15 ธ.ค. 2021 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
POP MART ร้านขายของเล่น แบบกล่องสุ่ม มูลค่าแสนล้าน
1
ทุกวันนี้ เราได้เห็นผู้ประกอบการหลายราย นำกลยุทธ์การตลาดแบบ Mystery Box หรือ “กล่องสุ่ม” มาประยุกต์ใช้ขายสินค้าของตนเองกันมากขึ้น
เหตุผลเนื่องจาก “ความไม่รู้” นั้นเป็นเสน่ห์ที่สร้างความสนุกตื่นเต้น ทำให้ผู้ซื้อยอมจ่ายเงิน เพื่อลุ้นว่ามีอะไรอยู่ภายในกล่อง
12
รู้ไหมว่า ในประเทศจีน มีร้านขายของเล่น ชื่อว่า “POP MART” ก็ใช้กลยุทธ์กล่องสุ่มดังกล่าว จนสามารถทำยอดขายสินค้าได้สูงถึงหลักหมื่นล้านบาท เลยทีเดียว
เรื่องราวของ POP MART น่าสนใจอย่างไร
แล้วทำไมถึงได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
POP MART เป็นร้านขายของเล่นสะสมจากประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว โดยชายหนุ่มชาวจีนที่ชื่อว่า หวางหนิง
ในอดีต หวางหนิง เคยทำงานอยู่ที่บริษัท Sina Corporation ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดังอย่าง Weibo แต่ต่อมาตัดสินใจลาออก เพราะต้องการประกอบธุรกิจของตัวเอง
ระหว่างที่กำลังหาไอเดียทำธุรกิจ เขาได้เดินทางไปยังฮ่องกง และพบกับร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์ประเภทต่าง ๆ ชื่อว่า LOG-ON เลยเกิดความสนใจอยากนำเอาคอนเซปต์ร้านแนวนี้ ไปลองเปิดในกรุงปักกิ่งดูบ้าง
หวางหนิง จึงได้ร่วมกับเพื่อน ๆ เช่าพื้นที่ในห้าง เปิดร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์แนว Pop Culture สำหรับวัยรุ่นชาวจีน โดยตั้งชื่อร้านว่า “POP MART”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พวกเขาเริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า เนื่องจากวางขายสินค้าหลากหลายเกินไป
ในช่วงปี 2014 ร้าน POP MART จึงเตรียมปรับลดประเภทสินค้าลง และทำการศึกษาข้อมูลยอดขาย
จนพวกเขาพบว่า ของเล่นสะสม หรือ Art Toy ในลักษณะของกล่องสุ่ม เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากสุดในร้าน
1
พอเห็นเช่นนั้น ก็ทำให้ หวางหนิง นึกถึง “กาชาปอง” ตู้ขายของเล่นอัตโนมัติ ในประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้ซื้อต้องหยอดเหรียญกดแคปซูลออกมา แล้วลุ้นว่าจะได้ตัวการ์ตูนอะไร จึงเกิดแรงบันดาลใจ เปลี่ยนธุรกิจร้าน POP MART มามุ่งเน้นขายของเล่นสะสมแบบกล่องสุ่ม เพียงอย่างเดียว
แต่เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้แตกต่างจากของเล่นสะสมทั่วไป เขาได้เจรจากับ Kenny Wong ศิลปินชื่อดังชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน Art Toy ชื่อว่า “Molly” ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น ให้มาออกแบบคอลเลกชัน Molly และวางขายที่ POP MART เท่านั้น
 
และต่อมา บริษัทก็ร่วมมือกับศิลปินอีกหลายราย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์รุ่นต่าง ๆ เช่น Dimoo, SKULLPANDA, Bunny รวมถึงเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ระดับโลกอย่าง The Walt Disney และ Universal Studios เพื่อนำตัวการ์ตูนมาผลิตเป็นของเล่นสะสมภายใต้แบรนด์ POP MART
โดยกล่องสุ่มของ POP MART มีราคาอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อกล่อง ซึ่งแต่ละคอลเลกชัน จะมีทั้งผลงานแบบธรรมดา และแบบหายาก หรือมีจำนวนจำกัด
แล้ว POP MART มียอดขายมากแค่ไหน ?
ในปัจจุบัน POP MART มีหน้าร้านของตัวเองอยู่ 215 สาขา และมีตู้ขายอัตโนมัติ ที่บริษัทเรียกว่า “Roboshops” อยู่ตามถนนและห้างสรรพสินค้าอีก 1,477 ตู้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่าย รวมทั้งวางขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน ไม่ว่าจะเป็น WeChat, Tmall หรือ JD.com
1
ซึ่งพอสินค้าถูกออกแบบโดยศิลปินชื่อดัง และสวยงามน่าซื้อเก็บสะสม ประกอบกับมีโอกาสได้สุ่มลุ้นรุ่นต่าง ๆ จึงทำให้แบรนด์ของเล่น POP MART ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
นอกจากนั้น การใช้กลยุทธ์กล่องสุ่ม ได้ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าซื้อทีละหลายกล่อง หรือกลับมาซื้อซ้ำ จนกว่าจะได้แบบที่ต้องการ โดยจากสมาชิกจำนวน 11.4 ล้านราย มีอัตราการซื้อซ้ำถึง 49% ในช่วงปีที่ผ่านมา
และยังทำให้ร้านบริหารจัดการสต็อกสินค้าได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย เพราะสามารถระบายของได้ทุกรุ่น แม้แต่รุ่นที่ตลาดไม่นิยม ซึ่งแก้ปัญหาที่ POP MART เคยเจอมาก่อน
ด้วยเหตุนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัท Pop Mart International Group จึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2019 รายได้ 8,900 ล้านบาท กำไร 2,400 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 13,000 ล้านบาท กำไร 2,800 ล้านบาท
6 เดือนแรก ปี 2021 รายได้ 9,400 ล้านบาท กำไร 1,900 ล้านบาท
1
โดยบริษัท มีสัดส่วนรายได้จากช่องทางการขาย ดังนี้
- หน้าร้าน POP MART 38%
- แพลตฟอร์มออนไลน์ 38%
- ตู้ขายอัตโนมัติ Roboshops 13%
- ขายส่งให้ร้านค้าปลีกอื่น ทั้งในและต่างประเทศ 11%
ทั้งนี้ POP MART ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020
โดยล่าสุด บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 278,000 ล้านบาท
ส่งผลให้ ผู้ก่อตั้งกิจการอย่าง หวางหนิง ในวัย 34 ปี ซึ่งถือหุ้น POP MART อยู่ราว 46%
กลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อย ที่ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินส่วนตัวถึงราว 130,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ POP MART ต้องเจอในอนาคต คงหนีไม่พ้น การออกแบบของเล่นสะสมให้ตามทันเทรนด์ความชื่นชอบของตลาด และควรระวังไม่ให้การขายแบบกล่องสุ่ม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถูกเอาเปรียบมากเกินไป จนเบื่อหน่ายและอาจเลิกซื้อได้
ข้อคิดที่น่าสนใจจากเรื่องราวนี้คือ
ในบางครั้ง เราสามารถใช้วิธีการทางธุรกิจที่มีอยู่เดิม มาผสมผสานเข้ากับสินค้าของตัวเอง และต่อยอดเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครได้
เหมือนในกรณีของ POP MART ที่นำกลยุทธ์กล่องสุ่มมาใช้ แต่สร้างสรรค์ให้ของเล่น กลายเป็นผลงานศิลปะ ที่ควรค่าแก่การเสียเงินมาเก็บสะสม จนทำยอดขายได้ถึงหมื่นล้านบาท และมีมูลค่าธุรกิจเกือบ 3 แสนล้านบาท
ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไป เมื่อผู้คนพูดถึงของเล่นสะสมแบบกล่องสุ่ม
จากที่ส่วนใหญ่เคยนึกถึง กาชาปอง จากประเทศญี่ปุ่น
อาจเริ่มเปลี่ยนมาพูดถึงของเล่นแบรนด์ POP MART จากประเทศจีนแทน ก็เป็นได้..
References
โฆษณา