Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
LIFEiS
•
ติดตาม
28 ธ.ค. 2021 เวลา 06:00 • ครอบครัว & เด็ก
นิยาม "เด็กเก่ง" ในระบบการศึกษาไทย
เด็กนักเรียนไทยหลายคนเคยชินกับระบบการสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือการแบ่งห้องตามความเก่งทางวิชาการ เด็กจึงมองกันและกันว่าแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็กห้องคิง เด็กห้องควีน หรือเด็ก EP (English Program) ไปจนถึงเด็กห้องธรรมดาที่เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ในความเป็นจริงชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งไม่ได้มีแค่โลกทางวิชาการเพียงเท่านั้น แต่สังคมในโรงเรียนกลับแบ่งแยกเด็กออกจากกัน เพราะความสามารถทางวิชาการที่ไม่เท่ากัน ทำให้นิยามของคำว่า ‘เรียนเก่ง’ วันนี้สร้างกรอบทางความคิดที่ทำให้พ่อแม่และเด็กๆมองความหมายของคำว่า “เก่ง” ผ่านผลการเรียนเป็นหลัก เชื่อว่าเด็กต้องได้เกรดดี เพื่อให้ได้เข้าคณะดีๆ ของมหาวิทยาลัยดีๆ ถึงจะประสบความสำเร็จ
❓ แต่ความเก่งที่สะท้อนออกมาผ่านเกรดเฉลี่ย เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กไทยได้แค่ไหน ?
🗨 วันนี้เรามีประเด็นที่อยากชวนคุยเกี่ยวกับเรื่อง “ความเก่ง” ของเด็กๆกันซักหน่อย เผื่อว่าถ้าเราปรับมุมมองกันซักเล็กน้อย อาจจะทำให้เด็กมีความสุขขึ้น แล้วอาจจะมีโอกาสฉายแววความเก่งออกมาได้มากขึ้นนะ
🟢 การเปรียบเทียบ
ระบบการศึกษาทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับแต่ละวิชาไม่เท่ากัน พูดง่ายๆว่า เด็กสายวิทย์มักจะถูกมองว่าเก่งกว่าเด็กสายศิลป์ ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ความเก่งของแต่ละสายไม่ใช่เรื่องที่ควรนำมาเปรียบเทียบกันเลย แถมความเก่งบางอย่าง ก็แทบจะไม่มีโอกาสให้แสดงออกมาในระบบการศึกษาทุกวันนี้ (เช่น ลูกเกษตรกรที่สามารถช่วยพ่อแม่วางแผนการปลูกผัก ผลไม้ให้ออกมามีผลผลิตมากขึ้น ก็ไม่สามารถวัดผลในระบบได้) ดังนั้น การที่เด็กทุกคนมาอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน และถูกเปรียบเทียบ ถูกกดดันให้ตนเอง “เก่ง” ภายใต้นิยามเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจสำหรับเด็กบางคนอย่างมาก
ถ้าพ่อแม่ลองคุยกับลูกซักหน่อย ให้ความสำคัญกับเกรดน้อยลงซักนิด แล้วมาสนใจกับความสามารถที่แท้จริงของเด็กมากขึ้น และหากมั่นใจว่าความสามารถของเด็กไม่ได้ถูกสะท้อนออกมาผ่านผลการเรียนจริงๆ (แต่เรายังจำเป็นต้องอยู่ในระบบการศึกษาอยู่) ก็พยายามอย่าเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นมากนัก แต่ให้รู้ตัวว่าเรามีความสามารถอะไร แล้วหาทางพัฒนาความสามารถของเราต่อไปก็พอ
🟢 การกดดัน และสร้างความเครียด
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วก็เป็นแรงกดดันให้พ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องเติบโต และอยู่รอดในสังคมให้ได้เช่นกัน เมื่อลูกต้องอยู่ในระบบการศึกษาที่เน้นระบบประเมินคะแนน วัดผลสัมฤทธิ์ ก็ยิ่งทำให้เกิดความกลัวความล้มเหลว เชื่อว่าชีวิตล้มไม่ได้ จึงก่อให้เกิดความเครียดมากขึ้นทั้งตัวเด็กเอง และครอบครัว เราเชื่อเสมอว่าพ่อแม่ทุกคนห่วงลูกรักลูก แต่ถ้าลูกเจอแต่แรงกดดันจากความกลัว สิ่งที่ลูกได้คือความทุกข์ ...การทำตามความฝัน ทำตามความปรารถนาจะเป็นเรื่องผิด เพราะความมั่นคงต้องมาก่อน เลยไม่มีความฝันใฝ่หลงเหลือในชีวิต ถ้าเด็กไม่สามารถหาสมดุลระหว่างระหว่างชีวิตที่อยากเป็น กับชีวิตที่ต้องเป็นก็จะทำให้เด็กหาความสุขในชีวิตได้ยาก
เราอยากให้พ่อแม่เข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีความชอบต่างกัน ทักษะความถนัดก็แตกต่างกันออกไป การวัดประเมินด้วยเกณฑ์ที่สังคมกำหนดอาจจะเป็นแค่แนวทางให้ลูกประเมินตัวเองได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และหากพ่อแม่ไปกดดันให้ลูกเป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมตั้งไว้มากเกินไป ก็อาจจะเป็นการลดทอนแรงจูงใจเด็กเป็นอย่างมาก แต่ถ้าพ่อแม่ลองเปิดโอกาสให้ลูกเลือกสิ่งที่เค้าอยากทำ อยากเรียนรู้ตามวัย คอยสนับสนุน และสอนให้เขาเผชิญกับปัญหาอย่างมีสติและฝึกรับผิดชอบทางเลือกของตัวเองอาจจะช่วยให้เค้าเติบโตได้อย่างมีความสุขมากกว่า
🟢 ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ยิ่งในช่วงวิกฤตแบบนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นปัญหาที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเด็กกลุ่มที่พอมีกำลัง ก็สามารถศึกษาต่อที่บ้านได้อย่างไม่ติดขัด มีเทคโนโลยีพร้อมใช้ เข้าถึงสื่อการศึกษาคุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมายในการเข้าถึงสื่อการศึกษา มิหนำซ้ำนอกจากเรื่องการเรียนแล้ว หลายคนยังมีปัญหาเรื่องฐานะทางบ้านอีกด้วย ส่งผลให้เด็กๆ กลุ่มนี้ต้องช่วยที่บ้านทำมาหากินเพื่อความอยู่รอด ไม่สามารถโฟกัสกับการเรียนได้
เราเชื่อว่ายังมีเด็กไทยมีศักยภาพอีกมาก หากได้รับการศึกษาที่เหมาะสม เราพอเห็นตัวอย่างของผู้ใหญ่บางคนที่แม้จะไม่ได้รับการศึกษา แต่ก็สามารถต่อสู้ และทำงานได้ดี (ลองคิดดูว่าถ้าคนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการศึกษาเหมือนคนอื่นๆ เค้าจะทำงานได้ดียิ่งขึ้นได้ขนาดไหน) ดังนั้น หากเราสามารถช่วยให้เด็กที่ขาดโอกาสได้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้เด็กๆเหล่านั้นได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้นได้
= = = = = = = = = = = =
สุดท้ายนี้ เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ เปิดโอกาสให้กับนิยามของความเป็น “เด็กเก่ง” ให้มากขึ้นซักหน่อย
▪ เด็กบางคน สามารถเป็นเด็กเก่งภายใต้ระบบการศึกษาได้
▪ เด็กบางคน อาจจะเป็นเด็กเก่งในเรื่องการช่วยครอบครัวทำมาหากินได้
▪ หรือเด็กบางคน อาจจะพัฒนาความเก่งของตัวเอง จากการหาความรู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้เหมือนกัน
ถ้าพ่อแม่มองเห็น “ความเก่ง” ของลูก และสามารถสนับสนุนความเก่งที่ลูกมีอยู่ได้แล้ว เราเชื่อว่าในอนาคต เราจะต้องมีคนเก่งที่หลากหลายมากขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นแน่นอน
บันทึก
3
2
1
3
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย