13 ธ.ค. 2021 เวลา 06:30 • ประวัติศาสตร์
10 เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในการกำเนิด รถไฟไทย
1
รู้จักประวัติศาสตร์การกำนิด รถไฟไทย ผ่านเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปตั้งแต่รถไฟขบวนแรกที่เข้ามาในสยาม กลุ่มคนไทยกลุ่มแรกที่ได้พบเห็นเทคโนโลยีการเดินทางอันน่าตื่นตาตื่นใจไปจนถึงการสร้างรางรถไฟสายแรกในสยาม
สถานีหัวลำโพงในอดีต (ภาพ : หอสมุดแห่งชาติ)
1. รถไฟขบวนแรกในสยามเป็น “รถไฟจำลอง”
รถไฟขบวนแรกที่เข้ามาในสยามคือ รถไฟจำลอง ที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร โปรดให้คณะราชทูตนำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2398 พร้อมกับการเจรจาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้คณะราชทูตนำรถไฟจำลองมาถวายมีราชทูตชื่อ แฮรี สมิธ ปาร์กส์ (Harry Smith Parkes หรือ มิสเตอร์ฮาริปัก ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นผู้ทำหน้าที่นำรถไฟจำลองย่อส่วนจำนวน 5 ตู้ พร้อมราง มาพร้อมกับกำปั่นไฟ กระจกฉากรูปควีนวิคตอเรีย และเครื่องราชบรรณาการอื่น ๆ มาถวาย
7
รถไฟจำลองพร้อมรางจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
แฮรี สมิธ ปาร์กส์ เป็นอุปทุตที่เคยเดินทางมาพร้อมกับ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ราชทูตอังกฤษ ที่ถูกส่งมาเจรจาทำหนังสือพระราชไมตรีกับสยามก่อนหน้านั้น และก็เป็นแฮรี สมิธ ปาร์กส์ ที่ทำหน้าที่นำหนังสือสัญญาฉบับนั้นกลับออกไปประทับตราที่แผ่นดินอังกฤษ และกลับเข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาฉบับที่ประทับตรา ณ แผ่นดินกรุงเทพมหานคร ก่อนจะได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2398 พร้อมถวายรถไฟจำลอง และเป็นครั้งแรกที่ชาวสยามได้เห็นขบวนรถไฟ (แต่ก็เป็นเฉพาะคนในราชสำนักเท่านั้น)
1
รถไฟจำลองดังกล่าวย่อส่วนจากรถจักรไอน้ำที่ใช้จริงในประเทศอังกฤษยุคนั้น หัวรถจักรมีตัวอักษร เป็นหัวรถจักรไอน้ำชนิดมีปล่องสูงและมีรถพ่วงครบขบวนวิ่งบนรางได้เหมือนของจริง และกลายเป็นของเล่นที่โปรดปรานของเจ้านายเล็ก ๆ ในสมัยนั้น แต่เมื่อเล่นจนชำรุดรถไฟจำลองขบวนนี้ก็ถูกละเลยไป
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระลึกถึงของเล่นเมื่อครั้งพระเยาว์ จึงทรงค้นหารถไฟจำลองจากกองพัสดุเก่าและทรงมอบให้ทางโรงงานรถไฟมักกะสันซ่อมแซมตามสภาพที่เหลืออยู่ เป็นหัวรถจักรและรถพ่วงอีก 4 ตู้ขบวนรถพ่วงขาดหายไป1ขบวนปัจจุบันรถไฟจำลอง เครื่องราชบรรณาการจากอังกฤษถึงราชอาณาจักรสยามขบวนนี้จัดแสดงอยู่ที่ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
บรรยากาศในห้องควบคุมรถไฟ (ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
2. คนไทยคณะแรกที่ได้เห็นรถไฟ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นการได้เห็นรถไฟจำลองที่วิ่งบนรางได้จริงถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแล้ว และก็มีเพียงเจ้านายในวังเท่านั้นที่จะได้เห็น ยิ่งเป็นรถไฟของจริงด้วยยิ่งแทบไม่มีใครได้เห็น จนถึง พ.ศ.2400เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูต ร่วมด้วย เจ้าหมื่นสรรเพชภักดี (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ด้วง) เป็นตรีทูต และหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร)เป็นล่าม อีกทั้งมีผู้ร่วมขบวนคณะราชทูตอีก 27 คน ไปเจริญไมตรีกับอังกฤษ โดยบุคคลเหล่านี้ถือเป็นคนสยามคณะแรกที่ได้เห็นรถไฟของจริงก่อนใครโดยหม่อมราโชทัยนำเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟมาเขียนไว้ในจดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปลอนดอน และเป็นที่มาของ “นิราศลอนดอน” นั่นเอง
3
ภาพบรรยากาศความคึกคักของสถานีรถไฟหัวลำโพงในอดีต (ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
3. “รถไฟสายปากน้ำ” ทางรถไฟโดยเอกชนสายแรกในสยาม
ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปิดเส้นทางรถไฟและบุกเบิกกิจการรถไฟเพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมในภูมิภาคต่าง ๆ อันที่จริงมีบริษัทเอกชนจากต่างประเทศเคยยื่นข้อเสนอในการสร้างเส้นทางรถไฟในสยามมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เช่น มีตัวแทน บริษัท ลอยด์ (Lloyd Company) จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ เสนอขอสัมปทานทางรถไฟข้ามคอคอดกระ และมีแผนก่อตั้งบริษัทรถไฟสยามเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากทางกงสุลใหญ่อังกฤษประจำราชอาณาจักรสยามและข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ไม่เห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าผลประโยชน์ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและอาจทำให้กิจการค้าของสิงคโปร์ทรุดลง ความพยายามของเอกชนต่างประเทศมีมาต่อเนื่องถึงสมัยรัชกาลที่ 5แต่ไม่สำเร็จเช่นกันโดยมีหลักฐานเป็นพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ตอบกงสุลอเมริกัน เมื่อปี พ.ศ.2420 ว่า “เวลานี้ยังไม่ต้องการที่จะคิดในเรื่องรถไฟ”
1
การขอสร้างทางรถไฟโดยเอกชนหายเงียบไปกว่า 8 ปี จากนั้นก็ได้มีชาวต่างชาติขอสร้างทางรถไฟขึ้นอีกครั้ง เป็นเส้นทางรถไฟจากบริเวณหน้าสถานีหัวลำโพงไปสิ้นสุดที่ปากน้ำ เป็นทางรถไฟสายแรกในไทยที่เอกชนตั้งขึ้นในรูปแบบของบริษัท เรียกว่า “บริษัทรถไฟปากน้ำ” เริ่มระดมทุนโดยวิธีเรียกหุ้น แต่ปรากฏว่าหุ้นไม่พอ รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานเงินช่วยเหลือ กิจการรถไฟปากน้ำจึงสำเร็จได้ โดยเริ่มลงมือสร้างใน พ.ศ. 2434 แล้วเสร็จในอีก 2 ปีถัดมา
รถจักรชุดปัจจุบันที่ประทับตราบริษัท GE Transportation
4. “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ทางรถไฟสายแรกของรัฐบาลสยาม
อันที่จริงทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นแผนแรกของเส้นทางรถไฟ แต่กลายเป็นว่าสร้างทีหลัง แรกเริ่มเดิมที รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้าง ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นทางรถไฟสายแรกในสยาม ด้วยผลประโยชน์ทางการค้า ที่สยามจะได้รับจากแนวคิดของอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมพม่าและมีการวางแผนส่งสินค้าจากสิงคโปร์ผ่านสยามไปขายที่จีนตอนใต้ และขนทรัพยากรธรรมชาติจากจีนลงมาสิงคโปร์ แต่ด้วยเหตุจำเป็นทางการเมืองที่ต้องการรับมือกับการรุกคืบของฝรั่งเศสทางฝั่งอีสาน ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จึงถูกสร้างขึ้นเป็นสายแรกในสยาม
2
ทางรถไฟสายแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมาเริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร ระยะทาง 264 กิโลเมตรในยุคนั้นฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมลาวและกัมพูชา พยายามรุกสยามมาทางฝั่งภาคอีสาน ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จึงถูกสร้างขึ้นเป็นสายแรกเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นเอกราชของสยามประเทศ ให้เห็นว่าการมีรถไฟเชื่อมความเจริญออกไปสู่เมืองต่าง ๆ เป็นรากฐานของการสร้างเอกราชให้สยามด้วย
โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่รถไฟในอดีต (ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
5. ที่มาของ “วันสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย”
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 ตรงกับ วันสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบการเปิดการเดินรถไฟ สถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา ซึ่งเป็นส่วนแรกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย” นับแต่นั้นมา ทั้งนี้การสร้างรถไฟจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2443 และมีพิธีเปิดรถไฟสถานีนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443
1
ตราวงกลมพระนาม “บุรฉัตร” (ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
6. ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ใช้ รถจักรดีเซล
ในอดีตไทยถือว่าเป็นประเทศในฝั่งเอเชียที่มีเทคโนโลยีด้านการเดินทางที่ทันสมัย ใน พ.ศ.2471ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีรถจักรดีเซล ครั้งนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ทรงซื้อรถจักรดีเซลจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นรถจักรดีเซลขนาด 180 แรงม้ามีกำลังมากกว่ารถจักรไอน้ำ เหตุที่ต้องซื้อนอกจากกำลังขับเคลื่อนดีกว่ารถจักรไอน้ำแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาการหาซื้ออะไหล่ซ่อมแซมได้ยาก รวมถึงผู้ผลิตรถจักรทั่วโลกได้ยกเลิกการผลิตรถจักรไอน้ำไปเป็นส่วนใหญ่กรมรถไฟสั่งซื้อรถจักรไอน้ำรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ.2493
1
ตราวงกลมพระนาม “บุรฉัตร” ติดอยู่ข้างรถจักรดีเซลทุกขบวน เป็นเครื่องระลึกถึง พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟคนแรกผู้ริเริ่มนำรถจักรดีเซลมาใช้ในสยาม เป็นประเทศแรกในเอเชียโดยรถจักรดีเซลที่มีกำลังมากได้ถูกใช้เป็นรถไฟสำหรับลำเลียงสินค้า
1
ไทยมีรถจักรไอน้ำใช้ขบวนแรกตั้งแต่เริ่มก่อสร้างทางรถไฟ เมื่อปี พ.ศ. 2436 ต่อมาต่างประเทศหันไปใช้รถจักรไฟฟ้า และเลิกผลิตรถจักรไอน้ำทำให้หาเครื่องอะไหล่ได้ยาก ไทยจึงเปลี่ยนไปซื้อรถจักรดีเซล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 เป็นต้นมา
แสตมป์ชุดรถจักร รำลึก 80 ปี การสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
ใครที่สนใจประวัติศาสตร์รถจักร สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก แสตมป์ชุดรถจักร จัดทำขึ้นในวาระรำลึก 80 ปีแห่งการสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดจำหน่ายวันแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520แสตมป์ชุดนี้มี 4 ดวง เสนอภาพรถจักรที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การรถไฟไทยนำมาใช้ได้แก่ รถจักรไอน้ำ George Egestoff รถจักรไอน้ำ รุ่น Pacific รถจักรดีเซลไฟฟ้า รุ่น Davenport (ซื้อจากบริษัทดาเวนปอร์ตเบสเลอร์ สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้พ.ศ.2498) และรถจักรดีเซลไฟฟ้า รุ่น Alsthom (ซื้อจากบริษัทอัลาทอม แอตแลนติกประเทศฝรั่งเศส)
(ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
7. “สะพานจุฬาลงกรณ์” กับซากรถไฟในสงครามโลก
รัชกาลที่ 5โปรดให้มีการสร้างเส้นทางรถไฟสายใต้ จากสถานีรถไฟบางกอกน้อยถึงสถานีรถไฟเพชรบุรีและผ่านเมืองราชบุรี โดยโปรดให้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองให้รถไฟวิ่งผ่านไปได้ และพระราชทานนามว่า“สะพานจุฬาลงกรณ์”พร้อมกันนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพานอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2544จุดสังเกตสำคัญคือ“ป้ายหยุดรถไฟสะพานจุฬาลงกรณ์”ที่เขียนข้อความว่า “สะพานจุฬาลงกรณ์ สร้างปี 120”ระบุพระนามของรัชกาลที่ 5 และปีที่ก่อสร้างร.ศ.120
สะพานจุฬาลงกรณ์อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ชาวบ้านเรียกสะพานดำ กลายเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานจุฬาลงกรณ์หรือสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์หรือสะพานดำเป็นเส้นทางขนส่งเชลยศึกของกองทัพญี่ปุ่น และถูกระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรทำลายจนเสียหายใช้การไม่ได้ ต่อมากองทัพญี่ปุ่นนำแรงงานเชลยศึกฝรั่งมาซ่อมแซมเป็นสะพานไม้ชั่วคราว แต่ระหว่างการนำหัวรถจักรไอน้ำมาทดลองวิ่ง สะพานได้หักลงและหัวรถจักรก็เสียหลักจมลงแม่น้ำ จนกระทั่งมีแผนการเก็บกู้ซากหัวรถจักรสมัยสงครามโลกของกองทัพญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อปีพ.ศ.2561
1
8. กำเนิดศูนย์กลาง สถานีรถไฟหัวลำโพง
ศูนย์กลางการเดินทางโดยรถไฟจะเป็นที่ไหนไม่ได้ถ้าไม่ใช่ หัวลำโพง ศูนย์กลางการขนส่งผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งสายใต้ สายเหนือและสายอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการกระจายผู้คน สินค้า จากภูมิภาคต่าง ๆ เข้าสู่กรุงเทพฯสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่สร้างเสร็จและเปิดใช้การได้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ. 2459 หรือ 9 ปี หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตไปแล้ว
1
แรกเริ่มสถานีหัวลำโพงมีชื่อเรียกในภาษาราชการว่า “สถานีรถไฟหลวงสายเหนือ” ตั้งอยู่ในตำบลหัวลำโพง และถูกเรียกเป็นสามัญว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง ในปี พ.ศ.2459 ข้าราชการกรมรถไฟหลวงสายเหนือและสายใต้ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างลานน้ำพุบริเวณลานหน้าสถานีรถไฟ มีน้ำพุเปิดน้ำให้สาธารณชนได้ใช้ดื่ม โดยมีแท่นน้ำพุตั้งกลางสวนหย่อมล้อมรอบด้วยแท่นช้าง และมีซุ้มด้านหน้า (สมัยนั้นยังไม่มีหอนาฬิกา) เป็นอนุสาวรีย์ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว (ภาพที่มีลานน้ำพุหน้าสถานีหัวลำโพง ปรากฏอยู่ใน หนังสือที่ระลึกในการเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ ปี พ.ศ.2459)
ในด้านสถาปัตยกรรมนั้นเป็นอาคารทรงโดมสไตล์อิตาเลียนเรอเนซองส์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสถานีแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ซึ่งสร้างก่อนหัวลำโพง 25 ปีนอกจากนี้วัสดุในการก่อสร้างเป็นวัสดุสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมนีและมีการติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่บริเวณกึ่งกลางยอดโดมด้านหน้าของสถานีคล้ายกันอีกด้วย ซึ่งแม้ถ้าเทียบกับสถานีรถไฟระดับโลก หัวลำโพงอาจจะไม่ได้เก่าแก่มาก แต่สำหรับประเทศไทย หัวลำโพง นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ รถไฟไทย รวมทั้งประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างคมนาคมที่ต้องบันทึกไว้
เบื้องหลังความอร่อยในตู้เสบียง (ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
9. ตู้เสบียงรถไฟในตำนานต้นตำรับ “ข้าวผัดรถไฟ”
ร้านอาหารบนรถไฟระหว่างการเดินทางไกลถูกจัดให้อยู่บนตู้พิเศษที่เรียกว่า ตู้สเบียง เป็นร้านอาหารที่บริการเมนูปรุงร้อนโดยพ่อครัวของการรถไฟและอาหารที่ขึ้นชื่อของตู้เสบียงต้องมีข้าวผัดรถไฟ ยำเนื้อพิเศษ และโอเลี้ยงยกล้อ
พ.ศ.2526 การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลตู้เสบียงไปบริหารจัดการ ซึ่งในการประมูลครั้งแรก ตู้เสบียงขบวนรถด่วน 16 ขบวนและรถเร็วอีก 20 ขบวน สร้างรายได้ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยถึงปีละ 40 ล้านบาท สูงกว่ากำไรที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเคยทำได้จากการดำเนินการตู้สเบียงเองปีละแค่ 3 ล้านบาท แต่กระนั้นกลับมีปัญหาตามมาโดยในยุคแรกที่ปล่อยให้เอกชนเข้ามาบริหารงานทั้งหมดพบการร้องเรียนจากผู้โดยสารเรื่องราคาอาหารสูงและรสชาติไม่อร่อย การรถไฟจึงได้ปรับเปลี่ยนมาตั้งอัตราเช่าตู้เสบียงไว้เป็นราคามาตรฐานและกำหนดราคาจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเป็นราคามาตรฐาน ให้เอกชนแข่งขันด้านการบริการมากกว่าแข่งขันด้านราคาเช่าสูงสุด
อีกเสน่ห์ของ รถไฟไทย คือ บรรดาพ่อค้า แม่ค้าบนรถไฟที่ทำหน้าที่เป็นตู้เสบียงเคลื่อนที่ (ภาพ: ฝ่ายภาพ นิตยสารสารคดี)
สำหรับเมนูดั้งเดิมจากสูตรของพ่อครัวการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่าง ข้าวผัดรถไฟ นั้นมีลักษณะคล้ายข้าวผัดอเมริกัน เติมเมล็ดถั่วลันเตา ใส่ไส้กรอกหรือหมูแฮมหั่นชิ้นเล็ก ผัดกับซอสแดง โรยหน้าด้วยลูกเกด ส่วน ยำเนื้อพิเศษ เป็นยำเนื้อที่ใช้เนื้อสัน ย่างให้มีกลิ่นหอม ไม่ใช้การลวกเนื้อในน้ำร้อน แตกต่างจากสูตรยำเนื้อที่นิยมปรุงในร้านอื่น ๆ ในยุคนั้น ส่วน โอเลี้ยงยกล้อเครื่องดื่มชงจากกาแฟเม็ดคั่วสดจึงได้รสเข้มข้นและหอมกว่าโอเลี้ยงทั่วไปและเติมนมสดลงไปได้รสหวานมันกลมกล่อม ด้านเมนูอาหารเช้ายุคแรก ๆ ของตู้สเบียง ได้แก่ ปลาชุบเกล็ดขนมปังทอด เสิร์ฟพร้อมกาแฟร้อนและน้ำส้มคั้น
อีกจุดเด่นของตู้เสบียง คือความคลาสสิกของงานดีไซน์ ผนังด้านในทางสีเขียว โต๊ะอาหารเป็นโต๊ะไม้สัก และคลุมด้วยผ้าปูโต๊ะสีขาวมีดอกไม้ในแจกันที่ยุคหนึ่งนิยมดอกไม้พลาสติกสีแดงและม่วงตู้เสบียงจึงกลายเป็นจุดแฮงก์เอาต์กินอาหาร จิบเครื่องดื่มชมทิวทัศน์ระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟ
2
10. รถไฟเพื่อการท่องเที่ยว
เกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2520 เมื่อไทยเจอวิกฤตการณ์น้ำมันแพง คนที่อยู่ย่านชานเมืองกรุงเทพฯ จึงหันมาใช้บริการรถไฟชานเมืองเดินทางไปทำงานมากขึ้น วันเสาร์-อาทิตย์จึงมีรถไฟตกค้างในย่านสถานีกรุงเทพฯมาก การรถไฟจึงจัด “นำเที่ยวทางรถไฟ” เพื่อใช้ประโยชน์จากขบวนรถไฟที่ตกค้างและได้รับความนิยมจากประชาชน เส้นทางนำเที่ยวมีทั้งแบบพักค้างคืนและไปเช้าเย็นกลับ จัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ โดยเส้นทางท่องเที่ยวโดยรถไฟที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ขบวนรถไฟลอยน้ำ กรุงเทพฯ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เส้นทางรถไฟสายมรณะกรุงเทพฯ-ไทรโยค เส้นทางคลาสสิกกรุงเทพฯ-นครปฐม สวนสนประดิพัทธ์ นอกจากนี้ยังมีรถไฟท่องเที่ยวขบวนรถจักรไอน้ำเส้นทางกรุงเทพฯ-อยุธยา ที่จะเปิดให้บริการเฉพาะวันสำคัญเท่านั้น
อ้างอิง
• นิตยสารสารคดี ฉบับมีนาคม 2540, 100 ปี รถไฟไทย
โฆษณา