Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
24 มี.ค. 2022 เวลา 03:05 • การศึกษา
ผู้มีปัญญา ย่อมไม่โศก
พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้เท่านั้นที่เราต้องยึดเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอันเกษม เมื่อเราประสบทุกข์ เราก็พึ่งท่านได้ พึ่งแล้วก็จะมีแต่ความสุข สดชื่นเบิกบาน มีสติมีปัญญาเกิดขึ้น สามารถแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง พระรัตนตรัยมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ภาษาไหน มีลัทธิความเชื่ออย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ล้วนมีพระรัตนตรัยอยู่ในตัวทั้งสิ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ทสรถชาดก ว่า....
เอโกว มจฺโจ อจฺเจติ เอโกว ชายเต กุเล
สํโยคปรมาเตฺวว สมฺโภคา สพฺพปาณินํ
คนๆเดียวเท่านั้นตายไป คนเดียวเท่านั้นเกิดในตระกูล การคบหาร่วมกันของสรรพสัตว์ เป็นเพียงการเกี่ยวข้องกันเท่านั้น
ชีวิตของเราเมื่อถือกำเนิดมาแล้ว ล้วนก้าวไปสู่ความชราและมรณะ เวลาเรามาเกิด เราก็มาคนเดียว เมื่อจะละจากโลกนี้ไป เราก็ไปคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นคนโง่หรือคนฉลาด เป็นคนยากจน หรือคนมั่งมี จะมียศที่สูงส่งเพียงใดก็ตาม ไม่มีใครที่จะพ้นเงื้อมมือพญามัจจุราชไปได้
ผู้มีปัญญา ย่อมรู้ว่าการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของสรรพสัตว์ เป็นเพียงการเกี่ยวข้องกันเท่านั้น จึงไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะธรรมดาของสัตวโลก ย่อมมีการพลัดพรากเป็นธรรมดา มองเห็นชีวิตที่จากไป คล้ายกับเห็นผลไม้สุกที่ร่วงหล่นจากต้น จึงไม่มีความอาลัยเศร้าโศก เมื่อมีมรณภัยเข้ามาประชิดตัว จิตก็ไม่หวั่นไหว ดังเช่นชีวิตของพระบรมโพธิสัตว์ในกาลก่อน
ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ ถือกำเนิดเป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่ง แต่ท่านเป็นผู้มีปัญญา จึงได้สอนให้ทุกคนในครอบครัว เป็นผู้ไม่ประมาท ให้เจริญมรณานุสติ คือ หมั่นนึกถึงความตายอยู่เนืองนิตย์ เพราะรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย โดยไม่มีนิมิตหมายนำหน้า ไม่มีใครสามารถกำหนดวันเวลาได้ว่าจะตายเมื่อไร ท่านจึงแนะนำให้ทุกคนในบ้าน ฝึกเตรียมใจไว้ เมื่อความตายเกิดขึ้นแก่ใคร จะได้ไม่ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ
วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์กับพราหมณ์ผู้เป็นพ่อ ได้ออกไปไถนาตั้งแต่เช้าตรู่ พ่อก็ไถนาไป ส่วนท่านกำลังเผาหญ้าอยู่ งูเห่าตัวหนึ่งได้เลื้อยออกมาจากโพรงไม้ เพราะกลัวถูกไฟเผา ด้วยความโกรธจึงกัดท่านทันที เมื่อรู้ว่าถูกงูพิษกัด ท่านจึงเรียกพ่อให้มาช่วย พ่อได้วิ่งมาดู แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร เพราะพิษงูได้แผ่ซ่านเข้าไปในร่างกายอย่างรวดเร็ว พราหมณ์เห็นว่าลูกชายคงไม่รอดแน่แล้ว จึงบอกให้ตั้งสติไว้ให้ดี พระบรมโพธิสัตว์ท่านมีปกติเป็นผู้ไม่ประมาท จึงเจริญมรณานุสติ อยู่ในอาการอันสงบ ไม่ได้แสดงอาการทุรนทุรายหรือคร่ำครวญแต่อย่างใด ทำภาวนาสงบนิ่ง จนกระทั่งหมดลมหายใจ ละโลกไปแล้ว ด้วยจิตที่ผ่องใส ด้วยอำนาจบุญ ที่สั่งสมมาดีแล้วตลอด จึงส่งผลให้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ และเป็นใหญ่อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นท้าวสักกเทวราช
1
พราหมณ์เมื่อเห็นบุตรสิ้นชีวิตลงแล้ว จึงบอกคนเดินทางที่ผ่านมาว่า "สหายเอ๋ย ขอท่านจงไปยังเรือนของข้าพเจ้า ช่วยบอกว่า ให้ทุกคนนุ่งผ้าขาว นำดอกไม้ของหอม และอาหารมาสำหรับเราคนเดียวเท่านั้น"
เพื่อนของเขาได้ไปแจ้งให้ทางบ้านทราบ แล้วทุกคนก็รุดมา ได้ช่วยกันยกร่างของพระโพธิสัตว์ขึ้นสู่เชิงตะกอน จุดไฟเผา เหมือนกับเผาท่อนไม้ท่อนหนึ่ง โดยที่ไม่มีใครเศร้าโศกร้องไห้เลย เพราะทุกคนต่างเจริญมรณานุสติเป็นประจำอยู่แล้ว
พระโพธิสัตว์เมื่อเป็นท้าวสักกะ แล้ว ใคร่จะลองใจทุกคนในครอบครัวของพราหมณ์ จึงได้แปลงเพศเป็นพราหมณ์แก่คนหนึ่ง ทำทีว่าเดินผ่านมาในที่แห่งนั้น แล้วถามพราหมณ์ว่า "ลูกชายของท่านตายจากไป ทำไมพวกท่านจึงไม่เศร้าโศกเสียใจกัน หรือว่าพวกท่านรังเกียจเขา"
พราหมณ์ได้ฟังคำนั้น จึงบอกเหตุที่ไม่เศร้าโศกว่า "บุตรของเรา ได้ละทิ้งสรีระอันคร่ำคร่าของตนไป ประหนึ่งงูลอกคราบ เมื่อสรีระใช้สอยไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องทิ้งไป แม้พวกญาติกำลังเผาเขาอยู่ เขาก็ไม่รับรู้ถึงความเศร้าโศกของเรา คติอันใดของเขามีอยู่ เขาก็จะไปสู่คติอันนั้น"
ท้าวสักกะ จึงหันไปถามแม่บ้างว่า "บุตรท่านตายทั้งคน ทำไมท่านจึงไม่ร้องไห้ เพราะธรรมดาของผู้เป็นแม่ ย่อมมีความรัก ความอาลัยในบุตรมากกว่าพ่อ"
นางพราหมณีจึงตอบว่า "เขาเป็นลูกของฉันก็จริงอยู่ แต่เมื่อเขามา ฉันก็ไม่ได้เชิญมา เวลาเขาจะไป ฉันก็ไม่ได้อนุญาตให้ไป เขามาอย่างไร เขาก็ไปอย่างนั้น ทำไมจะต้องไปร้องไห้ถึงคนที่จากไปแล้ว"
ท้าวสักกะครั้นได้ฟังคำของนางพราหมณีแล้ว จึงถามน้องสาวบ้างว่า "แม่คุณ ธรรมดาว่าน้องสาวจะต้องรักพี่ชาย เธอไม่ชอบใจอะไรพี่ชายหรือ เพราะเหตุใดเธอจึงไม่ร้องไห้"
น้องสาวจึงกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ดิฉันจะร้องไห้ไปทำไมกัน ถ้าดิฉันร้องไห้ ก็จะทำให้ตาบอบชํ้า ร่างกายผ่ายผอม มีวรรณะไม่ผ่องใส ร้องไห้ไปก็ไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น หมู่ญาติมิตร และเพื่อนของดิฉัน ก็จะไม่สบายใจตามไปด้วย ในขณะที่พี่ชายของดิฉันถูกเผาอยู่ เขายังไม่รู้สึกถึงความโศกเศร้าของพวกเรา เพราะฉะนั้นดิฉันจึงไม่ร้องไห้"
ท้าวสักกะได้ฟังคำของน้องสาวแล้ว จึงถามภรรยาบ้างว่า "เธอเป็นอะไรกับคนที่ตายไปแล้ว"
"ท่านผู้มีอายุ เขาเป็นสามีของดิฉัน"
ท้าวสักกะถามว่า "นางผู้เจริญ ธรรมดาสตรีย่อมมีความเสน่หาในสามี และหญิงหม้ายไร้สามี ย่อมเป็นคนไร้ที่พึ่ง เพราะเหตุไร เธอจึงไม่ร้องไห้เล่า"
นางตอบว่า "ที่ดิฉันไม่ร้องไห้ เพราะคิดว่า ผู้เศร้าโศกถึงคนที่ล่วงลับไปแล้ว เปรียบเสมือนเด็กทารก ร้องไห้หมายจะเอาพระจันทร์ที่ลอยอยู่ในอากาศ เมื่อสามีของดิฉันถูกพวกญาติเผาอยู่ เขายังไม่รู้สึกถึงความโศกของพวกเรา เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ เพราะร้องไห้ไปก็เปล่าประโยชน์"
ท้าวสักกะครั้นฟังคำของภรรยาแล้ว จึงหันไปถามคนรับใช้ว่า "เธอเป็นอะไรกะเขา"
"ท่านผู้เจริญ เขาเป็นนายของดิฉัน"
"ถ้าเป็นอย่างนั้น เธอคงจะถูกเขาโบยตี หรือถูกบังคับให้ทำงานหนักล่ะสิ เธอจึงไม่ร้องไห้ คงจะดีอกดีใจด้วยซํ้าไปใช่ไหม"
"ท่านผู้เจริญ อย่าได้พูดอย่างนั้นเลย นายของดิฉันเป็นคนดี เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยเมตตาธรรม เขามีความกรุณาต่อฉันเป็นอย่างยิ่ง นายจะกล่าวแต่วาจาที่ชอบธรรม ดิฉันรักเขาเหมือนลูกในอุทร"
ท้าวสักกะจึงถามว่า "แล้วทำไม เธอจึงไม่ร้องไห้คร่ำครวญ ถึงเขาล่ะ"
หญิงรับใช้ตอบว่า "ท่านผู้เจริญ หม้อน้ำที่แตกแล้ว จะเอามาประสานให้ติดกันอีกไม่ได้ ฉันใด คนที่ตายไปแล้ว จะทำให้ฟื้นขึ้นดังเดิม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้น นายของดิฉันถูกพวกญาติเผาอยู่ ยังไม่รู้ถึงความร่ำไรของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงท่าน"
ท้าวสักกะเมื่อได้ฟังแล้ว ก็มีจิตยินดีที่ทุกคนในครอบครัว ล้วนเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท หมั่นเจริญมรณานุสติ จนเป็นอุปนิสัย จึงได้บันดาลรัตนะ ของมีค่าให้แก่พวกเขา เพื่อให้มีชีวิตอยู่กันอย่างมีความสุข แล้วตรัสบอกว่า "ท่านทั้งหลาย ได้เจริญมรณานุสติไว้ดีแล้ว เราไม่ใช่พราหมณ์หรอก แต่เราคือท้าวสักกะ ผู้เคยเป็นบุตรของท่าน แต่นี้ต่อไป เมื่อท่านทั้งหลายมีทรัพย์แล้ว ขอจงอย่าได้ประมาท ให้หมั่นทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา หมั่นเจริญมรณานุสติเป็นประจำเถิด จะได้มีสุคติภูมิเป็นที่ไป" เมื่อตรัสสอนเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับสู่เทวโลก
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศก เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นก็สามารถใช้ปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย เพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์นั้นไปได้ และสามารถแสวงหาประโยชน์จากการสูญเสียหรือการพลัดพรากได้ แล้วนำสิ่งนั้นมาเป็นอุทาหรณ์สอนตน ให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ด้วยการประพฤติอยู่ในธรรม มุ่งทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ อันเป็นมูลรากแห่งความทุกข์ ดังนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวว่า ปัญญาอันสูงสุด คือ ปัญญาในการชำแรก กิเลส เป็นปัญญาเพื่อความหลุดพ้นจากภพน้อยใหญ่ มุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม เพื่อให้เข้าถึงบรมสุขอันแท้จริง
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๓๒๒ – ๓๒๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
อุรคเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๑๒๐
1
1 บันทึก
75
12
72
1
75
12
72
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย