Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
16 ธ.ค. 2021 เวลา 10:50 • ปรัชญา
รู้จัก Enneagram ศาสตร์บุคลิกภาพ และความเป็นผู้นำ ของคนทั้ง 9 ลักษณ์
ทำไมเราต้องรู้ว่าตัวเราหรือคนอื่นมีบุคลิกแบบไหน ?
นี่คือคำถามที่อาจเกิดขึ้น หลังจากรู้จักศาสตร์หรือแนวคิดบุคลิกภาพแบบต่าง ๆ
เช่น MBTI บุคลิกภาพ 16 แบบ, DISC บุคลิกภาพที่นิยมใช้กันในองค์กร, Chronotype บุคลิกภาพตามนาฬิกาชีวิต หรือแม้แต่ Enneagram ที่ภาษาไทยเรียกว่า “นพลักษณ์ 9 แบบ”
บางคนอาจเคยทำแบบทดสอบบุคลิกภาพเหล่านี้ หรือเคยศึกษามาอยู่บ้าง
แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงในอีกแง่มุมหนึ่งของ Enneagram หรือ นพลักษณ์ ในด้านของ “ความเป็นผู้นำ” ว่าแต่คนที่มีบุคลิกแตกต่างกัน หากขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว จะมีจุดแข็ง จุดด้อย และมีข้อแนะนำอย่างไร
แต่ก่อนอื่นเราจะพาไปทำความรู้จักที่มาที่ไปของ Enneagram หรือ นพลักษณ์ กันก่อน
Enneagram หรือ นพลักษณ์ คือศาสตร์บุคลิกภาพ ที่ไม่ได้มีการระบุไว้ชัดเจน ว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เป็นศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากหลายศาสนามายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยถูกถ่ายทอดกันแบบปากต่อปากเรื่อยมา
จน Enneagram กลายเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมและพูดถึงอย่างมากในสหรัฐอเมริกา โดยมักถูกนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กรและบุคลากร แต่ในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
Enneagram มาจากการผสมคำ 2 คำของภาษากรีก คือคำว่า Ennea ที่แปลว่า “เก้า” และ Gramma ที่แปลว่า “สิ่งที่เขียนบันทึกไว้”
ดังนั้น การแบ่งบุคลิกภาพของ Enneagram จึงแบ่งออกเป็น 9 ลักษณ์ ผ่านแผนภาพนพลักษณ์ ที่ประกอบไปด้วยวงกลมที่มีจุด 9 จุดบนเส้นรอบวง ซึ่งแต่ละจุดจะมีความเชื่อมโยงกัน
เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาศาสตร์บุคลิกภาพทั้ง Enneagram และศาสตร์อื่น ๆ ก็เพื่อให้เราเข้าใจตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตัวเอง เพื่อที่จะเข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
โดยการแบ่งลักษณะภาวะผู้นำของ Enneagram สามารถแบ่งออกเป็น 9 ลักษณ์ ดังนี้
คนลักษณ์ 1 : คนเนี้ยบ
ลักษณะการเป็นผู้นำ : ขยัน ชอบความสมบูรณ์แบบ
จุดแข็ง
- ผลงานมีคุณภาพ มาตรฐานสูง
- ปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
- มีวินัย ซื่อสัตย์ มีอุดมคติ จริยธรรมสูง
- มีระเบียบแบบแผนในการทำงานที่ชัดเจนทุกขั้นตอน
จุดด้อย
- ไม่ยืดหยุ่น
- ให้ความสำคัญกับรายละเอียดมากเกินไป
- ยึดมั่นกับกฎเกณฑ์และมาตรฐานสูงมากเกินไปในบางครั้ง
- ช่างตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์
ข้อแนะนำ
- สร้างความรู้สึกให้สนุกกับงาน และยอมให้ตัวเองผ่อนคลายบ้าง
- กระจายงานให้มากขึ้น
- ลดคำว่า “ควร” หรือ “ต้อง” ในการทำงานลงบ้าง
คนลักษณ์ 2 : ผู้ให้
ลักษณะการเป็นผู้นำ : อบอุ่น ให้กำลังใจ พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุน
จุดแข็ง
- เก่งในการสร้างความสัมพันธ์
- ชอบการมีส่วนร่วม สนับสนุน และใจกว้าง
- เป็นมิตร น่ารัก ชอบให้กำลังใจ
- รับผิดชอบ ทำงานหนัก
- เข้าใจความต้องการของผู้อื่น
จุดด้อย
- เข้าหาแบบอ้อม ๆ ไม่ตรงไปตรงมา
- ไม่ชอบปฏิเสธคนอื่น
- มองข้ามความต้องการของตนเอง
- ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากเกินไป
- ไม่รู้ตัวว่า “ให้” เพื่อต้องการที่จะ “ได้”
ข้อแนะนำ
- ฝึกปฏิเสธในสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการทำ
- ฝึกการบอกความต้องการของตัวเองออกไปตรง ๆ โดยไม่อ้อมค้อม
- ฝึกการใช้เหตุผล ให้มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกในการทำงาน
คนลักษณ์ 3 : นักแสดง
ลักษณะการเป็นผู้นำ : มุ่งผลงาน เน้นเป้าหมาย
จุดแข็ง :
- มุ่งผลสำเร็จ
- พลังเยอะ สามารถทำงานได้หลายอย่างพร้อมกัน
- เอาชนะปัญหาได้ดี
- มองโลกแต่แง่ดี
- มั่นใจในตนเอง
จุดด้อย :
- มุ่งเอาชนะเพื่อความสำเร็จ โดยไม่ค่อยเข้าร่วมหรือสุงสิงกับใคร (ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับงาน)
- ซ่อนความรู้สึกของตัวเอง
- ทำงานเกินเวลา ไม่พัก
- ให้เวลาน้อยกับเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว
ข้อแนะนำ :
- ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับครอบครัว และสุขภาพบ้าง
- ใส่ใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างให้มากขึ้น
- ลดทอนการเอาชนะโดยเปลี่ยนเป็นความร่วมมือ
คนลักษณ์ 4 : คนโศกซึ้ง
ลักษณะการเป็นผู้นำ : สร้างบรรยากาศการทำงานได้ดี และเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของทีมงาน
จุดแข็ง :
- แสวงหาความหมายจากความสัมพันธ์ส่วนตัว
- สร้างแรงบันดาลใจ
- สร้างสรรค์
- กล้าแสดงออก
- เข้าใจความทุกข์ของคนอื่นได้ดี
จุดด้อย :
- ไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงาน
- อารมณ์เข้มข้น รุนแรง
- ต้องการงานที่แตกต่าง หรือมีความคิดสร้างสรรค์ จนบางครั้งใช้เวลานานเกินไป
- ประสิทธิภาพของงานขึ้นอยู่กับสภาพอารมณ์
- อารมณ์ขึ้นลง เบื่อง่าย
- ลำบากใจเมื่อต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์
ข้อแนะนำ :
- ใส่ใจผู้อื่น และดื่มด่ำในอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง
- ลดระดับความเข้มข้นทางอารมณ์ในการพูด และการแสดงออกของตน
- รู้จักให้อภัย และปล่อยวาง
คนลักษณ์ 5 : ผู้สังเกตการณ์
ลักษณะการเป็นผู้นำ : บริหารด้วยความรู้ ให้ความสำคัญกับข้อมูลและเหตุผล
จุดแข็ง :
- มีทักษะในการวิเคราะห์ รู้ลึกในเรื่องที่สนใจ
- มีความเป็นกลาง แยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม
- ทำงานเป็นระบบ
- วางแผนอย่างรอบคอบ
- สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ดีในภาวะวิกฤติ
- ไม่หนีปัญหา มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบในงานที่รับปากไว้แล้ว
- มีความเป็นผู้เชี่ยวชาญ
จุดด้อย :
- เฉยเมยกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และของผู้อื่น
- ถอยห่าง แยกตัว ไม่ชอบความขัดแย้ง
- ไม่พึ่งพาคนอื่น ทำด้วยตนเอง
- ไม่แบ่งปันข้อมูล ความรู้
- ยึดมั่นกับความคิดตัวเอง จนขาดความยืดหยุ่นในบางครั้ง
- วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น
ข้อแนะนำ :
- ใส่ใจความเกี่ยวข้องของคนในทีม มองในมุมอารมณ์ ความรู้สึกของทีมงานบ้าง
- หยุดคิดวางแผนเพียงอย่างเดียว และลงมือทำให้เร็วขึ้น มากขึ้น
คนลักษณ์ 6 : นักตั้งคำถาม
ลักษณะการเป็นผู้นำ : รอบคอบ วางแผน ป้องกันไว้ก่อน
จุดแข็ง :
- จงรักภักดีต่อองค์กร และซื่อสัตย์ต่อเพื่อนร่วมงาน
- ร่วมแรงร่วมใจ
- มีกลยุทธ์
- ขยัน อดทน รับผิดชอบ
- คาดการณ์ปัญหาล่วงหน้า
จุดด้อย :
- ระมัดระวังเกินเหตุ
- กังวลกับปัญหาในอนาคตอยู่เสมอ
- ยอมคนมากเกินไป หรือไม่ก็ต่อต้านหัวชนฝา
- ไม่ชอบความไม่ชัดเจน
- สะดุดกับความคิดของตนเองบ่อยครั้ง
ข้อแนะนำ :
- ฝึกเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน และการเป็นผู้นำ
- ฝึกเรียนรู้การจัดการกับความกระวนกระวายใจ
คนลักษณ์ 7 : ผู้พิถีพิถันในการเสพ
ลักษณะการเป็นผู้นำ : สร้างสรรค์ ยืดหยุ่น เต็มไปด้วยทางเลือก
จุดแข็ง :
- มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูง
- กระตือรือร้น ร่าเริง คิดเร็วทำเร็ว
- อยากรู้อยากเห็น
- ชอบการมีส่วนร่วม
- ทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน
- เชื่อมโยงข้อมูลที่กระจัดกระจายให้เข้ากันได้ดี
จุดด้อย :
- ทำตามแรงกระตุ้นโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์
- ไม่ชัดเจนในเป้าหมาย
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เจ็บปวด
- ตอบโต้เมื่อถูกตอบสนองในทางลบ
- หาเหตุผลเข้าข้างตนเอง
- ไม่ชอบทำอะไรซ้ำซาก
ข้อแนะนำ :
- ลดความเร็วในการคิดและทำลงบ้าง
- ทำงานที่ค้างให้เสร็จ
- ค้นหาความจริงจากคำวิจารณ์ที่ได้รับ
คนลักษณ์ 8 : เจ้านาย
ลักษณะการเป็นผู้นำ : ชัดเจน ควบคุม เด็ดขาด ชอบงานท้าทาย ทำเรื่องยากได้สำเร็จ
จุดแข็ง :
- ตรงไปตรงมา เชื่อมั่นในตนเอง
- ปกป้องลูกน้อง
- ชัดเจน ไม่ลังเล ก้าวไปข้างหน้า
- กระฉับกระเฉง ทำงานเร็ว
จุดด้อย :
- ใช้อำนาจ ควบคุมคนอื่น
- หงุดหงิดคนทำงานช้า
- บางครั้งตัดสินใจเร็วเกินไป ขาดการมองรอบด้าน
- คาดหวังสูงทั้งกับตนเองและผู้อื่น
- ไม่สอนงาน ถ้าลูกน้องไม่ถาม
ข้อแนะนำ :
- ระวังการตะโกนหรือเสียงดังในระหว่างการทำงาน ซึ่งมักทำร้ายความรู้สึกคนอื่น โดยไม่ตั้งใจ
- ควรรอ และอดทนฟังความคิดเห็นผู้อื่น แทนการปฏิเสธตั้งแต่ต้น
คนลักษณ์ 9 : ผู้ประสานไมตรี
ลักษณะการเป็นผู้นำ : ประสานงาน มีส่วนร่วม มองภาพกว้าง กำหนดยุทธศาสตร์ได้ดี
จุดแข็ง :
- เล่นการเมือง (มีความสามารถในการกลมกลืนกับทุกคน)
- สม่ำเสมอ ง่าย ๆ สบาย ๆ
- ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน สนับสนุนผู้อื่นได้ดี
- สร้างความสัมพันธ์ที่คงทนถาวร
- ถึกและอดทน
จุดด้อย :
- หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ไม่ชอบใช้อำนาจ
- ไม่มั่นใจ ลังเล ขาดความชัดเจน
- ไม่ชอบตัดสินใจ ตัดสินใจช้า
- จัดลำดับความสำคัญได้ไม่ดี
- ดื้อเงียบ แสดงความโกรธด้วยการเพิกเฉยต่อปัญหา
- เฉื่อยชา
ข้อแนะนำ :
- ตั้งเป้าหมาย ทำ To do list
- ฝึกการตัดสินใจ และหาแรงบันดาลใจในการทำงาน
ภาวะผู้นำทั้ง 9 ลักษณ์นี้ เป็นเพียงแค่การระบุลักษณะโดยรวม ที่เป็นภาพกว้าง ๆ เท่านั้น
รวมถึง “ภาวะผู้นำ” เป็น “ทักษะ” ที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ และ “ฝึกฝน” ได้
ดังนั้น นพลักษณ์ จึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ที่ใช้ในการช่วยวิเคราะห์ศักยภาพของบุคคลที่แตกต่างกันไป ว่าในตัวบุคคลนั้นมีภาวะผู้นำแบบใดแฝงอยู่ ไม่สามารถนำไปตัดสินว่าคนลักษณ์นี้จะเป็นแบบนี้ 100% ได้
เพราะสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมาไม่เหมือนกัน และสำหรับบางคนก็อาจก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองบางข้อหรือทุกข้อได้แล้ว
การศึกษาศาสตร์นพลักษณ์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับองค์กร เพราะสามารถนำไปใช้ในการบริหารคน และสนับสนุนศักยภาพที่แต่ละคนมี ให้พัฒนาเติบโตไปในสิ่งที่พวกเขาถนัดและทำได้ดี รวมถึงการศึกษาในระดับบุคคลด้วยเช่นกัน เพราะทำให้รู้จักตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และมีความสุขมากขึ้น
หากวิเคราะห์ดูแล้ว ศาสตร์บุคลิกภาพ Enneagram หรือ นพลักษณ์ อาจมีความหมายที่คล้ายคลึงกับ สุภาษิตที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” นั่นเอง..
References
●
http://enneagramthailand.org/บทความ-RC22655-บทความ.html
●
หนังสือ นพลักษณ์ แผนที่เข้าถึงคนเข้าถึงตน
enneagram
38 บันทึก
14
25
38
14
25
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย