16 ธ.ค. 2021 เวลา 02:03 • ประวัติศาสตร์
ความพยายามที่จะมีชีวิตเป็น “อมตะ” ของผู้คนในประวัติศาสตร์
มนุษย์ต้องการจะมีชีวิต “อมตะ” มาตลอด ไม่ว่าจะในยุคปัจจุบัน หรือสมัยโบราณ
ในประวัติศาสตร์นั้น การหาคำตอบถึงแนวทางการมีชีวิตที่เป็นอมตะ ก็มีมาโดยตลอด
2
เราลองไปดูกันดีกว่าครับว่าในอดีตมีใครบ้างที่พยายามจะหาวิธีการเป็นอมตะ
“ราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty)” เป็นราชวงศ์แรกของจีน ปกครองแผ่นดินเมื่อ 201-206 ปีก่อนคริสตกาล และระบอบการปกครองโดยองค์จักรพรรดิ ก็ดำเนินต่อมาในแผ่นดินจีนตั้งแต่ราชวงศ์ฉิน ยาวนานมาถึงปีค.ศ.1912 (พ.ศ.2455)
2
“จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)” เป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีน และตลอดระยะเวลาในรัชสมัยของพระองค์กว่า 35 ปี ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย
พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะมีชีวิตที่เป็นอมตะ และได้ทรงสนับสนุนการเดินทางตามหายาอายุวัฒนะจากทุกแว่นแคว้น เพื่อที่จะให้พระองค์มีชีวิตที่เป็นอมตะ
จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)
พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ตามหายาอายุวัฒนะไปทั่วดินแดน โดยเฉพาะแถบฝั่งทะเล เนื่องจากทรงเชื่อว่ายาอายุวัฒนะจะอยู่ในบริเวณใกล้กับทะเล
1
ในการเสด็จออกตามหายาอายุวัฒนะครั้งที่สี่ พระองค์ทรงพระประชวร และสวรรคตขณะมีพระชนมายุ 50 พรรษา
นอกเหนือจากการเสด็จออกตามหายาอายุวัฒนะ พระองค์ยังมีรับสั่งให้แพทย์หลวงคิดค้นยาอายุวัฒนะ ซึ่งแพทย์หลวงต่างก็หาสมุนไพรต่างๆ มาทดลอง หวังว่าจะเป็นยาอายุวัฒนะ และหนึ่งในส่วนผสมก็มีปรอท
4
เป็นไปได้ว่ายาอายุวัฒนะเหล่านี้มีสารปรอทมากเกินไป ทำให้ยาอายุวัฒนะนั้นเป็นพิษ และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต
3
ข้ามมาทางฝั่งญี่ปุ่น นิกายชิงงน (Shingon) เป็นนิกายหนึ่งของศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น และเป็นนิกายที่เข้ามาจากจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง โดยผู้ที่นำนิกายนี้เข้ามาเผยแพร่ คือนักบวชชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ “พระคูไก (Kūkai)”
ภายใต้การนำของพระคูไก นิกายชิงงนก็ได้แพร่หลายไปทั่ว ก่อนที่พระคูไกจะมรณภาพในปีค.ศ.835 (พ.ศ.1378)
1
พระคูไก (Kūkai)
แต่ถึงจะมรณภาพไปแล้ว แต่ก็มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา เล่าขานว่าพระคูไก แท้จริงแล้วยังไม่ได้มรณภาพ หากแต่เข้าฌานสมาธิ โดยก่อนจะเข้าฌาน พระคูไกได้หยุดฉันอาหารและเริ่มนั่งสมาธิเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมรณภาพ
มีการนำร่างของพระคูไกไปฝัง โดยตามตำนานนั้น เมื่อมีการขุดหลุมของพระคูไกในภายหลัง ก็พบว่าร่างของพระคูไกนั้นไม่เน่าสลาย เหมือนคนนอนหลับ
นักบวชนิกายชิงงนกลุ่มหนึ่งเชื่อในตำนานนี้ และตั้งแต่ศตวรรษที่ 11-19 ก็ได้มีความพยายามที่จะเลียนแบบพระคูไก พยายามจะเข้าฌานสมาธิโดยไม่ต้องออกจากฌาน และร่างกายก็ไม่เน่าสลาย
ความพยายามเข้าฌานและรักษาร่างกายให้คงสภาพนี้ มีชื่อเรียกว่า “โซกุชินบุตสึ (Sokushinbutsu)” ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ทั้งนั่งสมาธิติดต่อกันเป็นเวลานาน อาหารที่ทานก็ทานได้เพียงเปลือกไม้ และชาสูตรพิเศษเท่านั้น และจะไม่มีการดื่มน้ำอย่างอื่นเลย
4
พิธีนี้จะใช้เวลามากกว่า 3,000 วัน ทุกอย่างจึงจะสมบูรณ์
2
จากนั้น จะมีการนำร่างของนักบวชผู้นี้ไปฝังในหลุม โดยจะมีกระดิ่งให้สั่นเพื่อเป็นสัญญาณว่านักบวชยังมีชีวิตอยู่และยังคงอยู่ในฌานสมาธิ
ภายหลังจากที่ไม่มีการสั่นกระดิ่งและผ่านไป 1,000 วัน ก็จะมีการขุดหลุมเพื่อตรวจดูว่าศพนั้นเน่าเปื่อยหรือไม่ หากศพเน่าเปื่อย ก็แสดงว่ากระบวนการนี้ล้มเหลว และชีวิตที่เป็นนิรันดร์ก็ไม่เกิดขึ้นกับผู้นั้น
1
ในปีค.ศ.1879 (พ.ศ.2422) องค์จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นได้ทรงมีรับสั่งให้โซกุชินบุตสึเป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้โซกุชินบุตสึต้องยกเลิกไป
1
นี่ก็เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของความพยายามส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องการจะมีชีวิตที่เป็นอมตะ หากแต่ที่จริงแล้วยังมีมากกว่านี้ มีความพยายามอีกหลายครั้งของหลายชาติ ที่ต้องการจะหาคำตอบถึงวิธีการทำให้ชีวิตเป็นอมตะ
1
ไม่แน่ว่าบางที ในอนาคต เราอาจจะค้นพบวิธีการทำให้เป็นอมตะก็เป็นได้
1
โฆษณา