Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
24 ธ.ค. 2021 เวลา 00:00 • หนังสือ
ชายวัยสามสิบห้าคนหนึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ไม่สนใจจะออกไปหารังใหม่ เมื่อเขาคบหากับสาวใด ถ้าอยากจะเลิก ก็แค่พาไปที่บ้านเขาเท่านั้น สาวเห็นว่าอายุขนาดนี้แล้วยังอยู่กับพ่อแม่ ก็มักหนีหายไปเอง
ไม่มีหญิงสาวใดอยากแต่งงานกับ ‘เด็กแหง่’ ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่
1
ในที่สุดพ่อกับแม่ก็หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยรักษาลูก ให้ย้ายออกไปสักที ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้หญิงสาวสวย เธอเชื่อว่าเขาต้องมีจุดปิดปกติ แต่ผิดหมด เขาเป็นคนปกติ มีงานดี มีความสุข รักษากันไปรักษากันมา ในที่สุดทั้งสองก็รักกัน และในตอนท้ายเขาก็บินออกจากรัง
4
นี่คือพล็อตหนังโรแมนติก คอเมดี เรื่อง Failure to Launch
คำว่า launch โดยปกติหมายถึงการเริ่ม เช่น ปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก ปล่อยจรวดขึ้นฟ้า การเริ่มโครงการต่างๆ
2
แต่ launch ใน Failure to Launch หมายถึงการเปลี่ยนจากวัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ หรือการบินออกจากรัง
2
Failure to Launch หมายถึงคนหนุ่มสาวที่ประสบความยุ่งยากในการปรับตัวแปลงเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบ เอกเทศ และยืนหยัดด้วยตัวเองได้
2
Failure to Launch ในโลกของความจริงอาจซับซ้อนกว่าหนังมาก
1
ไม่นานมานี้มีข่าวว่า พ่อแม่คู่หนึ่งที่นิวยอร์กต้องพึ่งศาลให้ขับลูกชายของตนออกจากบ้าน ลูกชายคนนี้อายุสามสิบแล้ว อยู่กับพ่อแม่ ไม่ทำมาหากิน เกาะพ่อแม่อยู่ ไม่เอาถ่าน
2
ศาลก็สั่งให้ชายหนุ่มย้ายออกจากบ้านไป
ปกติเป็นธรรมเนียมฝรั่งที่พอลูกโต ก็รู้กันว่าต้องออกไปสร้างรังเอง กรณีอายุถึงสามสิบยังอยู่กับพ่อแม่ถือว่าแปลกจากค่านิยม แต่ไม่ผิดปกติมาก เพราะมีกรณีแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
โลกทางตะวันออกอาจไม่ค่อยคิดว่าเรื่องนี้ผิดปกติเท่าไร หลายครอบครัวอยู่ด้วยกันหลายรุ่นในบ้านหลังเดียวกัน ช่วยกันทำมาหากิน ทว่านี่เป็นคนละประเด็นกับ Failure to Launch ในบริบทนี้ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่เปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่
1
แต่ถ้าอยู่แล้วไม่ทำมากิน ยังให้พ่อแม่เลี้ยงนี้ ไม่ว่าวัฒนธรรมไหนก็ถือว่าผิดปกติ
3
ฝรั่งก็คือฝรั่ง เมื่อมีปัญหาก็จัดการทำให้เป็นวิชาการทันที พวกเขานิยามอาการนี้ว่า Failure to Launch Syndrome
3
‘โรค’ Failure to Launch Syndrome เริ่มจะเป็นปัญหามากขึ้น มันสะท้อนหลายเรื่อง การเลี้ยงดู ความสามารถ ความรับผิดชอบ ปมด้อย ฯลฯ
1
ถ้าเราดูวิธีการ ‘launch’ ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ จะพบว่าหนักหน่วงกว่าของมนุษย์หลายเท่า
2
สัตว์บางชนิดทิ้งลูกทันทีที่ลูกลืมตาดูโลก
4
การเอาตัวรอดในป่าต้องไว สัตว์ที่เชื่องช้ามักถูกจับกินเป็นอาหาร พ่อแม่สัตว์ไม่ดูแลลูกสัตว์นานเกินจำเป็น สัญชาตญาณจะทำให้ลูกเอาตัวรอดเอง ยิ่งเลี้ยงนาน ยิ่งไม่ดีต่อลูก ต่างจากมนุษย์ที่ใช้เวลานาน
3
ลูกนกทุกตัวต้องออกจากรัง ไปสร้างครอบครัวใหม่ พ่อแม่นกจะสอนวิธีบิน วิธีหาอาหาร แล้วก็ปล่อยให้ลูกไปตามทางของมัน
3
สมองมนุษย์เราซับซ้อนมาก ต้องใช้เวลาหลายปีพัฒนา ธรรมชาติจึงสร้างให้คลอดเด็กออกมาก่อน แล้วพัฒนาต่อข้างนอก ธรรมชาติจึงสร้างยีน ‘บังคับ’ ให้พ่อแม่ดูแลลูก
2
เด็กเรียนรู้การตัดสินใจ วิธีคิด ทักษะ ความรู้ เรียนรู้เรื่องเพศ การเข้ากลุ่ม การสมาคม หลังจากนั้นก็ต้องบินเอง
2
โลกของผู้ใหญ่ที่ซับซ้อนอาจดูน่ากลัวสำหรับเด็กบางคน จะทำงานอะไร? จะเรียนต่อไหม? ที่ไหน? เรียนอะไร? ถ้าไม่เรียนจะทำอะไร? น่าปวดหัว
3
บางทีโลกของเด็กสบายมากและมีความสุขจนไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่
3
จะว่าไปแล้ว Failure to Launch ก็คือสถานการณ์ไม่ยอมออกจาก ‘comfort zone’ (พื้นที่ปลอดภัย) นั่นเอง
1
ลองถามผู้ใหญ่ในวันนี้ดูว่า ชีวิตช่วงไหนมีความสุขที่สุด จำนวนมากตอบว่า วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต ไม่มีความเครียด ทุกอย่างมีผู้ใหญ่จัดการให้ มีคนปกป้องดูแล บางทีการเป็นเด็กไม่รู้จักโตก็เป็นผลจากการไม่อยากออกจากพื้นที่ปลอดภัยนั่นเอง
3
บางครั้ง Failure to Launch ก็เกิดมาจากพ่อแม่เอง
โลกสมัยนี้พ่อแม่อาจกลัวว่าลูกจะลำบาก จนสร้างลูกให้ไม่รู้จักความลำบาก ซึ่งทำร้ายลูกเอง กลายเป็นเด็กไม่รู้จักโต เพราะไม่เคยเรียนรู้ ไม่เคยตัดสินใจเอง
1
ถ้าเลี้ยงลูกก็ต้องระวังอย่าให้เป็น ‘ไข่ในหิน’ อย่าสร้างกรรมให้เด็กโดยประคบประหงมมากเกินไปจนเด็กต้องพึ่งพ่อแม่ไปตลอด จะเป็นกรรมของเด็ก
ปล่อยให้เขาโตเอง ตัดสินใจเองบ้าง สอนให้เด็กกล้าออกจาก comfort zone เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น จะเป็นเด็กแหง่ไปตลอดชีวิตไม่ได้
โชคดีที่การออกจาก comfort zone ไม่ใช่การส่งจรวดออกนอกโลก ‘launch’ พลาดก็ไม่ถึงตาย
2
ไม่ว่าเราจะเลือกสร้างรังเองหรือเลือกอยู่กับพ่อแม่ เราควรสามารถบินเดี่ยวอย่างเสรีและอิสระ ไปได้ทุกทิศทุกที่ทุกหนทาง
นี่ก็คืออิสรภาพที่แท้จริง
1
(ตีพิมพ์ครั้งแรก All ปีที่ 14 ฉบับ 02 / มิถุนายน 2562)
พ่อแม่
29 บันทึก
74
4
33
29
74
4
33
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย