16 ธ.ค. 2021 เวลา 11:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
‘Santuario Del Señor De Tula’
โบสถ์กลางแจ้ง ที่แจ้งเกิดเพราะโลกสะเทือน
Photographer:
 © Rafael Gamo
| เขย่าจนราบ |
ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2560 ณ เวลาเช้ามืด ขณะที่ผู้กำลังหลับใหลกลับเกิดแผ่นดินไหว เข้าจู่โจมเมืองเม็กซิโกตอนกลางโดยไม่ทันตั้งตัว ณ ปีนั้นยังเกิดตรงกับวันครบรอบ 32 ปี เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของประเทศ ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 10,000 ราย ในปี 1985 อีกด้วย
ส่งผลให้บ้านเรือน โรงเรียน พื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงตึกโครงสร้างขนาดใหญ่ในเมือง Jojutla และอาคารกว่า 2,600 หลังคาเรือนถูกเขย่าจนพังยับเยิน หนึ่งในสถานที่ที่ถูกโจมตีจนราบเป็นหน้ากลองและถือได้ว่าเป็นการสูญเสียมรดกทางสถาปัตยกรรมครั้งยิ่งใหญ่ คงหนีไม่พ้นโบสถ์คู่บ้านคู่เมืองอย่าง ‘San Miguel Arcángel’ ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 5 ศตวรรษ หรือกว่า 500 ปี
| ก่อร่างเรียกความเชื่อมั่น |
แน่นอนว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ไม่ได้สั่นสะเทือนแค่พื้นผิวโลกจนพังทลาย แต่ดันสั่นสะท้านไปถึงสถานที่ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของชาวเม็กซิโก และเพื่อเป็นการเรียกความหวังและสร้างกำลังใจลูกใหม่ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ทางการรัฐจึงได้จัดทำแผนปรับปรุงและฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่
โดยได้บริษัทด้านสถาปัตยกรรมฝีมือดีอย่าง Dellekamp Schleich ของเม็กซิกัน จับมือร่วมกับ AGENdA Agencia De Arquitectura จากโคลัมเบีย เนรมิตโบสถ์ขึ้นมาใหม่ พร้อมตั้งชื่อว่า ‘Santuario del Señor de Tula’
Photographer:
 © Rafael Gamo
| โบสถ์หรือบ้านของทุกคน |
ถ้าให้ดูแต่รูปคงนึกไม่ถึงกันแน่ ๆ ว่านี่คือ ‘โบสถ์’ เราขอยืนยันอีกครั้งว่านี่คือ ‘โบสถ์กลางแจ้ง’ ของจริง! บนพื้นที่กว่า 4,840 ตารางฟุตที่เห็นได้ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นวิหารแบบคลาสสิกที่ถูกตีความขึ้นมาใหม่ ทำให้ภาพลักษณ์ที่เห็นแตกต่างจากโบสถ์กลางแจ้งที่หลายคนเคยได้เห็นไปอย่างสิ้นเชิง
Photographer: © Sandra Pereznieto
ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่ดูเหมือนจะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสแต่ก็ถูกเฉือนขอบมุมออกเป็นลักษณะครึ่งวงกลมทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้กลายเป็นตั้งประตูและหน้าต่างในการรับแสงแดดและลมรอบทิศไปในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่าบนฝ้าด้านบนอาคารก็ไม่เว้นถูกตัดทรงให้โค้งไปตามกัน ๆ
Photographer: © Sandra Pereznieto
ตัวขอบเว้าหลายจุดยังไปตัดกับแท่งคอนกรีตสีเหลี่ยมพื้นผ้าที่ตั้งตรงตระหง่านอยู่บนตัวโบสถ์ พร้อมเจาะสัญลักษณ์ไม้กลางเขน เพื่อเป็นเหมือนป้ายสัญลักษณ์ ยังไม่นับรวมพื้นที่นั่งแบบสโลปคล้าย ๆ กับอัฒจันทร์ในสนามฟุตบอล มีการไล่ระดับสูงลงไปหาต่ำจนถึงแท่นบูชาที่ถูกลับโค้งมนให้สอดรับกับตัวขอบอาคาร
ในส่วนของตัวโครงสร้างก็ใช้เป็นสีวัสดุแบบธรรมชาติ อย่างปูนดิบและอิฐที่ให้อารมณ์ทั้งเก่าดิบและใหม่เอี่ยมไปในเวลาเดียวกัน ตกแต่งซุ้มทางเข้าด้วยระฆังเหล็กหล่ออายุกว่า 1 ศตวรรษหรือกว่า 100 ปี เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวของประวัติศาสตร์ยุคเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว
Photographer: © Sandra Pereznieto
และก็ไม่รู้ว่าความตั้งใจหรือบังเอิญที่อาคารเปิดโล่งแบบนี้ยังเหมาะกับยุคที่โลกระบาดยังไม่จากเราไปไหน ช่วยสร้างความปลอดภัยและเสริมความสบายใจให้กับผู้มาสักการะในยุคโควิดได้อีกหนึ่งเปลาะ
สุดท้ายแล้วแม้ว่าชื่อและการใช้งานอาจจะเป็นโบสถ์ที่รวมความศรัทธา แต่แท้จริงแล้วนี่อาจจะเป็นบ้านหรือสถานที่พักใจที่เต็มไปด้วยความหวังของผู้คนในเมืองก็คงไม่ผิดนัก
Photographer: © Sandra Pereznieto
Source:
Arquitectura Panamericana | https://bit.ly/3dYeQ6t
Architectural Record | https://bit.ly/3EWDQaa
โฆษณา