16 ธ.ค. 2021 เวลา 10:55 • สุขภาพ
ถ้าพูดถึงเภสัชกร ทุกคนน่าจะนึกถึงคนที่อยู่ในร้านยา หรือว่าคนที่อยู่ในห้องยาที่โรงพยาบาลใช่ป่าว
แต่จริง ๆ แล้วมีเภสัชกรที่ทำงานอยู่ในหลากหลายสาขาและหลายสายงานมากครับ
ถ้าแบ่งเป็น 2 ภาพใหญ่ ๆ ก็น่าจะแบ่งเป็นฝั่ง Pharm Care คือเน้นดูแลผู้ป่วย และฝั่ง Pharm Science ที่เน้นไปทางด้านผลิต วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
แถมสมัยนี้ยังมีสายงานแปลก ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย
วันนี้พิเศษนิดนึงนะครับ คือพี่จอนได้รู้จักกับเภสัชกรที่หาตัวจับยากท่านนึง และมีโอกาสได้สัมภาษณ์ (ไม่อยากเรียกว่าสัมภาษณ์เลย เรียกว่าพูดคุยแบบไม่เป็นทางการดีกว่า)
เค้าคือใคร? เค้าคือแอดมินเพจ หมอยาเล่าเรื่อง Pharma-Story ครับ และก็เป็นเภสัชกรที่ทำงานอยู่บน ICU หรือแผนกดูแลผู้ป่วยหนักด้วยครับ
หลายคนอาจจะงง เภสัชไปทำอะไรบนวอร์ด จริง ๆ เภสัชในไทยเริ่มมีการทำงานในเชิงคลินิกมานานหลายปีแล้ว ปัจจุบัน นิสิต/นศ. Pharm D 6 ปี ก็มีไปฝึกงานตามหอผู้ป่วยต่าง ๆ
ปัจจุบันเภสัชมีหลักสูตรวุฒิบัตรเฉพาะทาง 6 สาขา --> https://www.facebook.com/jonjonpaplern/posts/2898662353688316
เภสัชกรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยใน ICU จัดว่าเป็น Clinical Pharmacist ครับ
เอาล่ะ เข้าเรื่อง //เคาะไมค์
J: สวัสดีครับช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ
P: เป็นเภสัชกรประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งครับ
J: โอเคครับ สั้น ๆ ได้ใจความ คือ...เป็นเภสัชกรที่ทำงานอยู่ icu ใช่มั้ยครับ?
P: ใช่ครับ จะมี ICU สองส่วนที่ผมราวด์ คือ ICU ปกติ กับ ICU COVID-19 ครับ
1
J: ประจำอยู่บนวอร์ดเลย หรือว่าขึ้นไปราวด์เป็นเวลาครับ
P: ส่วนใหญ่ผมจะขึ้นไปราวด์เป็นเวลาครับ (ช่วงเช้าของวัน) ยกเว้นในวันที่ต้องลงไปช่วยห้องยา OPD หรือ IPD ผมจะปลีกตัวตอนที่หน้างานไม่ยุ่งขึ้นไปราวด์ ICU เมื่อถูกตาม หรือเป็นเคสต่อเนื่องที่ต้องทำการตรวจติดตามวัดระดับยาในเลือด หรือปรับ dose ยาทุกวัน
J: ได้อยู่จ่ายยาในห้องยารึเปล่าครับ
P: จ่ายครับ ในวันที่ต้องลงมาช่วยห้องยา OPD (ผู้ป่วยนอก) หรือ IPD (ผู้ป่วยใน)
J: ช่วยเล่าคร่าว ๆ หน่อยครับ ว่าขึ้นไปทำอะไรบนวอร์ด
P:
1. Daily Medication Review: รีวิวยาที่ผู้ป่วยได้รับ ดูว่ามีสายให้อาหารทางจมูกมั๊ย มีหลอดเลือดที่เปิดไว้ให้ยาอะไรบ้าง ดูว่ายาที่ให้ทางหลอดเลือดดำ
ใช้เส้นเลือดไหนในการให้ความเข้มข้นและอัตราการให้เหมาะสมมั้ย มียาอะไรขาดตกไป มีปัญหาความเข้ากันของยา อันตรกิริยาระหว่างยาและอาหารมั๊ย ค้นหาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาและหาแนวทางแก้ไข
2. ดู lab และสัญญาณชีพ เช่น ค่าตับ, ค่าไต, ค่าอิเล็กโทรไลต์, ค่าความสมบูรณ์ของเลือด, ผลเพาะเชื้อ เป็นต้น เพื่อการเลือกยาที่เหมาะสม เพื่อการเลือกสารน้ำที่เหมาะสมของยาฉีด เพื่อการปรับเปลี่ยนขนาดยาและอัตราการให้ยา และเฝ้าระวังและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา
3. แจ้งแพทย์เพื่อการแก้ไขคำสั่งใช้ยาที่เสี่ยงจะเกิดปัญหาและอันตราย
4. ดูฟอร์มปรอท เพื่อประเมิน input/output ของน้ำ ซึ่งจะมีผลในคนไข้ที่จำกัดน้ำ เช่นคนไข้ไตวาย ปัสสาวะไม่ออก ออกน้อย ผมจะแจ้งแพทย์เพื่อขอลดสารน้่ำผสมยาฉีด โดยหาความเข้มข้นที่เหมาะสมและเส้นเลือดที่เหมาะจะให้ยา รวมถึงดูข้อมูลอื่นในฟอร์มปรอทด้วย เช่นการขับถ่าย
อย่างเคสที่คนไข้ได้ Calcium polystyrene sulfonate เพื่อแก้โพแทสเซียม (K) ในเลือดสูง เพราะถ้าไม่ถ่าย K มันจะไม่ลง แล้วถ้าอุดตันลำไส้ขึ้นมา สามารถเกิด bowel necrosis (เนื้อเยื่อลำไส้ตาย) ได้ด้วย
อย่างที่เคยเจอก็จะมีหมอให้ยานี้ 36 ซองในช่วง 2 ทุ่มถึงแปดโมงเช้าโดยเหน็บทางทวารหนัก ซึ่งผมเห็นคำสั่งช่วงกลางคืน พอเช้าวันถัดมาผมมาราวด์เห็นว่ายังไม่ถ่าย ก็ต้องให้พยาบาลโทรแจ้งหมอที่สั่งยาว่าคนไข้ยังไม่ถ่าย K เลยไม่ลง คงต้องแก้ตรงนี้ก่อนสั่งยาเดิมซ้ำ
พยาบาลที่อยู่ในห้องความดันลบเข้าไปดูทวารหนักคนไข้ เห็นว่ายาแข็งเป็นก้อนที่ทวารหนัก อย่างนี้ก็จำเป็นต้องให้ยาระบาย แต่ก็ต้องเลือกยาระบายที่เป็นน้ำเพื่อจะไปละลายยาที่แข็งเป็นก้อน กรณีนี้ใช้ fleet enema (การสวนทวารด้วยน้ำยาสาเร็จรูป) หรือ SSE (Soap suds enema :น้ำสบู่) ก็ได้ การใช้ยาระบายเม็ดคงไม่เหมาะสม
อันนี้ก็เป็นลักษณะของการติดตามผลลัพธ์ของยา ป้องกันและแก้ไขผลไม่พึงประสงค์จากยา
5. Drug Information Service (DIS) ตอบคำถามเรื่องยาและอาหารทางการแพทย์
6. Nutrition in Critical Care ประเมิน nutrition status ของคนไข้และการเลือกใช้ enteral nutrition (การให้อาหารเหลวทางสายยาง; EN) และ parenteral nutrition (การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ; PN) ถ้ามีใช้ PN ต้องระวังเป็นพิเศษเรื่องความไม่เข้ากันของยากับอาหารทางหลอดเลือดดำ
7. Stress Ulcer Prophylaxis การป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหาร
8. DVT Prophylaxis การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
9. Therapeutic Drug Monitoring (TDM) การติดตามระดับยาในเลือดและปรับเปลี่ยน dose ยาให้เหมาะสมกับคนไข้นั้นๆ
10. Drug Indentification การพิสูจน์อัตลักษณ์ยา
เหล่านี้คือเบื้องต้นที่นึกออกนะครับ
J: รายได้ต่างจากเภสัชกรประจำห้องยามั้ยครับ
P: ข้อนี้ไม่ทราบจริงๆ ครับ
J: ความยาก-ง่ายของงานนี้คืออะไร
P: คำว่า "ง่าย" ไม่เคยมีอยู่ใน ICU ครับและ "สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่หน้าที่ของเรา ไม่ใช่การเห็นคนไข้จากไป แต่เป็นการเห็นครอบครัวคนไข้ต้องบอกลา"
J: 😭
P: มีอีกอันด้วยครับที่ผมทำ เขียนพวก Protocol (เกณฑ์วิธีการใช้) ยาสำหรับใช้ในไอซียู
J: นี่ว่าคนทั่วไปเค้าไม่รู้นะเนี่ยว่ามีเภสัชมาทำงานบน icu เพราะเห็นทำงานแบบเงียบ ๆ ปิดทองหลังพระกัน
P: มันไม่มีอะไรให้เล่ามากกว่าครับ แต่จริงๆ แก้ปัญหาทุกวัน มี challange ทุกวัน
J: ดิวกะหมอ พยาบาลยากป่ะครับ
P: แรก ๆ จะยากครับ แต่พอเค้ารู้ว่าเราคือใคร ทำอะไรได้บ้าง มันจะค่อยๆ ง่ายขึ้นเองครับ ใช้ผลงานพิสูจน์แทนคำพูด
J: ประสบการณ์จะทำให้เราเก่งขึ้น สินะ
P: แน่นอนครับ
J: เก่งและแกร่งขึ้น Thumb up
P: พวกนี้มันเป็น clinical skill (ทักษะทางด้านคลินิก) ครับ อ่านตำราอย่างเดียวมันเกิดขึ้นไม่ได้ ต้องอาศัยตำรา+ของจริง
"ทำให้เค้ารู้สึกว่ามีเราแล้วงานง่ายขึ้น" หลักมันแค่นี้เองครับ มันเป็นงานคนละแบบกับห้องยาอย่างสิ้นเชิงครับ
J: ห้องยาต้องมือ ตา หู เร็วทุกอย่าง 555
P: แต่ไม่ได้หมายความว่างานห้องยามันจะไม่สำคัญนะครับ บริบทมันต่างกันแค่นั้นเอง
J: แม่นอีหลีครับสำคัญครับ เคยอยู่มาก่อน เหนื่อยแบบโคตร ๆ
P: แต่ผมไม่คิดว่าไอซียูเหมาะกับทุกคน
J: ไม่ใช่เราละ 1
P: บางคนได้อยู่วอร์ดปกติอาจจะโอเคกว่า
J: ทำไมถึงได้มาทำงานนี้
P: เพราะใจรักครับ
J: อนาคตแพลนไว้ว่าอย่างไรบ้างครับ
P: จะเข้าเรียน Critical Care Pharmacy Residency + Fellow 4 ปี และจะสอบ Board Certified Critical Care Pharmacy (BCCCP) ของอเมริกาครับ
J: ว้าวววว
J: เคสทีประทับใจที่สุด
P: ก็น่าจะเป็นเคสโควิดที่คนไข้รอดชีวิตกลับบ้าน แล้วกินยา home med (ยาที่ได้ไปตอนกลับบ้าน) ตัว steroid ผิดวิธี ได้ทำ telepharmacy เพื่อแก้ไข หลังจากนั้นคนไข้เอาของขวัญมาฝากทั้งแผนกครับ
J: เวลาเครียด ๆ มีวิธีผ่อนคลายยังไงครับ
P: ฟังเพลงบรรเลง ถ่ายรูป Astrophotography กับ Street photography ครับ
J: เฮ้ย สุดยอด
J: อยากฝากช่องทางเผลแพร่ผลงานมั้ยครับ
P: Instagram--> gymnaspixz
J: อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ เภสัชที่อยากมาทำงานบน ICU ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
P: ต้องรักที่จะเรียนรู้ครับ เพราะจะมี challenge ใหม่ ๆ ทุกวันและที่สำคัญต้องจำสองหลักการนี้ไว้เสมอครับ "clinician ต้องประเมินได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นการรักษาคนไข้หรือเป็นการยืดความตายออกไป" และ "เราช่วยทุกคนไม่ได้" ครับ
#เภสัชกร #เภสัช #หมอยา #หมอยาพาเพลิน
โฆษณา