26 มี.ค. 2022 เวลา 03:08 • การศึกษา
เผชิญหน้าพญามัจจุราช
สรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีพื้นฐานของชีวิตเหมือนกัน เพราะต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งแต่วันแรกเกิด จนกระทั่งถึงวันที่หลับตาลาโลก ทุกชีวิตล้วนมีความทุกข์เป็นพื้นฐาน เหมือนกับโลกที่มีความมืดเป็นพื้นฐาน ที่เราเห็นแสงสว่าง เพราะมีแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ หรือแสงไฟ จึงทำให้โลกเราสว่างได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจความเป็นจริง ของชีวิตว่าเป็นทุกข์แล้ว จะได้เกิดความเบื่อหน่าย รีบขวนขวาย หาทางพ้นทุกข์ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่ปรารถนาความบริสุทธิ์หลุดพ้น เพื่อเข้าถึงความสุขที่แท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้รู้จักเตือนตนเองไว้ใน ฐานสูตร ว่า…
"เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ใครทำกรรมใดไว้ ก็จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"
ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่สอนให้มนุษย์รู้จักตนเอง รู้จักสัจธรรมของชีวิต เพื่อจะได้ไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไร้สาระ พระพุทธองค์ทรงสอนให้หันมาดูตนเอง แล้วให้มองลึกลงไปว่า สรีระนี้ใช่ว่าจะยืนยาว จะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไม่มี เพราะเพียงไม่กี่ปี ก็ต้องอยู่บนเชิงตะกอนแล้ว เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ จะได้ไม่ประมาทในวัยและชีวิต แล้วมุ่งมั่นเติมในส่วนที่พร่อง เสริมในส่วนที่ขาด ฝึกฝนอบรมตนเองทุกรูปแบบ และสั่งสมบุญชนิดทุ่มสุดตัวสุดหัวใจเลย เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
นักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อน แม้รู้ว่าเวลาแห่งชีวิตจะเหลือน้อยเพียงไรก็ตาม ก็ไม่เคยทุกข์ท้อใจ กลับมีความคิดว่า ควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ เร่งสร้างความดีให้ได้มากที่สุด ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจสั่งสมบุญอยู่ตลอดเวลา ทุกอนุวินาทีจึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง
มีเรื่องที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน สมควรนำมากล่าวถึง คือ พระมหากัจจายนเถระ ท่านได้หลีกเร้นเข้าไปพำนักอยู่ในป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพัง ในสมัยนั้น มีพระราชกุมารพระนามว่า สุชาติ ได้เสด็จลี้ภัยจากวังหลวง ไปเป็นพรานป่าอยู่กับชาวบ้านในชนบท พระกุมารทรงมีสติปัญญาเฉียบแหลม และก็เป็นที่รักของเพื่อนๆมาก
วันหนึ่ง ขณะที่เสด็จออกไปล่าเนื้อตามปกติ ได้มีเทพบุตรองค์หนึ่ง ซึ่งเคยเป็นสหายที่รักกันมากในอดีตชาติ เคยบวชเป็นบรรพชิตอยู่ด้วยกัน ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เทพบุตรได้เนรมิตตนเองเป็นเนื้อ แล้ววิ่งไปใกล้ที่อยู่ของพระมหากัจจายนเถระ พระกุมารคิดจะจับเนื้อ จึงรีบวิ่งตามไปจนถึงที่อยู่ของพระเถระ พอเนื้อวิ่งเข้าไปในเขตที่พักของพระเถระ ก็หายวับไปทันที พระเถระเห็นลักษณะที่องอาจสง่างามของพระกุมาร จึงถามว่า "ท่านเป็นกษัตริย์ราชกุมาร หรือเป็นพรานป่า" พระราชกุมารได้บอกว่า ตนเองเป็นโอรสของกษัตริย์
เมื่อพระเถระทราบดังนั้น ก็ได้เทศน์โปรดถึงโทษของการเบียดเบียนสัตว์ว่า สรรพสัตว์ทุกชนิดต่างก็รักชีวิต รักตัวกลัวตายกันทั้งนั้น หากเรารักชีวิตของตนมากเพียงไร สัตว์อื่นก็รักชีวิตของตัวมากเพียงนั้น ผู้รักตนเองจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น พระกุมารได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ก็เกิดความปีติเลื่อมใสในธรรมมาก จึงปวารณาตัวว่าจะตั้งใจประพฤติธรรมและเลิกเบียดเบียนสัตว์ตลอดชีวิต
พระเถระได้อนุโมทนาในกุศลจิตของพระกุมาร แต่เมื่อตรวจดูอายุสังขารของพระกุมารแล้ว ได้บอกว่า พระกุมารจะมีชีวิตอยู่เพียง ๕ เดือนเท่านั้น แม้ได้ทราบความนั้น พระราชกุมารก็ไม่ท้อใจ เพราะเข้าใจดีว่า คงเป็นกรรมในอดีตตามมาส่งผล ก็ไม่ได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงอะไร จึงถามพระเถระถึงวิธีการที่จะหลุดพ้นจากความตาย
พระเถระบอกว่า "มัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ไม่มีใครสามารถจะเอาชนะได้ ความตายเกิดขึ้นได้ทั้งคนชราและทารกแรกเกิด ไม่เว้นแม้กระทั่งพระเจ้าจักรพรรดิ ขอพระกุมารอย่าได้หวาดหวั่นไปเลย เพราะเรามีกรรมเป็นของตน ใครทำกรรมใดไว้ ผู้นั้นจะต้องรับผลของกรรมนั้น ขอพระองค์อย่าได้ประมาท จงใช้วันเวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้มีคุณค่ามากที่สุด เร่งสั่งสมเสบียงบุญติดตัวไป บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเราในสัมปรายภพ และจงพร้อมเสมอที่จะเผชิญหน้ากับพญามัจจุราช"
แล้วบอกพระกุมารให้ไปถวายบังคมลาพระบิดา เพราะพระกุมารจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง ๕ เดือน แล้วพระเถระจะตามไปในภายหลัง
พระกุมารมีจิตเลื่อมใสในพระเถระมาก จึงได้ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง หลังจากนั้น จึงรีบลาพระเถระกลับพระราชวัง พระเถระได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่ท่านเก็บไว้ให้ไปบูชาอีกด้วย พระราชกุมารเมื่อกลับไปเฝ้าพระบิดา ได้ทูลเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เมื่อพระบิดาได้ฟัง ก็เกิดความเลื่อมใส ในพระเถระ และพระรัตนตรัยตามไปด้วย จึงมีรับสั่งให้สร้างมหาวิหาร สร้างพระเจดีย์บูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระเถระมาถึงพระนคร พระราชาได้เสด็จมาต้อนรับพร้อมด้วยข้าราชบริพาร แล้วทูลนิมนต์ให้พระเถระเข้าไปในวิหาร อุปัฏฐากดูแลเป็นอย่างดี พระราชกุมารได้บำเพ็ญทาน รักษาศีลอย่างเต็มที่ ด้วยจิตที่ร่าเริงเบิกบาน ดูเหมือนว่าพระกุมารจะไม่หวาดหวั่นต่อพญามัจจุราชเลย ทรงให้กำลังใจคนรอบข้างว่า อย่าได้เป็นห่วงพระองค์ แต่จงห่วงที่จะไม่ได้ทำความดี แล้วพระองค์ก็มุ่งสั่งสมบุญ ให้ทุกอนุวินาทีผ่านไปอย่างมีคุณค่า เป็นเวลาแห่งบุญกุศลล้วน ๆ
พอครบ ๕ เดือน พระกุมารก็สิ้นพระชนม์ลง แต่คุณงามความดีที่พระองค์ได้สร้างไว้ในภพชาตินั้น ทำให้พระองค์ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร เสวยทิพยสมบัติในดาวดึงสพิภพ มีราชรถประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ที่เกิดขึ้นด้วยบุญญานุภาพ แล้วยังมีบริวารแวดล้อมอีกมากมาย ฝ่ายพระราชาก็มิได้เศร้าโศกพระทัย เพราะเมื่อเห็นการเตรียมตัวตายของพระกุมารแล้ว มั่นใจว่า พระโอรสจะต้องไปสู่สุคติอย่างแน่นอน นอกจากนี้พระองค์ยังถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งอุทิศส่วนกุศลไปให้พระกุมาร
ขณะนั้นเอง เทพบุตรซึ่งมีรัศมีกายสว่างไสว ได้ตรวจดูกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ ก็บังเกิดความซาบซึ้งในพระคุณของพระเถระที่ได้อนุเคราะห์ตน จึงตั้งใจจะไปนมัสการพระมหากัจจายนะ และประกาศคุณของพระรัตนตรัยให้ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น ท่านจึงมาปรากฏกายอยู่กลางอากาศ พระเถระกล่าวว่า "พระอาทิตย์มีรัศมีมาก ส่องแสงให้ท้องฟ้าสว่างไสว แต่เทพบุตรและราชรถนี้ กลับมีความสว่างไสวยิ่งกว่า เทพบุตรได้ประกอบบุญกุศลไว้ดีแล้วจึงได้เสวยผลบุญนั้น"
เทพบุตรได้เล่าประวัติการสร้างบุญบารมีชนิดทุ่มเทสุดตัว สุดหัวใจ โดยไม่หวั่นไหวต่อมรณภัยในครั้งที่เป็นมนุษย์ พร้อมกับประกาศคุณของพระรัตนตรัยให้มหาชนได้ทราบว่า "พระรัตนตรัยมีอานุภาพไม่มีประมาณ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ผู้ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ย่อมไปสู่สุคติ" แล้วเทพบุตรก็ได้อันตรธานไปสู่เทวโลกตามเดิม
จะเห็นได้ว่า บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเรา ชีวิตเราจะสั้นหรือยาวไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญ คือ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ต้องสร้างบารมีให้เต็มที่ ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต โดยหมั่นพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยงอยู่เสมอ เพราะความตายเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกขณะจิต คนที่มีปัญญาควรรีบสร้างบุญบารมีให้มาก ๆ ทำคุณประโยชน์ให้แก่โลก เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แห่งความดี ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตของนักสร้างบารมีที่แท้จริง
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๓๓๐ – ๓๓๘
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
จูฬรถวิมาน เล่ม ๔๘ หน้า ๕๐๓
โฆษณา