Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ม
มูซา วันแอเลาะ
•
ติดตาม
11 ธ.ค. 2021 เวลา 06:29
เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี محمد امان الجامي ปราชญ์มากซอบัรแห่งประชาชาติอิสลาม
โต๊ะครูผู้เก็บกลืนถ้อยคำฟิตนะฮ์
เป็นอุละมาแห่งอุมมะฮ์ อดทนต่อการถูกฟิตนะฮ์
ถูกกล่าวหาด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และสะเทือนใจว่าเป็น " สายลับสองหน้า "
เคยมีประสบการณ์เป็นผู้อ้างว้าง ในมัสญิดนาบะวีย์ นครมาดีนะฮ์ " เพราะขณะสอนหนังสือ มีนักเรียนนั่งเรียนแค่คนเดียว "
ปัจจุบันนี้ แม้นว่า เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี จะเสียชีวิตไป 25 ปีแล้ว
ฝ่ายที่มีความสงสัยในการเป็นสายลับของ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ยังหาเลิกลาไม่
มีการประดิษฐ์ถ้อยคำให้ กลุ่มชนที่เป็นลูกศิษย์ และเห็นด้วยกับคำสอนและแนวคิดของ เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี ว่า
" พวกญามีย์ "
อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำฟิตนะฮ์ดังกล่าว ได้กลายเป็น " กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว เขาว่ามา และเขาเล่าไป "
หรือ ที่คนอาหรับพูดว่า " กีล่ะวะกอล่า " قيل وقال
ถ้อยคำฟิตนะฮ์จึงไม่ต่างกับนิทานปรำปรา ที่ถูกกุขึ้นมาเล่าเป็นตุเป็นตะ
เพราะถ้อยคำฟิตนะฮ์ดังที่ว่า ได้ถูกแก้ต่าง และถูกหักล้างในหมู่อุละมาระดับโลกอยู่ตลอดเวลา
ด้วยฟิตนะฮดังกล่าวไม่มีเค้าโครงของความจริง
บทความวันนี้ คงขอสละสิทธิ์ที่จะพูดถึงรายละเอียดฟิตนะฮ์ ปัญหาที่มาของฟิตนะฮ์ คู่กรณีที่กล่าวหา และกระแสฟิตนะฮ์
แต่ขอพูดถึงเชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี ในฐานะอุละมาท่านหนึ่ง
อุละมาผู้ใฝ่การเรียนรู้ สอนหนังสือจวบจนช่วงสุดท้ายของขีวิต
คุณงามความดีและชีวิตของท่านควรค่าแก่การบันทึก เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ประชาชาติอิสลาม
ปี ค.ศ.1931 " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ได้ถือกำเนิดมายังโลกดุนยา เพื่อเป็นยอดอุละมาแห่งอุมมะฮ์
ท่านมีชีวิตอยู่ในโลกดุนยา ถึงปี ค.ศ. 1996 รวมสิริอายุได้ 65 ปี
ดั้งเดิมเป็นชาวเอธิโอเปีย เกิดที่เมือง" ฮะรอร " هرر เมืองที่อยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ เอธิโอเปีย
ในครั้งอดีตกาล เมื่อเอ่ยว่า " ระเบียงมักกะฮ์ " ผู้คนทางย่านภูมิภาคอาเซียนจะนึกถึงเมือง " ปัตตานี " ในทันที
ชาวเมือง " ปัตตานี " เรียกตัวเองว่า " ปัตตานี ดารุ้ล สลาม " หมายถึง " ปัตตานี เมืองแห่งสันติ "
ส่วนคำว่า " ระเบียงมักกะฮ์ " คือฉายานามที่ผู้คนเมืองอื่นเรียกปัตตานี ไม่ใช่ฉายานามที่คนปัตตานีตั้งเอง
ผู้คนเมืองอื่นเรียกเช่นนั้น ด้วยเป็นการให้เกียรติปัตตานี ในฐานะเมืองที่เต็มไปด้วยสถาบันการศึกษาศาสนา และปวงปราชญ์อิสลาม
ในแอฟริกา ก็มีคำว่า " ระเบียงมักกะฮ์ " เช่นกัน
ครั้งจำเนียรกาล เมื่อผู้คนแถบแอฟริกานึกถึงคำว่า " ระเบียงมักกะฮ์ "
ส่วนมากแล้ว จะนึกถึงเมือง " ฮะรอร " แห่งเอธิโอเปีย
ชาวเมือง "ฮะรอร " เรียกตัวเองว่า " ฮะรอร ดารุ้ล สลาม " หมายถึง " ฮะรอร เมืองแห่งสันติ "
ส่วนคำว่า " ระเบียงมักกะฮ์ " นั้น คือ ฉายานามที่คนเมือง " ฮะรอร " ตั้งฉายานามเอง ทำให้คนเมืองอื่นเลยเรียกตาม
เพราะเมือง " ฮะรอร " เต็มไปด้วยสถาบันการศึกษาอิสลาม เป็นแหล่งการเรียนรู้อิสลามเก่าแก่ยาวนาน
ซึ่งการตั้งฉายานามเองของชาวเมือง " ฮารอร " ไม่ถือว่า เสียหายอะไร ชาวเมืองต่างภูมิใจ และชื่นมื่นที่ตั้งฉายานามนี้
เพราะเป็นการส่งเสริมชาวเมืองให้รักการศึกษาศาสนา ตื่นตัวกับการเรียนรู้ เพื่อให้สมเกียรติกับฉายานาม
เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี เกิดในครอบครัวที่รักศาสนา จึงถูกหล่อหลอมให้อยู่ในบรรยากาศอิสลามตั้งแต่เยาว์วัย
เป็นฮาฟิสกุรอาน หรือ ท่องจำกุรอานหมดเล่มตั้งแต่อายุยังน้อย
เรียนภาษาอาหรับ วิชาการอิสลามเบื้องต้น และเบื้องไม่ต้น ที่เมืองบ้านเกิด
คนย่านนั้น ชื่นชอบฟิกฮ์ซาฟิอี
เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี จึงเรียนฟิกฮ์ซาฟิอี และเชี่ยวชาญฟิกฮ์ซาฟิอีเป็นพิเศษ
จากนั้น เรียนทุกศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาอิสลามจนแตกฉานในระดับที่นับว่า " เก่ง "
ปี ค.ศ.1950 ขณะที่เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี เข้าสู่วัยหนุ่มอายุ 19 ปี
เป็นธรรมชาติของคนในวัยนี้ ชอบแสวงหาความท้าทาย และการผจญภัย
คนชอบไต่เขา ก็คงเดินทางไปล้อเล่นกับความตาย ด้วยการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ประเทศเนปาล
คนชอบไต่หน้าผา ก็คงเดินทางไปพิสูจน์ความกล้าหาญ ด้วยการไต่หน้าผาหาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่
สำหรับเชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี เป็นผู้รักวิชาการอิสลาม รักการเรียนรู้
ย่อมชื่นชอบที่จะพจญภัยไปสู่สิ่งที่ตนเองชอบ
นั่นคือ ผจญภัยไปสู่ศาสนาของอัลลอฮ์ ผจญภัยสู่การอิบาดัติ ผจญภัยไปสู่การแสวงหาความรู้
"มักกะฮ์ " คือสถานที่ท่านเลือกเดินทางไป ด้วยเป้าหมายคือ " ประกอบพิธีฮัจญ์ "
และท่านขอดุอาด้วยว่า หลังเทศกาลฮัจญ์ หากมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ก็จะใช้ชีวิตปักหมุดเรียนหนังสือที่มักกะฮ์
ยุคปี ค.ศ.1950 การเดินทางจากเอธิโอเปียไปมักกะฮ์ไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้
สถานการณ์การเมืองในเอธิโอเปีย ยังเป็นแบบลูกผีลูกคน ไร้เสถียรภาพ
รัฐบาลเอธิโอเปียในวันนั้น
" ยังเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว คล้ายทุเรียนใส่แล้วไม่เต็มเข่ง "
" ยังเป็นหมากรุกที่ตั้งกระดานแล้ว แต่ลืมวางตัวขุน "
รัฐบาลไม่มั่นคง และไม่ค่อยไว้ใจคนในชาติของตน
สะดวกที่สุดในการเดินทางยุคนั้น คือ เดินทางแบบหลบหลีกด้วยการขี่อูฐ เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ทางการ
ตัดท้องทุ่งทะเลทรายอันแห้งเหี่ยวเข้าสู่แผ่นดินทะเลทรายที่แสนแห้งแล้งของประเทศโซมาเลีย
เดินกันเรื่อยไป จนถึงเมืองท่าเรือของประเทศโซมาเลีย
จากนั้นเดินทางต่อด้วยเรือทะเล เข้าสู่ถึงเมืองท่า" เอเดน " ประเทศ เยเมน
จากนั้น เดินทางต่อด้วยทางบก ข้ามเขตแดนประเทศซาอุดิอารเบียที่เมือง " ศอมิเฏาะฮ์ "
เดินทางต่อเนื่องจนบรรลุถึงเป้าหมาย " นครมักกะฮ์ "
อัลฮัมดุลิลละห์ !!! เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ในปีดังกล่าว
เพราะเดินทางถึง" นครมักกะฮ์ " ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
" มนุษย์มีดวงตา 2 นัยเนตร "
ดุอาที่ขอต่ออัลลอฮ์ ถึงสองนัยน์ตามนุษย์จะมองไม่เห็นก็ตาม แต่มีพลังมหาศาลที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งนัยเนตรทั้ง 2 นัยนา
ดุอาที่ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ได้ขอต่ออัลลอฮ์ว่า อยากเรียนศาสนาอิสลามหลังเทศกาลฮัจญ์ ได้ถูกตอบรับด้วยความเมตตาของอัลลอฮ์
คำว่า " มีความรู้เลือกเรียนได้ "
มักถูกใช้เปรียบเทียบกับนักเรียนมากความสามารถ หรือมากด้วยความรู้
ช่างสอดคล้องกับ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ที่มากความรู้ เก่งในเรื่องการเรียน และแตกฉานความรู้ศาสนาก่อนมามักกะฮ์
ด้วยภูมิวิชาที่ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " จึงใช้การ " มีความรู้เลือกเรียนได้ " ที่ได้สะสมไว้
ทำให้มีวุฒิภาวะพอเพียงในการเลือกเรียนกับอุละมาระดับสูงที่สอนในมัสญิดอัลฮารอม
ตามมุมเสาของมัสญิดอัลฮารอมสมัยก่อนนั้น
เหล่าอุละมาทั้งหลายจะนั่งสอนหนังสือแบบฮาลากอต
นักศึกษาสามารถเลือกเรียนกับอุลามาคนใดก็ได้ที่ตนชื่นชอบ
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " มี " ความรู้เลือกเรียนได้ "
จึงนั่งเรียนกับกลุ่มฮาลากอตที่อาจารย์ผู้สอนเป็นอุละมาแนวหน้าในสมัยนั้น เช่น
1 - เชค อับดุลร็อซซ๊าก ฮัมซะห์ عبدالرزاق حمزة
ยอดอุละมาแห่งอียิปต์ ลูกศิษย์ เชค รอชิด ริดอ เจ้าของวารสารก้องโลกมุสลิม " อัลมะนาร "
2 - เชค อับดุลฮัก อัลฮาซิมีย์ عبدالحق الهاشمي
ยอดอุลามาชมพูทวีป จากเมือง " บาฮาวัลปูร " อินเดีย
3 - เชค มุฮัมหมัด อับดุลลอฮ์ อัลโซมาลี محمد عبدالله الصومالي
ยอดอุละมาแห่งประเทศโซมาเลีย
เนื่องจากกลุ่มฮะละกอตที่ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " นั่งเรียน ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับชื่นชอบ และมีชื่อเสียง
เมื่อมีอุละมาจากดินแดนห่างไกลมาทำอุมเราะห์ และเยี่ยมเยียนมักกะฮ์ มักจะมาเข้าร่วมฟังการสอนในกลุ่มฮะละกอตนี้
ด้วยตักดีรที่อัลลอฮ์ทรงกำหนด หลังจากที่ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " เข้าร่วมเรียนได้ไม่นาน
" เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ " อุละมาจากกรุงริยาดได้มาทำอุมเราะห์ และใช้โอกาสเยี่ยมเยียนกลุ่มนักเรียนในฮะละกอต
" เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ " ประทับใจในความรู้ และ ความตั้งใจจริงในการแสวงหาความรู้ของ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี "
ขณะนั้น ที่กรุงริยาดกำลังเปิดสถาบันการศึกษาอิสลามแห่งใหม่ ชื่อ
" สถาบันอิลมีย์ ริยาด " المعهد العلمي بالرياض
สถาบันแห่งนี้ รับผิดชอบโดยมุฟตีใหญ่ซาอุดีอารเบียในตอนนั้น ชื่อ
" เชค มุฮัมหมัด บิน อิบรอฮีม อาละ เชค " محمد بن ابراهيم ال الشيخ ซึ่งเป็นอาจารย์ของ " เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ "
" เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ " จึงได้ชวน " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ไปเรียนที่กรุงริยาด
"เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ตอบรับคำชวนในทันใด ด้วยเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่สุดในเรื่องการเรียน
เพราะยุคนั้น อุละมาชั้นยอดหลายชาติที่ใช้ชีวิตอยู่ในซาอุดิอารเบีย รวมตัวกันอยู่ในกรุงริยาด และแคว้นกอศีม
" เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ " จึงพา " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ไปเรียนที่ " สถาบันอิลมีย์ กรุงริยาด "
เหมือนนักเดินทางกลางทะเลทรายที่แสวงหาโอเอซิส เพื่อหาน้ำดื่มและพบเจอบ่อน้ำ
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " มีความรู้สึกว่า บัดนี้ ได้พบแล้ว บ่อน้ำแห่งการเรียนรู้
ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่ทรงให้แก่ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ไร้ขอบเขตจำกัด
เพราะหลังจากจบจาก " สถาบันอิลมีย์ กรุงริยาด " แล้ว
ท่านศึกษาต่อในสถาบันที่เยี่ยมที่สุดในยุคนั้น คือ " วิทยาลัยกฏหมายอิสลาม ริยาด " หรือ กุลลียะฮ์ ซารีอะฮ์
ที่ว่าเยี่ยมที่สุด เพราะตอนนั้น " มหาวิทยาลัยอิหม่ามมุฮัมหมัด บิน ซะอู๊ด " ยังไม่ได้ก่อตั้ง
" ชีวิตในกรุงริยาดของท่าน ไม่เพียงแค่ " สถาบันอิลมีย์ " และ " วิทยาลัยกฏหมายอิสลาม " เท่านั้นที่ท่านเรียน
แต่ท่านยังขวนขวายหาที่เรียนตามมัสญิดต่าง ๆ ที่มีอุละมาตั้งวงฮะละกอตสอนหนังสือ
อุละมาใดมีชื่อเสียงในริยาด และแคว้นกอศีม
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " จะต้องไปหา ไปเยี่ยมเยียน ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และขอนั่งเรียนหาความรู้
เหล่าอุละมาที่ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี "ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์เป็นระดับแม่เหล็กของวงการอุละมา เช่น
1 - เชค อับดุลเราะห์มาน อัลอิฟรีกีย์ ชาวประเทศมาลี عبدالرحمن الافريقي
เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ฮะดีษ และ วิชาน่าฮู
2 - เชค มุฮัมหมัด บิน อิบรอฮีม อาละ เชค محمد بن ابراهيم ال الشيخ
ผู้เป็นมุฟตีใหญ่ของซาอุดีอารเบีย เชี่ยวชาญด้านกฏหมายอิสลาม
3 - เชค มุฮัมหมัด อามีน อัลซินกีฏีย์ ชาวมอริเตเนีย محمد امين الشنقيطي
เชี่ยวชาญด้านตัฟซีรกุรอาน
4 - เชค อับดุลร็อซซ๊าก อะฟีฟี ชาวอียิปต์ عبدالرزاق عفيفي
เจ้าของฉายา " ปราชญ์สอนปราชญ์ "
5 - เชค อับดุลอะซีซ บิน บาซ عبدالعزيز بن باز
เชี่ยวชาญด้านฟิกฮ์ เป็นมือประสานสิบทิศในหมู่อุละมา
6 - เชค ฮัมมาด อัลอันศอรี ชาวประเทศมาลี حماد الانصاري
เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ " อะกีดะฮ์ " และ ศาสตร์ฮะดีษ
7 - เชค อับดุลเราะห์มาน อัลสะอ์ดี ชาวแคว้นกอศีม عبدالرحمن السعدي
สถาปนิกผู้วางแผนการเรียนให้เชค อุษัยมีน จนเชค อุษัยมีน ก้าวขึ้นสู่การเป็นอุละมาระดับโลก
8 - เชค มุฮัมหมัด ค่อลีล ฮัรรอส ชาวอียิปต์ محمد خليل هراس
เชี่ยวชาญศาสตร์ " อะกีดะฮ์ "
9 - เชค อับดุลลอฮ์ อัลกอรอาวีย์ عبدالله القرعاوي
อุละมาแห่งแคว้นกอศีม ฉายา " มุญาฮิด วิชาการ " มีประวัติเคยไปศึกษาศาสตร์ฮะดีษที่อินเดีย
คำว่า " สะลึมสะลือ " มักจะใช้กับทั้งกับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี เวลาตื่นนอน
หรือ มักจะใช้กับนักศึกษาบางคนเวลานั่งฟังอาจารย์ที่ใช้เวลาสอนยาวนาน
แต่ทว่า คำว่า " สะลึมสะลือ " คงเอามาใช้ไม่ได้กับนักศึกษาที่ชื่อ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี "
เพราะ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ไม่มีสะลึมสะลือในขณะฟังอาจารย์สอน ไม่ว่าจะยาวนาน หรือสั้นไว
เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี ไม่มีคำว่า " สะเปะสะปะ " ในเรื่องการเรียนรู้ ทั้งเลียนแบบรูปแบบการสอน
หรือ บางครั้ง อดทนเรียน เพื่อเชี่ยวชาญในศาสตร์วิชา
กล่าวคือ ถ้า เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามีประทับใจอุละมาคนใด และต้องการได้ความรู้แบบความรู้เชิงลึก ท่านจะไม่ยอมเลิกเรียนเด็ดขาด
เป็นประเภท " เรียนตื้อ " จนกว่าจะได้รับความรู้ที่ตนเองพอใจ เช่น
ครั้งหนึ่ง เคยมียอดอุละมาอียิปต์ท่านหนึ่งชื่อ " เชค มุฮัมหมัด ค่อลีล ฮัรรอส " محمد خليل هراس มาสอนหนังสือในซาอุดีอารเบีย
เป็นที่ทราบกันว่า " เชค มุฮัมหมัด ค่อลีล ฮัรรอส " มีความชำนิชำนาญในหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ
" อัลอากีดะฮ์ อัลวาสิฏียะฮ์ " العقيدة الواسطية
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " เรียนตื้อ " แบบจริงจัง
และฟังคำสอนของ " เชค มุฮัมหมัด ค่อลีล ฮัรรอส " อย่างทรหด บันทึกเก็บรายละเอียดทุกอย่างที่เชค มุฮัมหมัด ค่อลีล ฮัรรอส " สอน
จนต่อมา เหล่าเพื่อนอุละมา ต่างขนานนามท่านในอีกหนึ่งชื่อว่า
" เงาวิชาการของ เชค มุฮัมหมัด ค่อลีล ฮัรรอส "
ส่วนสไตล์การสอนที่ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี "ได้รับอิทธิพลมากที่สุด คือ รูปแบบการสอนของ " เชค อับดุลร็อซซ๊าก อะฟีฟี "
หลังจากท่านจบการศึกษาจาก " วิทยาลัยกฏหมายอิสลาม " กรุงริยาด
ปีนั้น " กษัตริย์อับดุลอาซิซ บิน ซาอู๊ด " สวรรคตจากโลกดุนยาแล้ว
แต่แนวคิดเรื่องการเปิดโรงเรียนแนว " สถาบันอิลมีย์ริยาด " ไม่ได้จากพระองค์ไปด้วย
กษัตริย์องค์ต่อมาของซาอุดีอารเบีย พระนามว่า " ซะอู๊ด บิน อับดุลอะซีซ " จึงได้สานต่อแนวคิด
โดยก่อตั้ง " สถาบันอิลมีย์ " แห่งที่ 2 ที่เมือง ศอมิเฏาะฮ์ صامطة เมืองอยู่ทางทิศใต้ของประเทศ
ซึ่งกษัตริย์ไปทำพิธีเปิดสถาบันเองด้วย
" เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ " ซึ่งวันนั้น เป็นที่ปรึกษาใหญ่ของมุฟตีซาอุดิอารเบีย มองว่า
สถาบันอิลมีย์ " แห่งใหม่ ที่เมือง " ศอมิเฏาะฮ์ " ควรจะต้องมีอุละมาที่วางใจได้ไปสอนด้วย
" เชค อับดุลอาซิซ บิน บาซ " มองว่า ลูกศิษย์ของท่านที่ชื่อ
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " มีความรู้ระดับที่วางใจได้ แม่นในศาสตร์ซารีอะฮ์ ศาสตร์ฮะดีษ และ ศาสตร์อะกีดะฮ์
จึงทำเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการส่ง " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ไปเป็นอาจารย์สอนที่นั้น
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ใช้ชีวิตสอนหนังสือเป็นโต๊ะครูหลักใน " สถาบันอิลมีย์ " เมือง ศอมิเฏาะฮ์ อยู่สักพักไม่ใหญ่
ปี ค.ศ.1961 มหาวิทยาลัยอิสลาม นครมะดีนะฮ์ เปิดทำการสอนอย่างเป็นทางการ
" เชค อับดุลอะซีซ บิน บาซ " ได้ร่วมทำงานกับทางมหาวิทยาลัยในฐานะ รองอธิการบดี จึงได้เชิญ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ไปช่วยสอน
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ไม่เพียงแค่สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอิสลาม เท่านั้น แต่ท่านยังสอนหนังสือในมัสญิดนะบะวีย์ด้วย
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " สามารถสอนได้ทุกศาสตร์ของวิขาการอิสลาม
ส่วนวิชาที่ท่านถนัดสอนที่สุดคือ " ศาสตร์อะกีดะฮ์ " และ " ศาสตร์ฮะดีษ "
ชีวิตของ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ในนครมะดีนะฮ์ ถูกวางโปรมแกรมเพื่อการสอนที่แท้จริง
ท่านไม่รู้จักคำว่า " งานสังสรรค์ " ไม่รู้จัก " งานเลี้ยง "
ประวัติของท่านเป็นที่รับรู้ว่า
กลางวันสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย กลางคืนสอนหนังสือในมัสญิดอัลนะบะวีย์
และท่านใช้ชีวิตของท่านเช่นนั้น จวบกระทั่งบั้นปลายของชีวิต
มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับท่านในมัสญิดนะบะวีย์
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ถูกเล่าขานในความซอบัรของ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี "
เหตุการณ์ที่ว่า คือ มีนักเรียนนั่งฟังการสอนของท่านแค่คนเดียว
ช่วงนั้น กระแสข่าวฟิตนะฮ์เกี่ยวกับการเป็นสายลับรุนแรงมาก
ผู้คนหูเบากับข่าวฟิตนะฮ์จนไม่มีใครอยากมาฟังท่านสอนหนังสือ
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ยังสอนหนังสือตามปกติตามตารางการสอน
วันนั้น ท่านสอนหนังสือ " ศอเฮียะฮ์บุคอรี " บทที่ว่าด้วยเรื่อง " การถือศีลอด "
มีนักเรียนที่ต่อมาเป็นอุละมาคนหนึ่ง ชื่อ " เชค อับดุลลอฮ์ อัลบุคอรี " นั่งเรียนแค่คนเดียว
เป็นนักวิชาการท่านอื่น อาจจะท้อแท้ หรือ อาจจะเลิกสอน เพราะมัสญิดนะบะวีย์ ออกใหญ่โต แต่มีนักเรียนนั่งเรียนแค่หนึ่งเดียว
แต่สำหรับ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " แล้ว ท่านไม่ได้ตกใจ ไม่ท้อแท้
ท่านบอกกับลูกศิษย์ของท่านที่มีแค่หนึ่งเดียวว่า " คนเดียวก็สอน
สำหรับอุละมาที่ออกตัวยืนยันในความดีของท่าน ยืนยันว่า ท่านไม่ได้เป็นสายลับ
ยืนยันความบริสุทธิ์จากเรื่องฟิตนะฮ์ มีเป็นจำนวนมาก เช่น
1 - เชค ศอและฮ์ อัลเฟาซาน صالح الفوزان
2 - เชค อับดุลมัวะฮ์ซิน อัลอับบาด عبدالمحسن العباد
3 - เชค อุษมาน อัลค่อมีส عثمان الخميس
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " มีผลงานทางวิชาการมากมาย
โดยเฉพาะหนังสือในหมวดเกี่ยวกับ " อะกีดะฮ์ "
ซึ่งบางส่วนของนักเรียนไทยในซาอุดีอารเบีย มักจะนำหนังสือของท่านกลับมาเมืองไทย เช่น
หนังสือชื่อ
" อรรถาธิบาย เงื่อนไข ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์ และ สิ่งที่ทำให้เสียอิสลาม "
شرح شروط لااله الا الله ونواقض الاسلام
ส่วนหนังสือที่โด่งดังที่สุดของท่านในโลกตะวันตก กลับเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ชื่อ
" อิสลามในทวีปแอฟริกา "
" ด้วยความจริงจังในการดำเนินชีวิต และการสอนของ " เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " ท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
ท่านมีบุคลิกที่ตรงไปตรงมา บุคคลที่มีบุคลิกตรงไปตรงมาอย่างท่าน อะไรที่ท่านคิดว่า " คือความถูกต้อง "
ท่านจะแสดงทัศนะอย่างเปิดเผย ไม่มีคำว่า " ซ่อนเร้น นินทา "
อัลลอฮ์ทรงให้พรสวรรค์ท่านอย่างหนึ่งคือ ถ่ายทอดความรู้เก่ง และมีทักษะการสอนที่ดีเยี่ยม
ลูกศิษย์ของท่านที่เรียนกับท่าน จึงได้รับความรู้อย่างเต็มเปี่ยม
ปัจจุบัน ลูกศิษย์ของท่านเป็นจำนวนมากที่กลายเป็นอุละมามีชื่อเสียงและมีบทบาทในโลกอิสลาม เช่น
1 - เชค รอเบี้ยะอ์ อัลมัดค่อลีย์ ربيع المدخلي
2 - เชค อะลี ฟะกีฮีย์ علي فقيهي
3 - เชค ศอและฮ์ อัลสุฮัยมีย์ صالح السحيمي
4 - เชค อับดุลกอเดร อัลซินดีย์ عبدالقادر السندي
5 - เชค อิบรอฮีม อัลรุฮัยลีย์ ابراهيم الرحيلي
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " เกิดมาใช้ชีวิตในโลกดุนยาอย่างคุ้มค่า ในฐานะอุละมาแห่งอุมมะฮ์อิสลาม
ผลงานเป็นประจักษ์ กว้างขวางทั้งบุคลิกส่วนตัวและองค์ความรู้ในหมู่นักวิชาการ
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " กล้าหาญในเรื่องเสาะแสวงหาวิชา
ระเห็จเร่ร่อนหนีภัยความไม่สงบจากบ้านเกิด มาใช้ชีวิตอยู่ในซาอุดิอารเบีย
ก้าวสู่การเป็นอุละมาที่เปี่ยมด้วยวิญญาณของผู้ถ่ายทอดความรู้ ความรู้ที่ไม่มีเก็บซ่อน และปกปิด
เป็นอุละมาที่อดทนต่อข้อครหาที่ถาโถมฟันใส่จนคล้ายกับบาดแผลฉกรรจ์
ถูกใส่ความว่าเป็น " สายลับสองหน้า " จนไม่มีนักเรียนคนใดอยากจะเรียนด้วย
อุละมาที่ทุ่มเทให้กับงานของศาสนาอิสลามจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
" เชค มุฮัมหมัด อะมาน อัลญามี " คือ อุละมาของประชาชาติอิสลามที่จะอยู่ในดวงใจของเราตลอดไป
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย