17 ธ.ค. 2021 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา “Hello Tractor” แอปยืมรถแทรกเตอร์ จากทวีปแอฟริกา
นับตั้งแต่ปี 2009 ที่ Uber ได้บุกเบิกแอปพลิเคชันเรียกรถ หรือ Ride-sharing ขึ้นมา
หลังจากนั้น ก็ได้มีแพลตฟอร์มลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
Bolt ในสหรัฐอเมริกา, Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแม้แต่ Didi Chuxing ในจีน
รู้หรือไม่ว่าในทวีปแอฟริกา ก็มีแอปพลิเคชันที่มีโมเดลธุรกิจคล้ายกับ Uber เหมือนกัน
แต่เปลี่ยนจากรถยนต์ทั่วไปเป็นรถแทรกเตอร์
โดยแอปพลิเคชันนั้นมีชื่อว่า “Hello Tractor”
Hello Tractor คืออะไร
แล้วทำไม ต้องเป็นรถแทรกเตอร์ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าที่เป็น แทรกเตอร์ ก็เพราะว่ามันเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเกษตรกรในทวีปแอฟริกา
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีสัดส่วนเกษตรกรเยอะที่สุดในโลก โดยประชากรเฉลี่ยมากกว่า 60% ทำอาชีพเกษตรกรรม ในขณะที่บางประเทศในทวีปนี้อย่างบุรุนดีและโซมาเลีย มีสัดส่วนเกษตรกรมากถึง 80%
อย่างไรก็ตาม หากเรามาดูผลผลิตทางการเกษตรต่อเกษตรกร 1 คน
กลับกลายเป็นว่าทวีปแอฟริกากลับทำผลผลิตได้น้อยที่สุดในโลก
เฉลี่ยแล้ว คิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 30,000 บาทต่อคนต่อปี
ซึ่งก็เรียกได้ว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศในยุโรปที่ได้ผลผลิตเฉลี่ยราว 1,000,000 บาทต่อคนต่อปี
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเกษตรกรในยุโรปคนเดียว สร้างผลผลิตได้เท่ากับเกษตรกรจากแอฟริกา 33 คน
สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่าเกษตรกรไทยสร้างผลผลิตได้เท่าไร คำตอบก็คือราว 100,000 บาทต่อคนต่อปี
1
ทีนี้เรามาดูกันว่าทำไมประเทศ ที่มีสัดส่วนเกษตรกรมากที่สุดในโลก กลับมีผลผลิตต่อคนต่ำที่สุดในโลก ?
หนึ่งในเหตุผลก็คือ “ความยากจน” ทำให้กลุ่มเกษตรกรขาดโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือเครื่องจักรที่จำเป็น
รู้หรือไม่ว่าเกษตรกรมากกว่า 220 ล้านคนในประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารามีรายได้วันละไม่ถึง 60 บาท
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับเครื่องมือเครื่องจักรที่จำเป็นสำหรับการเพาะปลูก เช่น รถแทรกเตอร์ แต่หากจะจ้างแรงงานคนก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงมากและไม่คุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้
โดยหากเปรียบเทียบพื้นที่ทางการเกษตร 1 ตารางกิโลเมตรกับประเทศอื่น ๆ ในโลก
ประเทศอินเดียจะมีรถแทรกเตอร์ 128 คัน
ประเทศบราซิลมี 116 คัน
ประเทศแอฟริกาใต้มี 43 คัน
ในขณะที่ประเทศยากจนอย่างรวันดา มีเพียงแค่ 1.3 คันเท่านั้น..
จะเห็นได้ว่าเกษตรกรในทวีปนี้เข้าไม่ถึงปัจจัยพื้นฐานในการทำธุรกิจ โดยที่บางรายแม้จะมีพื้นที่การเกษตรขนาดถึง 10 ไร่ แต่ก็ยังคงทำไร่ไถนาด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มือ เช่น จอบหรือเสียมอยู่เลย แถมในจำนวนนี้ยังเป็นผู้หญิงมากถึง 70%
2
นอกจากจะไม่ค่อยมีใครมีรถแทรกเตอร์เป็นของตัวเองแล้ว เจ้าของรถส่วนใหญ่ถึง 80% ก็มักมีปัญหากับการใช้งานและซ่อมบำรุงรถแทรกเตอร์ของตัวเองด้วย ซึ่งกว่าจะซ่อมเสร็จก็ใช้เวลายาวนาน
บางคนมีที่ดินแต่ก็ทำการเกษตรไม่ได้ เพราะไม่มีแรงงานเพียงพอแม้แต่จะเคลียร์พื้นที่เพื่อเริ่มเพาะปลูก, การใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียวก็เพาะปลูกได้ไม่ทันฤดูกาลฟ้าฝน ผลผลิตที่ได้จึงน้อยและคุณภาพต่ำ
จากปัญหาในเรื่องของรถแทรกเตอร์นี้ จึงเป็นที่มาของ “Hello Tractor” แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเจ้าของรถแทรกเตอร์กับเกษตรกรตัวเล็กผ่านแอปพลิเคชัน
โดย Hello Tractor ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไนจีเรียเมื่อปี 2014 โดย เจฮีล โอลิเวอร์ ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านการเงินและการเกษตรในองค์กรระดับโลก รวมทั้งแถบประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ทำให้เขาเข้าใจปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี
1
โอลิเวอร์ มีความคิดเพียงแค่ว่าหากเกษตรกรสามารถเข้าถึงรถแทรกเตอร์ได้มากเท่าไร
กลุ่มเกษตรกรก็จะยิ่งหลุดพ้นจากความยากจนได้เร็ว
ไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจในทวีปแห่งนี้ ก็มีโอกาสเติบโตได้อีกมากเท่านั้น
แล้ว Hello Tractor เข้ามาช่วยเกษตรกรอย่างไร ?
1
สำหรับฟีเชอร์หลักของ Hello Tractor แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- ส่วนของเกษตรกรที่ต้องการเช่ารถแทรกเตอร์
- ส่วนของเจ้าของรถที่ต้องการปล่อยเช่า
สำหรับส่วนของเกษตรกรนั้นไม่มีอะไรยาก เพียงแค่ใส่ตำแหน่งที่อยู่ของฟาร์มตัวเองเข้าไป
แล้วกดเลือกจองรถที่ต้องการ โดยที่ระบบก็มีตัวเลือกให้เราสามารถวางแผนจองล่วงหน้าก็ได้
และด้วยความที่ไม่ต้องลงทุนเป็นก้อน เป็นลักษณะการเช่าจึงทำให้เหล่าเกษตรกรเข้าถึงรถแทรกเตอร์ได้มากกว่า
1
นอกจากนี้ Hello Tractor ก็เข้าใจว่าเกษตรกรในชนบทหลายรายอาจจะยังไม่มีสมาร์ตโฟนหรือยังไม่มั่นใจในแอปพลิเคชัน
บริษัทจึงได้จัดตั้งทีมพนักงานและร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เรียกว่า “Booking Agent”
ทำหน้าที่เป็นพนักงานขายที่จะคอยติดต่อโดยตรงกับเกษตรกรให้สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้
ซึ่งเมื่อเกษตรกรหลายคนได้ใช้ Hello Tractor ก็พบว่าประสิทธิภาพการเพาะปลูก
ทำได้เร็วขึ้นถึง 40 เท่า ในขณะที่ใช้ต้นทุนลดลง คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับแต่ก่อน
ในขณะเดียวกัน ในมุมของเจ้าของรถแทรกเตอร์ ก็จะยังติดตามและบริหารความเรียบร้อยของรถที่ปล่อยเช่าได้ตลอดเวลา
เพราะทางบริษัทได้ใช้ทั้งระบบการติดตามโดย GPS และซิมการ์ด เพื่อสร้างบริการให้กับผู้ปล่อยเช่าดูได้ว่าจำนวนชั่วโมงที่รถถูกใช้งานและไม่ถูกใช้งานเท่าไรแล้ว,​ ระดับน้ำมันในรถเป็นอย่างไร หรือในกรณีที่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ เจ้าของรถสามารถสั่งดับเครื่องฉุกเฉินได้เลย เช่นกัน
1
ทั้งนี้ ในแอปพลิเคชันยังมีตารางการซ่อมบำรุงอย่างละเอียด ซึ่งใช้ข้อมูลจากผู้ผลิตรถแทรกเตอร์โดยตรง และเมื่อถึงเวลาที่ต้องซ่อมบำรุงก็สามารถกดนัดหมายกับช่างที่ผ่านการรับรองที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้เลย
สุดท้ายคือสามารถสร้างรายงานสรุปทั้งหมดแล้วส่งออกมาเป็นไฟล์ก็ได้
นอกเหนือจากบริการจับผู้เช่าชนผู้ให้เช่าแทรกเตอร์นั้น Hello Tractor ก็ยังมีบริการสินเชื่อสำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจให้เช่ารถแทรกเตอร์ด้วย โดยหนึ่งในเงื่อนไขคือต้องมียอดจองเช่าล่วงหน้าให้ได้ถึง 3,125 ไร่ก่อน
ปัจจุบัน Hello tractor ได้รับเงินทุนสนับสนุนรวมกว่า 800 ล้านบาท จากทั้งบริษัทเอกชนและองค์กรที่มีนโยบายต่อสู้กับความยากจน เช่น “World Food Programme” หรือโครงการอาหารโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN
นอกจากนี้ Hello Tractor ก็ยังได้รับทุนจำนวน 500 ล้านบาท หลังจากชนะการประกวดในรายการ AYuTe ย่อมาจาก Agriculture, Youth and Technology ซึ่งจัดตั้งโดย Heifer International องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกที่ทำงานเพื่อขจัดความยากจนและความหิวโหย
ปัจจุบัน Hello Tractor เปิดให้บริการแล้ว 17 ประเทศ ทั้งในทวีปแอฟริการวมถึงเอเชีย
ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงรถแทรกเตอร์ได้แล้วกว่า 500,000 ราย
สร้างรายได้ให้กับเจ้าของรถแทรกเตอร์รวมกว่า 12,600 ล้านบาท
ในขณะที่ตัวบริษัท​ Hello Tractor สร้างรายได้ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทไปได้แล้วกว่า 1,900 ล้านบาท
Hello Tractor ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐ และ John Deere บริษัทผลิตเครื่องจักรทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2023 จะมีรถแทรกเตอร์ในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอีก 10,000 คัน,​ ถูกใช้งานในพื้นที่ 56 ล้านไร่, สร้างอาหารให้กับชาวแอฟริกา 37 ล้านเมตริกตัน และสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 2 ล้านตำแหน่ง
1
จากตัวเลขความสำเร็จของ Hello Tractor ที่ถูกส่งต่อไปยังเกษตรกรและผู้ประกอบการ
ถ้าหากประเทศไทยจะมีแอปพลิเคชันเพื่อช่วยเหลือการเกษตรบ้างจะเป็นไปได้หรือไม่ ?
มีตัวเลขเปรียบเทียบที่น่าสนใจคือ
สัดส่วนเกษตรกรต่อประชากร
ทวีปแอฟริกา มากกว่า 60%
ประเทศไนจีเรีย 35%
ประเทศไทย 31%
1
สัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต
ทวีปแอฟริกา 28.2%
ประเทศไนจีเรีย 69.5%
ประเทศไทย 52.6%
จากตรงนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีสัดส่วนเกษตรกรและสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ใกล้เคียงกับประเทศไนจีเรียเลย ซึ่งก็เรียกได้ว่าหาก Hello Tractor สำเร็จและสามารถสร้างการเติบโตได้
เราก็สามารถสรุปได้ว่าประเทศไทย ก็น่าจะทำได้เหมือนกับ Hello Tractor
โดยปัจจุบันประเทศไทยก็มีแอปพลิเคชันชื่อว่า “Ricult” ที่นำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศ เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวไทยมีผลผลิตที่ดีขึ้น
ถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปได้ว่า Hello Tractor เรียกได้ว่าเป็นการนำโมเดลธุรกิจ Sharing Economy มาประยุกต์ใช้กับสภาพสังคมและปัญหาของประเทศได้อย่างน่าสนใจ
เพราะนอกจากมันจะช่วยเปิดโอกาสให้ชาวแอฟริกาเข้าถึงเครื่องมือที่จำเป็นและช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรแล้ว มันก็ยังเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่มีโอกาสทำให้กลุ่มเกษตรกรที่ยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นเอง..
References
1
โฆษณา