้ไม่เกิน 15 คน รวมถึงมอบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ริเริ่มขึ้นโดยพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชานายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเข้ามาดำเนินการและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 99 คน โดย 76 คนเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด และอีก 23 คนมาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งฉบับเดียวของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ 15 ฉบับมาจากคณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งหรือรัฐบาลทหาร รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์การชุมนุมของประชาชนคือพฤษภาทมิฬ ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ที่มาจากการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น
หลังจากนั้นไม่นานประเทศไทยก็ยังหนีไม่พ้นจากรัฐธรรมนูญที่มาจากทหารหรือจากการทำรัฐประหาร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในระหว่าง พ.ศ. 2549–2550 ภายหลังการรัฐประหาร และวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้รัฐธรรมนูญนี้สิ้นสุดลงโดยการทำรัฐประหาร และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 19 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว จัดทำร่างโดย คสช. พร้อมกับมีข้อวิจารณ์ถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. เหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการซึ่งคล้ายคลึงกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มาตรา 17 ที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ร่าง
ทำให้ผู้เผด็จการสั่งการฆ่าคนนอกกระบวนการยุติธรรมได้ โดยจอมพลสฤษดิ์ สั่งประหารชีวิตบุคคลจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาความผิดอาญาโดยไม่มีการไต่สวนในศาลอย่างเหมาะสม
ในปัจจุบันไทยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 มีที่มาจากการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 เพื่อจัดทำร่างฯ ฉบับใหม่ ประกอบด้วยสมาชิก 21 คน มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีการลงประชามติในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 61.35 เห็นชอบ และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญกันอยู่เป็นระยะ และมีการตีตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปแล้วถึง 2 ร่าง เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังคงให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งได้วาระละ 5 ปี
15 บันทึก
20
8
18
15
20
8
18
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย