18 มี.ค. 2022 เวลา 01:35 • การศึกษา
ผู้มีจิตมั่นคง
บุญ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า บุญที่เราได้ทำไว้อย่างดีแล้วในบุญเขตอันเยี่ยม คือ พระรัตนตรัย จะส่งผลให้เราท่องเที่ยวอยู่แต่ในสุคติภูมิเท่านั้น แล้วยังติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม คำว่า ท่องเที่ยว คือ การกลับไปเกิด กลับมาเกิดในระหว่างมนุษย์กับเทวโลก ไม่พลัดไปในอบายเลย จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อหมดอายุขัยในมนุษย์ ก็จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เมื่อลงมาเกิดก็จะอยู่ในแวดวงของผู้มีบุญ ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ดังนั้น การทำบุญถูกทักขิไณยบุคคล ทำถูกต้นแหล่งแห่งบุญ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักสร้างบารมี
1
มีวาระพระบาลีปรากฏใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะว่า…
 
สงฺขาย โลกสฺมึ ปโรวรานิ
ยสฺสิญฺชิตํ นตฺถิ กุหิญฺจิ โลเก
สนฺโต วิธูโม อนิโฆ นิราโส
อตาริ โส ชาติชรญฺจ พฺรูมิ
ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว ในโลกไหน ๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรม ที่ยิ่งและหย่อนในโลก ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่ว อันจะทำให้มัวหมองดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้แล้ว
1
โลกธรรม คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก ใคร ๆ ก็ต้องพบ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบพบเจอ ตั้งแต่ได้ลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขมีทุกข์ เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่า จะต้องรักษาใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมเหล่านั้น ไม่ยินดียินร้าย เพราะรู้เท่าทันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภมีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โต ก็ไม่ใช่จะอยู่กับเราตลอดไป ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเสื่อมหายไปเป็นธรรมดา ตามกฎของไตรลักษณ์
มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นเรื่องของอุบาสิกา ท่านหนึ่ง เป็นผู้ที่ฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองมาตั้งแต่เล็ก คือ นางเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องร้าย ก็ยังรักษาใจเป็นกลางๆ มีอุเบกขาธรรม และพิจารณาเห็นโลกไปตามความเป็นจริง เป็นบุคคลที่น่าเอาอย่าง
เรื่องมีอยู่ว่า ในคืนหนึ่ง นันทมารดา ซึ่งเป็นอริยสาวิกา ชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง นั่งสมาธิ ภาวนาตามปกติ อยู่บนปราสาทชั้นเจ็ด ให้เวลาล่วงไปด้วยการเข้าสมาบัติ ดื่มด่ำธรรมปีติซึ่งเกิดจากการทำใจหยุดนิ่ง เพราะนางได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว ก็เริ่มสวดปารายนสูตร เป็นทำนองสรภัญญะ ประมาณ ๒๕๐ คาถา
ในขณะนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชเสด็จผ่านมาพอดี ได้สดับนันทมารดาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะ จึงหยุดฟังด้วยความซาบซึ้งในรสพระธรรมจนจบ แล้วทรงอนุโมทนาว่า “สาธุ...น้องหญิง พระธรรมเทศนา ของพระบรมศาสดา ท่านรับมาดีแล้ว เราไม่เห็นอะไรที่จะต่างกัน ระหว่างวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับที่ปาสาณกเจดีย์ ตรัสแก่ปารายนิกพราหมณ์ ๑๖ท่าน และพระสูตรที่น้องหญิงกล่าวในวันนี้ เป็นเสมือนกับพระดำรัสที่พระศาสดาตรัสแล้ว”
นันทมารดาอุบาสิกา เมื่อเห็นผู้มีอานุภาพมายืนเปล่งรัศมีกายอยู่ตรงหน้าต่าง ก็ไม่ได้หวาดกลัวหรืออัศจรรย์ใจอะไรเลย ใจของท่านเป็นปกติราวกับผู้นิรทุกข์ ได้ถามว่า “ดูก่อนท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านมีรัศมีกายสว่างไสวประดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านเป็นใครหนอ เป็นนาค ครุฑ เทวดา หรือว่าเป็นพรหม”
เมื่อนางทราบว่าเป็นท้าวเวสสวัณ ก็กล่าวต้อนรับว่า “ถ้าเช่นนั้น ดิฉันขอต้อนรับท่าน ด้วยการให้ท่านมีส่วนแห่งบุญที่ดิฉันได้สาธยายปารายนสูตรโดยทำนองสรภัญญะในเช้าวันนี้”
ท้าวเวสสวัณทรงอนุโมทนาบุญ พร้อมกับตรัสบอกว่า “พรุ่งนี้ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ จะเดินบิณฑบาต มาในเวฬุกัณฏกนครแห่งนี้ ท่านพึงรีบจัดเตรียมอาหารเพื่อถวายเป็นสังฆทานแด่ภิกษุสงฆ์ แล้วพึงอุทิศส่วนบุญให้เราด้วยเถิด หากทำได้อย่างนี้นับว่าเป็นการต้อนรับอันประเสริฐแท้”
เมื่อท้าวเวสสวัณตรัสสนทนากับนันทมารดาอุบาสิกาเสร็จ ก็ทรงอำลานางแล้วอันตรธานหายไป ฝ่ายอุบาสิกาก็รีบไปบอกให้คนในบ้านช่วยกันจัดแจงข้าวปลาอาหารอันประณีตไว้ แล้วให้คนไปนิมนต์พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ มาฉันภัตตาหาร ที่บ้าน
ครั้นเวลาเช้า พระภิกษุสงฆ์มีพระเถระทั้งสองเป็นประมุข ได้ออกบิณฑบาตไปตามถนน แล้วมาพักฉันภัตตาหารที่บ้านของนางนันทมารดาซึ่งได้จัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี เมื่ออังคาสภิกษุสงฆ์ให้อิ่มหนำสำราญแล้ว นางก็เข้าไปนั่งสนทนา เล่าเรื่องที่ได้สนทนากับท้าวเวสสวัณเมื่อรุ่งอรุณให้พระเถระทั้งสองฟัง
พระสารีบุตรกล่าวชมเชยว่า เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่นางสามารถเจรจาต่อหน้าท้าวเวสสวัณมหาราช ซึ่งเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ นันทมารดากล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมอันน่าอัศจรรย์ของดิฉัน มิใช่เพียงเท่านี้ แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันมีบุตรน้อยอยู่คนหนึ่งชื่อ นันทะ เป็นที่รักของดิฉันมาก พระราชาได้สั่งประหารชีวิตเพราะเหตุเพียงนิดเดียว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อบุตรของดิฉันถูกจับแล้วก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี ดิฉันไม่รู้สึกกระวนกระวายใจเลย”
พระสารีบุตรกล่าวชมว่า “น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาก่อน ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์”
อุบาสิกาได้กล่าวต่อไปว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ความอัศจรรย์ใจ มิใช่เพียงเท่านี้ แม้ข้ออื่นยังมีอีก สามีของดิฉันกระทำกาละแล้วเกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง มาแสดงตนแก่ดิฉันด้วยรูปร่างอย่างครั้งก่อน แม้ถึงอย่างนั้น ดิฉันไม่รู้สึกกลัวแต่อย่างใด…
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อสมัยที่ดิฉันยังสาว ถูกส่งตัวมาให้สามีหนุ่ม ไม่เคยคิดที่จะนอกใจสามีเลย ไฉนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อดิฉันแสดงตนเป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้ล่วงสิกขาบทอะไร ๆ เลย ดิฉันสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใน ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิ มีอุเบกขา มีสติ สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป…
ดิฉันเข้าตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข แล้วก็เข้าจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ดื่มด่ำในรสแห่งธรรม ที่มีสุขยิ่งๆขึ้นไป บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ดิฉันไม่พิจารณาเห็นสังโยชน์เบื้องต่ำข้อใดข้อหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ที่ยังละไม่ได้ในตน”
พระสารีบุตรเมื่อได้สดับเช่นนั้นแล้ว ก็กล่าวชื่นชมอุบาสิกาว่า เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ซึ่งบังเกิดขึ้นได้ยากกับบุคคลผู้อยู่ครองเรือน ธรรมอันใดที่ชาวโลกประพฤติกันได้ยาก นันทมารดาสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม พิจารณาเห็นโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริง อีกทั้งเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท สมกับเป็นอริยสาวิกาของพระบรมศาสดา
พวกเราทุกคนก็เช่นเดียวกัน เราเกิดมาภพชาติ นี้ ไม่ได้มายึดติดอยู่ในโลกใบนี้ เราดำรงชีวิตอยู่ก็เพื่อสร้างบารมีเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเอง เมื่อมีเรื่องราวใดเกิดขึ้น ก็ให้รักษาใจเป็นกลาง ๆ อย่าไปดีใจหรือเสียใจกับโลกธรรมที่เกิดขึ้นมากจนเกินไป จนทำให้สูญเสียโอกาสที่จะสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีกำลังใจสูงส่ง ให้ใจเราอยู่เหนือโลกและสวนกระแสกิเลส ที่รุมเร้าเข้ามาในใจ แล้วเราจะเป็นผู้มีชัยชนะตลอดกาล
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๓๐๔ – ๓๑๒
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
มาตาสูตร เล่ม ๑๓ หน้า ๑๔๖
โฆษณา