16 ธ.ค. 2021 เวลา 00:30 • ไอที & แก็ดเจ็ต
Anti-phishing แยกอีเมลจริงและปลอมออกจากกันได้!
ปัจจุบันอีเมลที่ส่งมาหาเรานั้นมีแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ข่าวสาร หรือเรื่องต่างๆมากมายที่เราอาจดูแล้วปวดหัวลายตา จนทำให้เราเผลอตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แอบแฝงมาในรูปแบบอีเมลปลอมได้
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น อีเมลที่เกี่ยวข้องกับการคลิกเพื่อยืนยัน เพื่อรับสิทธิ์ หรือกระทำการใดๆ มิจฉาชีพอาจปลอมอีเมลในรูปแบบนี้และส่งมาหาคุณ ทำให้คุณหลงคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ปลอมที่จะดักเก็บข้อมูลที่คุณพิมพ์ลงไป นำไปสู่การถูกแฮ็กได้อย่างง่ายดาย โดยที่คุณไม่รู้ตัว หรือกว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว
แล้วเราจะทำอย่างไร? มารู้จักกับ Anti-phishing สิ่งที่จะช่วยคุณแยกอีเมลจริงและปลอมออกจากกันได้! แล้วมันคืออะไร ไปดูกัน
🎯 Phishing คืออะไร?
ก่อนเราจะไปรู้จัก Anti-phishing เรามารู้จัก Phishing กันก่อนดีกว่า
Phishing (ฟิชชิง) คือ หนึ่งในการหลอกลวงทางโลกออนไลน์ ซึ่งมีหลายรูปแบบ หลักการคือใช้กลอุบายหลอกล่อให้ผู้ใช้งานหลงเชื่อและขโมยข้อมูลจากผู้ใช้งานที่เป็นเหยื่อ เหมือนการตกปลา
Phishing นั้นอาจมาในรูปแบบของ อีเมล หน้าเว็บไซต์ปลอม SMS หรือวิธีการอื่นๆที่เป็นการปลอมแปลง โดยที่เราอาจพบเจอได้บ่อยที่สุดก็เช่น
- เว็บไซต์ปลอมอย่างเช่น คนระครึ่ง.com, คลละครึ่ง.com, คนละครึง.com เป็นต้น
- อีเมลปลอม เช่น “บัญชีของคุณอยู่ในอันตรายคลิกลิงค์เพื่อกู้คืนรหัสผ่าน”, “คุณได้รับเงินฟรี คลิกเพื่อดู”, “คุณมียอดค้างชำระ โปรดคลิกที่นี่เพื่อชำระเงิน” เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า หากไม่สังเกตและระวังให้ดี คุณก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่ายมากๆ
🎯 Anti-phishing คืออะไร?
Anti-phishing คือมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ป้องกันการโจมตีแบบ Phishing หรือเพื่อลดผลกระทบของการโจมตีจากผู้ไม่หวังดี ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือ Anti-Phishing Code
Anti-Phishing Code คือฟีเจอร์ที่สามารถบล็อกผู้ใช้จากการคลิกลิงก์และไฟล์แนบภายในอีเมลที่ได้รับซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ โดยการใช้รหัสอ้างอิงที่เราเป็นคนกำหนดขึ้นมา
เช่น เราตั้งค่า Anti-Phishing Code ด้วยข้อความ “This is email jing na ja” เวลาที่แพลตฟอร์มหรือบริการใดๆที่คุณใช้งานและตั้ง Anti-Phishing Code ไว้ทำการส่งอีเมล ภายในอีเมลก็จะแสดงรหัสหรือข้อความ “This is email jing na ja” ด้วยเช่นกัน ทำให้สามารถรับรู้ได้ว่า อีเมลนี้เป็นของจริง
แล้วอีเมลปลอมหล่ะ? ก็จะไม่มี “This is email jing na ja” ยังไงหล่ะ! เพราะว่ามิชฉาชีพที่ส่งอีเมลถึงเราไม่รู้ว่าเราได้เปิดระบบ Anti-Phishing Code เอาไว้ หรือไม่รู้ว่าข้อความที่ตั้งไว้คืออะไรนั่นเอง
หากแพลตฟอร์มหรือบริการใดๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการลงทุน ชอปปิ้ง การเงินการธนาคาร หรืออะไรก็ตาม หากมีระบบ Anti-Phishing Code คุณก็ควรเปิดใช้งานเพื่อที่จะได้ยกระดับความปลอดภัยไปอีกขั้น ส่วนถามว่าเปิดใช้งานอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในการตั้งค่าความปลอดภัยนั้นแหล่ะ ลองดูกันนะ
1
โฆษณา