21 มี.ค. 2022 เวลา 08:21 • การศึกษา
ยอมรับความจริงกันดีกว่า
ทุกคนที่เกิดมาในสังสารวัฏ ต่างต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตที่เหมือนกัน คือ ความแก่ ความเจ็บและความตาย ทุกชีวิตถูกจำกัดด้วยกาลเวลา แต่ละคนมีเวลาแห่งชีวิตไม่เท่ากัน บ้างตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บ้างประสบอุบัติเหตุตายตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว บ้างตายตอนแก่ ซึ่งในยุคนี้ ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๗๕ปี ก็ต้องจากโลกไป ส่วนผู้ใดมีอายุเกิน ๗๕ปี ถือว่าอายุยืน ฉะนั้น เมื่อเรารู้จักโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จงอย่าประมาทในชีวิต ให้เร่งสร้างบารมีอย่างเต็มที่ เราจะได้ก้าวไปสู่ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บและไม่ตายอีกต่อไป
มีพุทธศาสนสุภาษิตใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ว่า…
“อาสวะเหล่าใดอันระคนด้วยความเศร้าหมอง นำมาซึ่งภพใหม่ เป็นไปด้วยความทุรนทุรายมีทุกข์เป็นผล เป็นที่ตั้งชาติ ชรา มรณะต่อไป ที่ใคร ๆ ยังละไม่ได้แล้ว เรากล่าวว่า ผู้นั้นเป็นคนหลง ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนหลง ก็เพราะยังละกิเลสอาสวะทั้งหลายไม่ได้”
เดินหลงทางทำให้เสียเวลา แต่ยังมีโอกาสหาทางออกได้ ส่วนความหลงที่เกิดจากโมหะเข้าครอบงำจิตใจ เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงที่ยากแก่การแก้ไข เพราะคนหลงจะไม่รู้ตัวเองว่าหลง เหมือนคนเมาเหล้า ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเมา ทำอะไรก็ขาดสติ ความคิด คำพูดและการกระทำก็วิปริตไปหมด กว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง ก็ตอนที่สร่างเมาแล้ว ซึ่งขณะเมา ก็ไม่รู้ว่าไปทำผิดพลาดอะไรไว้บ้าง ต้องมาตามแก้ไขภายหลัง คนที่หลงผิดไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษก็เช่นกัน กว่าจะรู้ตัว ก็ต่อเมื่อเสวยทุกข์ทรมานในอบายภูมิ จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็สายไปเสียแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องศึกษาความจริงของชีวิตไว้ให้ดี เพราะบางครั้งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจจะเกิดขึ้นกับเรา โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว ดังเรื่องของพระราชาองค์หนึ่งที่ทรงโทมนัสแทบขาดใจ เพราะการจากไปไม่มีวันกลับของมเหสีสุดที่รัก ที่จะนำมาเล่าให้ได้รับฟังกันในวันนี้ เรื่องมีอยู่ว่า....
พระเจ้าอัสสกะ ทรงครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครปาฏลิ แคว้นกาสี พระองค์มีพระอัครมเหสีที่มีรูปโฉมงดงาม ทรงหลงใหลในตัวพระนางมากกว่าใคร ๆ ครั้นพระนางล้มป่วยและสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน พระราชาโศกเศร้าพระทัยด้วยความอาลัยรักยิ่งนัก ทรงให้นำร่างที่ไร้วิญญาณบรรจุในหีบแก้ว จากนั้นทรงรับสั่งให้หมอใช้กรรมวิธีที่จะทำให้พระศพคงสภาพอยู่ได้นานที่สุด และให้นำหีบแก้วนั้นไปวางไว้ใต้พระแท่นไสยาสน์ ด้วยความรักที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย ทำให้พระราชาอดพระกระยาหาร บรรทมกันแสงรำพึงรำพันถึงพระนางทั้งวันทั้งคืนนานถึงเจ็ดวัน
ในวันที่เจ็ด พระโพธิสัตว์เป็นดาบสทรงอภิญญา อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้เจริญอาโลกกสิณตรวจดูชมพูทวีปด้วยทิพยจักษุ เห็นพระเจ้าอัสสกะกำลังปริเทวนาการเช่นนั้น ทรงดำริว่า “หากเราไม่ไปเตือนสติ พระองค์จะต้องตรอมพระทัยสวรรคตในไม่ช้าแน่นอน”
คิดแล้ว ท่านรีบเหาะไปนั่งอยู่ในพระราชอุทยานของพระราชา มีมาณพพราหมณ์คนหนึ่งเห็นพระโพธิสัตว์ ได้เข้าไปไหว้ด้วยความเลื่อมใส พระดาบสถามมาณพพราหมณ์ว่า “พระราชาของท่านทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมดีอยู่หรือ”
มาณพกราบเรียนว่า “ที่ผ่านมาพระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรม แต่ครั้นพระมเหสีสิ้นพระชนม์ พระองค์เอาแต่บรรทมพร่ำเพ้อรำพันถึงแต่พระนาง ขอพระคุณเจ้าได้โปรดเมตตา ชี้ทางสว่างแก่พระราชาของพวกเราด้วยเถิด”
พระดาบสโพธิสัตว์แนะนำว่า “เราสามารถคลายความโศกของพระราชาได้ เพียงแต่ท่านจะต้องไปกราบทูลพระราชาให้มาพบเราที่นี่”
มาณพรีบเข้าไปกราบทูลเรื่องราวที่ได้ไปพบพระดาบสผู้มีตาทิพย์ และขอให้พระองค์เสด็จไปสนทนาธรรมกับพระดาบส เพื่อจะได้คลายความโศกลงบ้าง พระราชาทรงดีพระทัยมาก รีบเสด็จขึ้นราชรถไปอุทยานทันที หลังจากไหว้พระโพธิสัตว์แล้ว ทรงถามว่า “ท่านดาบสผู้เจริญ ได้ยินว่าท่านมีตาทิพย์ สามารถรู้ที่เกิดของพระนางอุพพรี ข้าพเจ้าคิดถึงนางเหลือเกิน อยากทราบว่าตอนนี้พระนางยังคิดถึงข้าพเจ้าอยู่หรือไม่ และบัดนี้พระนางไปเกิดที่ไหน”
ดาบสโพธิสัตว์ทูลตอบว่า “ข้าแต่มหาราช พระนางอุพพรีถูกวิบากกรรมมาตัดรอน ทำให้มีอายุสั้น ระหว่างมีชีวิตอยู่นั้น เนื่องจากทรงมัวเมาในรูปโฉมของตน จึงไม่ทรงทำกุศลกรรม เพื่อเป็นเสบียงบุญที่จะให้ได้เกิดในสุคติภูมิ ครั้นละโลกแล้ว จึงไปเกิดเป็นหนอนที่มูลโค”
พระราชาไม่ทรงเชื่อ จึงท้าให้พระดาบสนำหนอนมาให้ดูก่อน พระองค์จึงจะยอมเชื่อ พระดาบสใช้อานุภาพของท่าน บังคับให้หนอนสองตัวที่กำลังชอนไชหาอาหารอยู่ในมูลโค ออกมาปรากฏต่อหน้าพระราชา พลางทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พระเทวีอุพพรีนี้ได้จากพระองค์ไปแล้ว บัดนี้กำลังเดินตามหลังหนอนตัวผู้ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรเถิด”
พระราชาทอดพระเนตรแล้ว ยังไม่เชื่อว่าหนอนตัวนี้จะเป็นอดีตพระเทวีสุดที่รัก พระดาบสเห็นดังนั้นก็ทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น อาตมาจะสนทนากับหนอนให้พระองค์ได้สดับ”
พระดาบสถามหนอนว่า “เจ้าหนอนเอ๋ย ในอัตภาพที่แล้ว เจ้าเป็นใคร”
หนอนตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นมเหสีของพระเจ้าอัสสกะ ชื่ออุพพรีเจ้าข้า”
“ขณะนี้ พระราชาอัสสกะยังเป็นที่รักของเจ้าอยู่หรือ”
“ท่านเจ้าข้า พระราชาเป็นพระสวามีของข้าพเจ้าในชาติก่อน ครั้งนั้นข้าพเจ้าเที่ยวชื่นชมรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับพระราชาในอุทยานนี้เป็นประจำ แต่นี้ข้าพเจ้าอยู่ต่างภพกันแล้ว จะไปสนใจพระราชาทำไมเล่า บัดนี้ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งที่จะสังหารพระเจ้าอัสสกะ เอาพระโลหิตในพระศอมาล้างเท้าของหนอนโคมัย ผู้เป็นสามีสุดที่รักของข้าพเจ้า ท่านเจ้าข้า สุขเก่าถูกสุขใหม่ครอบงำ ทุกข์เก่าถูกทุกข์ใหม่ปกปิดครอบงำ นี้เป็นธรรมดาของโลก เพราะสุขทุกข์เก่าถูกสุขทุกข์ใหม่ปกปิด ฉะนั้น หนอนโคมัยนี้จึงเป็นที่รักของข้าพเจ้า ยิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะร้อยเท่าพันเท่า”
พระเจ้าอัสสกะสดับเช่นนั้น ทรงกริ้วมาก หายจากความเศร้าโศกทันที รีบรับสั่งให้นำร่างของพระเทวีไปฌาปนกิจ จากนั้นทรงก้มลงกราบพระโพธิสัตว์ด้วยความเคารพ และสำนึกในพระคุณที่ท่านมาให้สติ ทำให้พระองค์ไม่ต้องจมปลักอยู่ในความรักและความพลัดพรากอีกต่อไป
เห็นไหมว่า ภพชาติที่มาเป็นกำแพงกั้นนั้น ถึงแม้จะระลึกชาติได้ก็ตาม ความรักที่เคยมี กลับต้องจืดจางไป เมื่อเกิดในภพใหม่ ย่อมต้องเรียนรู้กฎระเบียบของภพ เป็นชาวสวรรค์ก็ต้องเรียนรู้ธรรมเนียมของสวรรค์ เป็นมนุษย์ก็ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตในครอบครัว เป็นสัตว์ในอบายภูมิ ก็จำต้องเสวยวิบากกรรมที่สุดแสนจะทรมาน จนกว่าบาปกรรมที่ทำไว้จะหมดไป เขาจะไม่มีเวลามาสนใจคนที่อยู่ข้างหลังแน่นอน
เพราะฉะนั้น ให้ยอมรับความเป็นจริงของชีวิตว่า เรามีความพลัดพรากเป็นธรรมดา ต้องกล้าเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้น อย่าไปโศกเศร้าจนเกินไป ถ้าจะคิดถึง ต้องคิดถึงให้ถูกหลักวิชชา คือ คิดถึงคราใด ต้องทำบุญและอุทิศส่วนกุศลไปให้บ่อย ๆ จะได้บุญทั้งตัวเราและคนที่เราคิดถึง หากคนที่เรารักกำลังมีความทุกข์ ถ้าเราได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บ่อย ๆ ย่อมจะคลายจากทุกข์มากมาเป็นทุกข์น้อย จากทุกข์น้อยก็จะพ้นทุกข์ หรือมีสุขน้อยก็จะสุขมาก ที่สุขอยู่แล้ว ก็จะสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำเช่นนี้ เขาจะคิดถึงเรามากเป็นพิเศษ แต่จะให้ดีที่สุด คือ หมั่นทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ และเมื่อเราได้ศึกษาวิชชาธรรมกายแล้ว เราจะสามารถไปรู้ไปเห็นที่เกิดใหม่ของคนที่เราคิดถึงได้อีกด้วย
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๓๑๒ – ๓๒๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
อัสสกชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๓๐๔
โฆษณา