12 ธ.ค. 2021 เวลา 11:18 • ปรัชญา
วันนี้จะกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมของพวกเรา ซึ่งส่วนใหญ่ก็หวังในส่วนของฤทธิ์ ของอภิญญา ซึ่งไม่ใช่ความผิด เพราะว่าการปฏิบัติของเราถ้าไม่มีส่วนของธรรมฉันทะ คือความพอใจในส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็จะขาดความพากเพียรทุ่มเททำให้กับสิ่งนั้น ๆ
ถ้าหากว่าเราต้องการในเรื่องของฤทธิ์เรื่องของอภิญญานั้น ก็เป็นไปได้โดย ๒ แนวทาง แนวทางแรกของเราก็คือ ฝึกตามแบบของวิสุทธิมรรค ก็คือจับกสิณกองใดกองหนึ่งที่วัสดุหาได้ง่ายสำหรับเรา มองภาพกสิณนั้นพร้อมกับกำหนดคำภาวนา อย่างเช่นว่า ถ้าเป็นสีแดงก็ภาวนาว่า โลหิตกสิณัง โลหิตกสิณัง เป็นต้น ถ้าเป็นธาตุดิน เป็นก้อนดิน ก็ภาวนา ปฐวีกสิณัง ปฐวีกสิณัง เป็นต้น
เมื่อภาพเลือนไปก็ลืมตามองใหม่ หลับตาลงจำภาพนั้นแล้วภาวนาใหม่ อย่างนี้เป็นต้น ทำแบบนี้เป็นร้อยเป็นพันครั้ง จนกระทั่งเราจะลืมตาหรือหลับตาก็เห็นภาพนั้นได้เท่ากัน เมื่อถึงขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่ยาก เพราะว่าเราต้องประคับประคองภาพกสิณนี้ให้อยู่กับเรา จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง ต้องแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งไว้กับภาพกสิณนี้เสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะเลือนหายไป ทำให้เราต้องไปเริ่มต้นทำภาพกสิณมาใหม่
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ วันอาทิตย์ที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๑
แต่ถ้าเราสามารถรักษาเอาไว้ได้ ภาพกสิณเหล่านี้ก็จะมีการเปลี่ยนสี จากสีเข้มก็เป็นสีจางลง จากสีจางลงก็เป็นสีเหลือง จากสีเหลืองเป็นสีเหลืองอ่อน จากสีเหลืองอ่อนเป็นสีขาว จากสีขาวเป็นใส จากใสเป็นสว่าง ถ้าหากว่าความสว่างขึ้นเต็มที่ เราสามารถที่จะอธิษฐานให้ใหญ่ ให้เล็ก ให้มา ให้ไปได้ ก็แปลว่าเราสามารถใช้กสิณกองนั้น อธิษฐานให้เกิดผลตามที่ท่านระบุเอาไว้ในตำรา อย่างเช่นว่าจะทำของอ่อนให้แข็งก็ใช้ปฐวีกสิณ ถ้าหากอยากไปที่ไหนเร็ว ๆ ก็ใช้วาโยกสิณ เป็นต้น
คราวนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือ การที่เราภาวนาบทพระคาถาที่ครูบาอาจารย์ท่านให้เอาไว้ อย่างหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเคยให้เอาไว้สองบทด้วยกัน ก็คือ "สัมปะจิตฉามิ" และ "โสตัตตะภิญญา" ซึ่งทั้งสองบทนี้ถ้าใครทำตามด้วยความเคารพ ถูกต้องตามกติกาแล้ว เมื่อเกิดผลขึ้นมา เราจะสามารถสำแดงฤทธิ์ได้เหมือนอย่างกับฝึกกสิณ ๑๐ มาเช่นกัน
แต่เพียงแต่ว่าในเรื่องของการใช้พระคาถานั้น สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ก็จะไม่รู้เคล็ดลับ ในส่วนของการใช้พระคาถานั้น ถ้าหากว่าเราภาวนาไป แล้วปรากฏแสงสีทองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นจุด เป็นแต้ม เป็นดวง เป็นแผ่น เป็นผืนอย่างไรก็ตาม ให้พยายามกำหนดใจดึงเอาแสงนั้นเข้ามาไว้ในอกของเรา ถ้าแสงสามารถรวมกันเป็นดวงอยู่ในอกเมื่อไร ร่างกายของเราก็จะเริ่มลอยขึ้น เราก็ซักซ้อมค่อย ๆ ลอยในระยะใกล้ ๆ ในระยะต่ำ ๆ เสียก่อน เพื่อที่ว่าพลาดพลั้งสมาธิคลายตัวอย่างกะทันหันจะได้ไม่บาดเจ็บ
เมื่อซักซ้อมจนคล่องตัวแล้วเราจึงค่อยไปในที่ไกล ๆ หลังจากนั้นเมื่อซักซ้อมคล่องตัวแล้วสามารถใช้ได้ดังใจ เราก็ลองอธิษฐานใช้ผลอื่น ๆ อย่างเช่น ทำของอ่อนให้แข็ง หัดเดินบนน้ำ หรือเดินบนอากาศ เป็นต้น
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากเราตั้งใจทำ ก็จะทำให้สามารถเกิดฤทธิ์ เกิดอภิญญา ทำในสิ่งที่มนุษย์ทั่ว ๆ ไปไม่สามารถจะทำได้ แต่มีส่วนที่น่าหวาดหวั่นอยู่ก็คือ เรามักจะไปหลงติดอยู่ตรงนั้น เพราะว่าเมื่อเวลาที่เราทำได้ คนอื่นจะเห็นเป็นผู้วิเศษ ต้องการที่จะให้ช่วยในเรื่องนั้น ต้องการที่จะให้ช่วยในเรื่องนี้ ต้องการจะเห็นแบบนั้น ต้องการเห็นแบบนี้ เราไม่สามารถสนองกิเลสคนให้ได้ทุกคนโดยครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะว่าเรื่องของคนคือเรื่องของโลก เรื่องของโลกคือเรื่องที่หนักเกินกว่าที่เราจะแบกเอาไว้ไหว เราจะต้องตัดที่ตัวเอง จะต้องละที่ตัวเองเท่านั้น เราจึงจะสามารถล่วงพ้นกองทุกข์ไปสู่พระนิพพานได้
ดังนั้น...เราจะต้องไม่ลืมกฎเกณฑ์กติกาของความเป็นพระอริยเจ้า ก็คืออย่างน้อยเราจะต้องรักษาศีลทุกสิกขาบทตามสภาพของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ยุยงส่ง
เสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ถ้าหากว่าเราตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานที่เดียว และทำความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้แน่นแฟ้นจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง
ถ้าหากว่ากฏเกณฑ์กติกาเหล่านี้อยู่ทรงในใจของเรา โอกาสที่ท่านทั้งหลายจะล่วงพ้นจากกองทุกข์ถึงจะมีได้ ไม่เช่นนั้นต่อให้ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ สำแดงอิทธิฤทธิ์ได้มหัศจรรย์เพียงใดก็ตาม ท่านทั้งหลายก็ยากที่จะพ้นจากทุคติได้ เพราะว่าอภิญญาสมาบัติเหล่านั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในด้านโลกียอภิญญา ไม่ใช่ในเรื่องของการหลุดพ้นจากการทุกข์
ลำดับถัดต่อไปขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
โฆษณา