14 ธ.ค. 2021 เวลา 09:22 • สุขภาพ
“ไบโอติน” บำรุงผม ผิว เล็บได้จริงหรือ ?
2 ปีก่อน เรามีโรคประจำตัวรุม จนน้ำหนักลดลงอย่างเร็วเลย … ผลจากที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วทำให้เรามีอาการข้างเคียงคือ คันตามตัว เล็บมือแตกเปราะ มือแห้งตัวแห้ง และผมร่วงหนักมาก สระทีออกมาเป็นกำๆ นึกภาพตัวเองตอนหัวล้านแล้วมันดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (“^^) เลยเชิร์ทหาวิธีแก้ เจอว่าต้องกินไบโอตินเสริม ก็เลยจัดมา 2 ขวด กินหมดไป 1 ขวด ผมและเล็บแข็งแรงขึ้นจริงๆ ก็หยุดกิน
เวลาผ่านไปจนถึงตอนนี้เริ่มร่วงอีกแระ เลยกลับมากินไบโอตินอีก แต่คราวนี้สงสัยว่าไบโอตินมีสรรพคุณอื่นอีกมั๊ย เลยเซิร์ทหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกรอบ … ไปเจอเพจ “พบแพทย์” ( Pobpad.com ) เค้าอธิบายเรื่องไบโอตินไว้ละเอียดมากๆ เลยเอามาบันทึกไว้เผื่อใครสนใจอ่านดูนะ… ^^
ไบโอติน เป็นสารอาหารสำคัญช่วยบำรุงเส้นผม เล็บ ผิวหนังให้แข็งแรงและมีสุขภาพดี มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบเผาผลาญพลังงาน ตลอดจนเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย
ไบโอตินคือวิตามินชนิดหนึ่งที่ละลายน้ำได้ รู้จักกันในชื่ออื่นๆ คือวิตามินเอช (Vitamin H) หรือวิตามินบี 7 (Vitamin B7) ร่างกายต้องการไบโอตินเพื่อช่วยในการทำงานของระบบต่างๆ ดังนี้
1. รักษาและป้องกันภาวะขาดไบโอติน ภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคขาดสารอาหาร การมีน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว (~โห อันนี้ใช่เราเลย~) การได้รับอาหารผ่านทางสายยางเป็นเวลานานๆ เป็นต้น ผู้ป่วยที่ขาดไบโอตินอาจมีอาการบ่งชี้ คือ ผมบางลง (~โคตรใช่~) สีผมเปลี่ยนไป มีผื่นแดงขึ้นรอบดวงตา จมูก และปาก รวมทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า เซื่องซึม มีอาการประสาทหลอน หรือเป็นเหน็บบริเวณแขนและขาได้ การรับประทานอาหารเสริมสามารถช่วยทดแทนไบโอตินส่วนที่ขาดไปได้ ปกติคนเราได้รับวิตามินชนิดนี้จากการรับประทานอาหารอย่างเพียงพออยู่แล้ว และร่างกายสามารถนำไบโอตินที่ใช้ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้น ภาวะขาดไบโอตินจึงเกิดขึ้นได้น้อย
2. มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพผม ผิวหนัง และเล็บ เส้นผม ผิวหนัง และเล็บของคนเรานั้นประกอบขึ้นจากโปรตีนเคราตินเป็นหลัก ไบโอตินมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างโครงสร้างของเคราตินให้แข็งแรง การขาดไบโอตินอาจส่งผลกระทบต่อเคราตินจนทำให้สุขภาพเส้นผม ผิวหนัง และเล็บอ่อนแอลงได้
3. ช่วยในการทำงานของระบบเผาผลาญ ไบโอตินเป็นวิตามินอีกหนึ่งชนิดที่มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบเผาผลาญ โดยจะทำหน้าที่เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นกลูโคส เพื่อใช้เป็นพลังงาน ทั้งยังมีส่วนช่วยให้กรดอะมิโนทำงานร่วมกับระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาหารที่มีปริมาณไบโอตินสูง ได้แก่ ไข่แดง, เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต, ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง หรือวอลนัท, ถั่วเหลือง หรือพืชตระกูลถั่วชนิดอื่นๆ, ธัญพืช, กล้วย, ผักชนิดต่าง ๆ เช่น กะหล่ำดอก เห็ด เป็นต้น
ไบโอตินเป็นสารอาหารที่อาจเสื่อมคุณค่าลงหากได้รับความร้อน หากต้องการได้รับไบโอตินในปริมาณมากควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไบโอตินที่ผ่านความร้อนน้อยที่สุด และควรอ่านฉลากโภชนาการเพื่อช่วยในการเลือกสรรผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไบโอตินสูง
ปริมาณการได้รับไบโอตินต่อวันที่เหมาะต่อความต้องการร่างกายในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกัน ดังนี้
1. เด็กเล็ก ควรได้รับไบโอติน 5-12 ไมโครกรัมต่อวัน
2. เด็กโต ควรได้รับไบโอติน 20-25 ไมโครกรัมต่อวัน
3. ผู้ใหญ่ ควรได้รับไบโอติน 30 ไมโครกรัมต่อวัน
4. ผู้หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรได้รับไบโอติน 30-35 ไมโครกรัมต่อวัน
หากต้องการรับประทานอาหารเสริมไบโอติน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดก่อนใช้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือกำลังใช้ยารักษาโรคชนิดใดก็ตาม
หลายคนรับประทานไบโอตินเสริมเพราะหวังคุณประโยชน์ในการเร่งผมยาวหรือบำรุงเส้นผมให้มีสุขภาพดี ดกดำ และเงางามตามที่มีการกล่าวอ้าง แม้ไบโอตินจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างโครงสร้างของเคราตินซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของเส้นผม แต่ในปัจจุบันยังไม่อาจยืนยันได้ว่าไบโอตินส่งผลดีต่อสุขภาพผมโดยตรง เช่นเดียวกับการรับประทานไบโอตินในรูปแบบอาหารเสริมที่ทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจระบุประสิทธิภาพในการเร่งผมยาวหรือทำให้ผมสวยเงางามได้แน่ชัด จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
การรับประทานไบโอตินเสริมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปและไม่เป็นอันตราย เช่น ท้องเสีย มีผื่นขึ้นตามผิวหนังเล็กน้อย เป็นต้น
หากมีอาการแพ้ เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก ริมฝีปาก ใบหน้า ลิ้น หรือคอบวม ควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที
ส่วนการรับประทานไบโอตินในปริมาณสูงนั้นยังไม่มีผลการศึกษายืนยันว่าเป็นผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ มีบางกรณีที่พบว่าอาจส่งผลให้ผลตรวจทางการแพทย์คลาดเคลื่อน ได้แก่ การตรวจโรคไทรอยด์ หรือการตรวจวัดปริมาณสารบางชนิดในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล เทสโทสเทอโรน เอสตราไดออล อินซูลิน เป็นต้น
จบปิ๊ง… ^^
………………
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเพจ “พบแพทย์” (Pobpad.com)
โฆษณา