Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mission To The Moon
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 ธ.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ไม่ชอบเขา ก็แก้ที่เราก่อน! 7 วิธีจัดการอคติในใจ ให้ทำงานได้ราบรื่น
เคยไหมที่รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ค่อยคืบหน้า หรือ ไม่ค่อยมีความสุขกับงานที่ทำ
1
สาเหตุของปัญหาเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากความยากของงานที่เราได้ แต่เป็นเพราะ “เพื่อนร่วมงาน”
การศึกษาจาก Officevibe (2017) พบว่า 70% ของพนักงานให้ความเห็นว่า เพื่อนที่ทำงานสำคัญต่อความสุขระหว่างทำงาน นอกจากนี้ การวิจัยด้านจิตวิทยาจำนวนมากได้อธิบายว่า ทำไมเราถึงเข้ากับบางคนได้ง่ายกว่าคนอื่น เหตุผลคือ มนุษย์เข้าสังคมด้วยการใช้ “คุณค่า” ของเราและ “ความเชื่อที่ฝังใจ” เกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนควรปฏิบัติตัว มีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารด้วย
นั่นจึงทำให้เรามีอคติที่คอยชี้นำการคิดหรือการรู้สึกต่อทุกสิ่ง และอคตินี้เองได้ส่งผลให้เราเลือกผู้ที่เราอยากเข้าหา ในด้านการทำงาน เรามักรู้สึกว่ามีบางคนที่ทำงานด้วยยาก หรือดูน่ารำคาญในสายตาเรา แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีความต้องการในใจลึกๆ ที่จะเป็นคนที่คนอื่นชื่นชอบและเคารพ
1
แน่นอนว่า เราไม่สามารถเลือกคู่หูทำงานได้ตามใจชอบได้เสมอไป แล้วเราควรจะทำอย่างไร ถ้าต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบ?
ลองเรียนรู้ 7 วิธีรับมือกับปัญหาผ่านบทความนี้กันเถอะ
1. ลองมองดูตัวเราก่อน
เคยรู้สึกไม่ชอบใครสักคนโดยไม่มีเหตุผลไหม จากนั้นเราถึงจะเริ่มหาหลักฐานที่ทำให้เราไม่ชอบเขา นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การคิดเอนเอียงเพื่อเข้าข้างตัวเอง” (Confirmation/ Myside Bias) ความคิดนี้เกิดจากที่สมองของเรา ชอบหาวิธีควบคุมข้อเท็จจริงให้อยู่ใต้สิ่งที่เราคิดเองเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัย และสมองเรายังสามารถเก็บภาพจำจากตอนที่เขาทำให้เราไม่เชื่อใจ หรือทำให้เราเสียใจ ซึ่งการจะลบภาพจำนั้นเป็นเรื่องยากอีกด้วย
1
เมื่อเราไม่ชอบใคร ใจเรานี่แหละที่จะไม่มีความสุข และพลอยเสียเวลาในการพัฒนางานไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราอยากให้คนที่เราไม่ชอบดูน่ารำคาญน้อยลง หรือเรารู้สึกเครียดน้อยลงเวลาต้องเจอพวกเขา คงต้องลองดูตัวเองแล้วถามว่า “เราเต็มใจทำงานนี้ไหม” ถ้าเราตอบว่า ไม่เต็มใจ ลองคิดถึงส่วนที่เราจะอยากทำในงานนี้ดู อาจจะเป็นโอกาสในการโชว์ฝีมือหรืออื่นๆ แทนที่เราจะจมอยู่กับอารมณ์บูดทำให้การทำงานดูน่าขัดไปเสียทุกอย่าง นี่คงช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นเยอะ
1
2. ประพฤติตัวแบบมีวุฒิภาวะ
ได้เวลาที่เราจะเช็กความฉลาดทางอารมณ์ และการเลือกใส่ใจสถานการณ์นั้นๆ เช่น เวลาบางคนทำตัวหยาบคายกับเรา เราสามารถเลือกที่จะคิดว่า “พวกเขาไม่ชอบเรา” หรือจะ “เอาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นแล้วคิดซะว่า พวกเขาอาจจะเพิ่งเจอสิ่งแย่ๆ มา” แต่เราไม่ควรยอมให้พฤติกรรมแบบเด็กๆ มาควบคุมตัวเรา
สิ่งที่ควรทำคือแสดงพฤติกรรมที่ช่วยให้เราดูมีวุฒิภาวะมากขึ้น อย่างการค่อยๆ ถอยตัวเองจากบทสนทนาที่ไม่สร้างสรรค์ได้อย่างสุภาพหรือเลือกจะเผชิญหน้ากับใครบางคนอย่างให้เกียรติแบบตัวต่อตัว เพื่อพูดคุยปัญหาก่อนจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต
1
เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานของเรามีนิสัยที่ชอบสั่งและเปลี่ยนใจไปมา เราอาจหาวิธีเผชิญหน้ากับพวกเขาแล้วอธิบายไปว่า เราทำตามแผนงานไปแล้ว และการเปลี่ยนแผนจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ฝ่าย ลองมาประเมินสถานการณ์ผลดี-ผลเสียในการเปลี่ยนแผน และขอเสียงโหวตจากทุกฝ่ายจะดีกว่า นี่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่ชอบสั่งเปลี่ยนงานแบบฉับพลันได้ในระยะยาว
3. ให้เกียรติสิ่งที่เพื่อนร่วมงานเสนอในที่ประชุม
ทุกคนมีจุดแข็งและทักษะที่เป็นประโยชน์ของตัวเอง ลองหาสิ่งที่เราสามารถชื่นชมเพื่อนร่วมงานคนนั้น บางทีพวกเขาอาจจะเก่งด้านการคิดที่รอบด้าน หรือสามารถจดจำรายละเอียดปลีกย่อยได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ไม่ก็พวกเขาอาจจะถนัดสร้างเสียงหัวเราะในยามที่ห้องประชุมเครียดเกินไป
ที่สำคัญคือการไม่ด้อยค่าเกียรติและความคิดของคนอื่น แม้เขาจะคิดไม่เหมือนเราเลยก็ตาม ให้เรามีความเห็นอกเห็นใจและเปิดใจรับไอเดียผู้อื่นอยู่เสมอ จดจำไว้ว่า “ความแตกต่าง คือ กุญแจสำคัญในการแก้ปัญหายากๆ ได้อย่างสร้างสรรค์”
4. อย่าจมอยู่กับสิ่งที่เป็นด้านลบ
อย่ามัวแต่สาปแช่งให้คนอื่นมาประชุมสายหรือทำงานผิดพลาด แต่ให้ลอง
คิดว่า “เราจะแสดงออกกับสิ่งที่พวกเขาทำผิดพลาดอย่างไร” ลองคิดถึงสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์เรา แล้วจดลงกระดาษว่า “เราจะตอบสนองยังไงและทำไมเราถึงทำตัวแบบนั้นออกไป”
เมื่อเรารู้ว่าอะไรที่ทำให้เราโมโห เราจะสามารถตัดสินใจได้ว่า “เราควรปล่อยผ่านไป” หรือ “หยิบมาพูดคุยสนทนาแบบไตร่ตรองมาดีแล้ว” โดยการพูดถึงผลกระทบที่เราต้องเจอจากการกระทำนั้นของเขา ผ่านการพูดคุยแบบตัวต่อตัว หรือ Brainstorm กับเพื่อนร่วมงานคนนั้นว่า เราจะทำงานคู่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ก็จะช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของทั้งสองฝั่งให้เข้าใจกันมากขึ้นได้
5. ลองสานสัมพันธ์กับคนอื่น
การมองหาแง่มุมดีๆ ในตัวของคนที่เราไม่ชอบอาจเป็นเรื่องยาก และหากเป็นไปได้เราก็คงไม่อยากพูดคุยหรืออยู่ใกล้ชิดเขาเท่าไร แต่อย่างไรก็ต้องทำงานร่วมกัน ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็น่าจะลองสานสัมพันธ์กับคนคนนั้นดู โดยอาจเริ่มด้วยบทสนทนาในเรื่องที่เราทั้งสองคนสนใจร่วมกันและเป็นเรื่องแง่บวก
เช่น ชื่นชมในความสำเร็จของโปรเจกต์ที่ผ่านมา ระหว่างพูดคุยให้พยายามหานิสัยหรือแง่มุมดีๆ ของเขา ซึ่งจะทำให้เราไม่จมอยู่กับพฤติกรรมภายนอกที่เราไม่ชอบ เช่น เหตุการณ์ที่เขาเคยพูดขัดหรือพูดแทรกเราในที่ประชุม โดยวิธีนี้ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติและเพิ่มความสันติมากขึ้น เมื่อเราทำตามวิธีนี้สำเร็จ เราจะพบว่า เราทุกคนล้วนทำผิดพลาดกันได้
6. มีกลยุทธ์ที่ดี
เมื่อคิดถึงปลายทางที่จะไปให้ถึง บางทีเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีทำงานกับคน หรือทุ่มเทเวลามากขึ้นเพื่อช่วยเพื่อนร่วมงานให้มีทักษะในการทำงาน รวมไปถึงช่วยให้พวกเขาเข้ากับคนอื่นๆ ในบริษัทได้ หรือให้ Feedback ที่ดีและมีความหมายต่อผู้รับ แม้เขาจะเป็นคนที่เราไม่ชอบก็ตาม
และจำไว้ว่า “ความสำเร็จของเขา = ความสำเร็จของเรา” เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายขององค์กร และเราต้องทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นั้น ดังนั้น เราควรจะรู้หน้าที่ของตัวเองและผู้อื่น เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และเห็นภาพที่ชัดเจนว่า อะไรคือความสำเร็จที่มองหา
7. เลือกสู้เพื่อสิ่งที่สำคัญ
ทุกข้อที่ผ่านมานั้นบอกให้เราเริ่มแก้ไขที่ตัวเอง หรือปรับมุมของตัวเองก่อน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยาก เหมือนเรากำลังต่อสู้กับความโกรธหรือเกลียดในใจของเราเอง แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อเราประเมินความคุ้มค่าจากผลประโยชน์ที่ได้รับ บางการต่อสู้ก็คุ้มค่าให้เราสู้อย่างแน่นอน
ทว่าในบางครั้ง ถ้าเรากำลังถูก ‘เล่นงาน’ หรือปฏิบัติไม่ดีต่อไปเรื่อยๆ เราก็ควรรักษาสิทธิ์ของตัวเอง และแก้ไขให้ถูกต้อง ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ เช่น ถ้าถูกกลั่นแกล้ง คุณก็ไม่จำเป็นต้องยอม
แต่ถ้าพิจารณาโดยไร้อคติและพบว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บมาใส่ใจ อย่างการที่เพื่อนร่วมงานเผลอทำเราโกรธโดยไม่ได้เจตนา หรือนำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากเรา เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดในการทำงานกับคนที่ไม่ชอบ ก็คือการมีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และมองให้รอบด้าน เพื่อให้ทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุด
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่อยากทำงาน แต่ก็ต้องทำ! ลอง 10 วิธีที่จะทำให้คุณมี “ความสุขในการทำงาน” มากขึ้น:
https://bit.ly/3m69H0X
- 5 องค์ประกอบการมี “Social Intelligence” ทักษะในโลกที่หลากหลาย เมื่อการเข้าใจผู้อื่นทำให้เราเป็นที่รักและประสบความสำเร็จ:
https://bit.ly/3EzrzII
อ้างอิง
https://bit.ly/3dvuoPa
https://cnb.cx/31GPW8w
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
31 บันทึก
28
15
31
28
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย