17 ธ.ค. 2021 เวลา 01:18 • การเมือง
ใคร คือ ผู้ว่าฯ กทม. ขวัญใจของคุณ
ในประวัติศาสตร์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น 19 วาระนั้น มี 9 ครั้งที่ผู้ได้รับตำแหน่งมาจากการแต่งตั้ง และอีก 10 ครั้ง (7 คน) ที่ผู้เข้ารับตำแหน่งมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบการบริหารราชการกรุงเทพเป็นสำคัญ
📌 ยุคแรกหลังจากการที่กรุงเทพมหานครกลายเป็นเขตปกครองพิเศษ
หลังจากที่มีการปฏิรูปการบริหารเมืองหลวง จากระบบเทศบาลเหมือนกับจังหวัดอื่น มาเป็นองค์การบริหารใหม่ที่เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” นั้น ในช่วงเริ่มแรก ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตำแหน่งที่มาจากการการแต่งตั้ง
โดยมีนายชำนาญ ยุวบูรณ์ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ คนแรก โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2516 และได้ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลาเกือบ 300 วัน
ซึ่งแนวทางการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพก็ดำเนินสืบต่อมาอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยในช่วงที่มีระเบียบการแต่งตั้งในยุคแรกนี้ ก็มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับการแต่งตั้งอีก 3 ท่าน นั่นคือ
  • 1.
    นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2516 - 4 มิถุนายน 2517
  • 2.
    นายศิริ สันตะบุตร ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2517-13 มีนาคม 2518
  • 3.
    นายสาย หุตะเจริญ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พฤษาคม 2518 - 9 สิงหาคม 2518
ก่อนที่ต่อมา พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ได้ถูกประกาศใช้ออกมา โดยมีใจความสำคัญส่วนหนึ่ง กำหนดให้ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้รูปแบบการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไป
1
ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ถือเป็นหนึ่งในข้อกฎหมายที่ตราขึ้น เพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ในมาตรา 16 ที่บัญญัติว่า การปกครองท้องถิ่นทุกระดับ รวมทั้งนครหลวง ให้มีสภาท้องถิ่น และผู้บริหาร หรือคณะผู้บริหารปกครองท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น จึงทำให้กรุงเทพมหานครต้องเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งดังกล่าวด้วย
📌 ผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก
โดยในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งแรก ผู้ที่ได้รับชัยชนะ ก็คือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนเสียง 99,247 คะแนน เอาชนะตัวเต็งอีกคนอย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ หัวหน้ากองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไป
อย่างไรก็ดี วาระการดำรงตำแหน่งของนายธรรมนูญ ก็คงอยู่ได้แค่ 1 ปีกว่าเท่านั้น เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายบริหาร (ผู้ว่าราชการกรุงเทพ) และฝ่ายนิติบัญญัติ (สภากรุงเทพ) ของกรุงเทพ ที่ต่างฝ่ายต่างถือว่าตนได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาเช่นกัน จึงไม่ยอมอ่อนข้อในแนวทางการบริหารต่อกัน
📌 ความขัดแย้ง ที่ทำให้กลับมาใช้รูปแบบการแต่งตั้งเป็นยุคที่สอง
1
จากความขัดแย้งข้างต้น ทำให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มีคำสั่งตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 ให้ยุบสภากรุงเทพมหานคร และปลดผู้ว่าการกรุงเทพในตอนนั้น และเปลี่ยนรูปแบบกลับมาใช้การแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแทนระบบเลือกตั้งอีกครั้ง
โดยมีผู้ว่าที่เข้ารับตำแหน่งในยุคนี้อีก 4 ท่านด้วยกัน คือ
  • 1.
    นายชลอ ธรรมศิริ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2520 - 14 พฤษภาคม 2522
  • 2.
    นายเชาวน์วัศ สุดลาภา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2522 - 16 เมษายน 2524
  • 3.
    พลเรือเอกเทียม มกรานนท์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 - 1 พฤศจิกายน 2527
  • 4.
    นายอาษา เมฆสวรรค์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2527 - 13 พฤศจิกายน 2528
1
ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบ ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้ผู้ว่ากรุงเทพต้องมาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง นับเป็นเวลา 10 ปีถัดจากพระราชบัญญัติเดิมในปี พ.ศ. 2518 ที่เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพครั้งแรกขึ้น
และรายละเอียดที่สำคัญในพระราชบัญญัติการบริหารราชการกรุงเทพมหานครฉบับใหม่นี้ ก็คือ การให้อิสระที่มากขึ้นกับกรุงเทพมหานครในการจัดการบริหาร และก็ยังได้แบ่งหน้าที่ของ ผู้ว่าฯ กทม. จากสภากรุงเทพออกอย่างชัดเจนมากขึ้น
แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังสามารถทำหน้าที่ถ่วงดุลกันได้ เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตอนปี พ.ศ. 2518 ที่นำมาสู่การยุบสภากรุงเทพและปลดผู้ว่าฯ กทม. ในตอนนั้น
📌 การเลือกตั้งครั้งที่สอง ที่ทำให้เกิด “ผู้ว่าสองวาระ”
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ในปีพ.ศ. 2528 ผู้ชนะในครั้งนั้น คือ พลตรี จำลอง ศรีเมือง จาก ‘กลุ่มรวมพลัง’ ได้รับคะแนนเสียง 408,237 คะแนน พร้อมทั้งอยู่จนครบวาระ 4 ปี แต่เส้นทางในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ของพลตรี จำลอง ศรีเมือง ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อท่านได้ทำการลงแข่งขันในสมัยต่อมาด้วย
และในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2533 ท่านก็ชนะการแข่งขัน สามารถครองใจคนกรุงได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ท่านลงแข่งขันในนามพรรคพลังธรรม ด้วยคะแนนเสียง 703,672 คะแนน ถือเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพสองวาระคนแรก อย่างไรก็ดี ในวาระที่สองนี้ ท่านไม่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ครบวาระ เนื่องจากท่านได้ทำการลาออกเพื่อไปลงเล่นการเมืองในระดับชาติ
แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา ผู้ชนะการเลือกตั้งก็ยังได้รับการสนับสนุนจากพลตรีจำลองอยู่ ท่านนั้นก็คือ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นรองผู้ว่าฯ ในสมัยของพลตรีจำลอง ก็ได้รับคะแนนเสียง 363,668 คะแนน
ทว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา ผู้ได้รับการเลือกตั้งได้เปลี่ยนมืออีกครั้งเป็น ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ซึ่งเคยแพ้การเลือกตั้งให้กับ ร.อ.กฤษฎา ในสมัยก่อนหน้า โดยชนะไปด้วยคะแนน 768,994 คะแนน
เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ดร.พิจิตต ได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็เพราะว่า ทางพลตรีจำลอง ศรีเมืองได้ทำการลงเลือกตั้งตัดคะแนนกับร.อ.กฤษฎาไปมากกว่าแสนคะแนนเสียง
ส่วนในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปีพ.ศ. 2543 “นายสมัคร สุนทรเวช” อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย ผู้ซึ่งในตอนนั้นเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองหลายตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรีคมนาคม และรัฐมนตรีมหาดไทย ก็สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ ด้วยคะแนนถล่มถลายเป็นหน้าประวัติการณ์ในตอนนั้น ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน และก็ได้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี
📌 ผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศ
หลังจากชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกในปีพ.ศ. 2518 พรรคประชาธิปัตย์ ต้องรอเวลากว่า 33 ปี กว่าที่จะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ในยุคของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้งสองวาระติดต่อกัน ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คะแนน ในปีพ.ศ. 2547 และ 991,018 คะแนน ในปีพ.ศ. 2551
อย่างไรก็ดี ท่านก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระที่สอง เพราะท่านลาออกหลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง
ในการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2552 ผู้ได้รับเลือกก็คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกด้วยคะแนน 934,602 คะแนน และท่านก็ได้รับเลือกอีกครั้งในปีพ.ศ. 2556
1
เกร็ดที่น่าสนใจของการเลือกตั้งปี 2556 ก็คือเป็นการเลือกตั้งที่มีสัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถึงร้อยละ 63.38 และก็เป็นการเลือกตั้งที่ผู้ได้รับเลือกได้คะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,256,349 คะแนน ทำลายสถิติของนายสมัคร สุนทรเวชลงไปได้
แสดงถึงการตื่นตัวทางการเมืองของคนกรุงเทพ ที่ต้องการมีส่วนร่วมใช้สิทธิของตัวเองมากขึ้น
1
และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ยังครองตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดด้วย เป็นระยะเวลา 6 ปี 202 วัน มากกว่าทั้งพลตรีจำลอง ศรีเมือง และผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง
📌 ผู้ว่าราชการกรุงเทพคนปัจจุบัน
หลังจากมีกระแสการทุจริตในสมัยที่ 2 ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ได้ทำให้นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งพลตำรวจอัศวิน ขวัญเมือง เข้ามารับตำแหน่งแทน
โดยท่านถือเป็นนายตำรวจคนแรกที่ได้รับเลือกเข้ามาสู่ตำแหน่งนี้ โดยท่านได้รับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นระยะเวลา 5 ปี 57 วัน โดยท่านก็จะดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามาแทนที่
ซึ่งก็คาดการณ์กันว่าจะมีการจัดเลือกตั้งได้ในช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. ปี 2565 หรือก็คือไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว ที่เราจะได้ทราบผลกันว่า หนึ่งในตำแหน่งที่สำคัญในการบริหารเมืองหลวงของไทยจะเป็นใคร
#ผู้ว่าฯกทม #กรุงเทพมหานคร
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ :
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ (นายธรรมนูญ เทียนเงิน)
- วันนี้ในอดีต - On This Day : by Ton Tottenham Facebook Page (พลตรี จำลอง ศรีเมือง)
- Wikipedia (ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา และ ดร.พิจิตต รัตตกุล)
- Oknation (นายสมัคร สุนทรเวช)
- ผู้จัดการออนไลน์ (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร)
- สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง)
โฆษณา