10 ธ.ค. 2021 เวลา 01:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้จักกับเทโลเมียร์(Telomere)
ต้นเหตุแห่งความแก่ในระดับเซลล์
(เรียบเรียงโดย ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์)
เหตุใดสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์เราจึงแก่เฒ่าจนอวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพลงไปอย่างไร้ทางหยุดยั้ง เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะศึกษาจนสืบสาวหาต้นตอแห่งความแก่ได้แล้วยับยั้งมันจากตรงนั้น
1
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นไปได้
1
หลายสิบปีก่อน เอลิซาเบธ แบล็กเบิร์น (Elizabeth Blackburn) นักชีววิทยาเชื้อสายออสเตรเลียน-อเมริกันใช้เวลากว่า 10 ปี ศึกษาโครงสร้างบริเวณปลายสุดของโครโมโซมที่เรียกว่าเทโลเมียร์ (Telomere) คล้ายๆกับถุงเท้าที่หุ้มปลายโครโมโซมเอาไว้
โครโมโซม (สีเทา) และปลายหุ้มเทโลเมียร์ (สีขาว) ของมนุษย์ ที่มา : Wikipedia
อลิซาเบธค้นพบว่าดีเอ็นเอบริเวณเทโลเมียร์มีลำดับเบสเรียงเป็นชุดซ้ำๆกันจำนวนมากซึ่งไม่มียีนควบคุมลักษณะต่างๆของร่างกายอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้บริเวณปลายสุดจะหดสั้นลงไปบ้างในระหว่างแบ่งเซลล์ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่หากมันหดสั้นลงมาถึงจุดหนึ่งอาจจะกระทบกับยีนสำคัญๆได้ ความยาวของเทโลเมียร์จึงสัมพันธ์กับอายุขัยของเซลล์โดยตรง (ยิ่งเทโลเมียร์ยาว อายุขัยมากสุดของเซลล์ก็ยิ่งมาก)
2
กระบวนการของเอนไซม์เทโลเมอเรส (telomerase) ที่จะคอยเพิ่มความยาวให้กับปลายสายดีเอ็นเอ ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้ อลิซาเบธยังเป็นผู้ร่วมค้นพบเอนไซม์เทโลเมอเรส (telomerase) ที่จะคอยเพิ่มความยาวให้กับปลายสายดีเอ็นเอเสมอๆ ส่งผลให้เซลล์ต้นกำเนิดสามารถแบ่งเซลล์ได้เรื่อยๆ นอกจากนี้ถ้าเซลล์ทั่วๆไปเกิดการกลายพันธุ์จนเทโลเมอเรสทำงานขึ้นมาอย่างควบคุมไม่ได้ เซลล์นั้นก็จะแบ่งเซลล์อย่างไม่หยุดหย่อนจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด
2
งานวิจัยของอลิซาเบธทำให้นักวิทยาศาสตร์ล่วงรู้กลไกในระดับเซลล์ของความแก่ชรา (cellular aging) และความลับของการยืดอายุขัยไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ยังกรุยทางให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนายารักษามะเร็งโดยการยับยั้งเอนไซม์เทโลเมอเรสด้วย
1
เอลิซาเบธ แบล็กเบิร์น (Elizabeth Blackburn) ที่มา : Wikipedia
ดังนั้น ความหวังในการรักษาโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย การชะลอวัย (anti-aging medicine) หรือแม้แต่การย้อนวัย (rejuvenation) อาจจะอยู่ที่การควบคุมให้เซลล์ต่างๆสร้างเทโลเมอเรสเพื่อยืดความยาวของเทโลเมียร์ให้เราได้ตามต้องการ
ในโลกยุคอนาคตอันไกลโพ้น
ถ้าความแก่กลายเป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่รักษาได้
ไม่รู้เหมือนกันว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะเปลี่ยนไปแค่ไหน
ปล. ในปี ค.ศ. 2009 คณะกรรมการโนเบลจึงพิจารณามอบรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ให้แก่เอลิซาเบธ แบล็กเบิร์น ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีกสองท่าน สำหรับการค้นพบกระบวนการป้องกันโครงสร้างของโครโมโซมด้วยเทโลเมียร์และเอนไซม์เทโลเมอเรส
โฆษณา