19 ธ.ค. 2021 เวลา 01:30 • สุขภาพ
หลอดเลือดดี ชีวีเป็นสุข
หลอดเลือดแดงแข็ง เป็นโรคแห่งความเสื่อมที่ยอดฮิต ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หมายถึงภาวะที่มีตะกรันของไขมันไปเกาะจับที่เยื่อบุภายในของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทีละน้อยๆ และค่อยๆ หนาตัวขึ้น ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งและรูของหลอดเลือดแดงตีบแคบมากขึ้นเป็นลำดับ กินเวลานับ 5-10 ปีหรือสิบๆ ปีขึ้นไป รูหลอดเลือดแดงนั้นก็จะตีบตัน เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลงมาก ทำให้อวัยวะที่หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดโรคต่างๆ ขึ้น ที่สำคัญ คือ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง
- หากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ก็จะกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บจุกที่ยอดอก (ลิ้นปี่) และร้าวขึ้นคอ ขากรรไกรหรือต้นแขน และถ้าเกิดมีเกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ก็จะมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หัวใจวายกะทันหัน เรียกว่า “โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายเฉียบพลัน
- หากหลอดเลือดสมองตีบตัน จะทำให้กลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ (แขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงชั่วคราว) ความจำเสื่อม วิงเวียนเห็นบ้านหมุน และถ้าเกิดมีเกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ก็จะมีอาการเป็นโรคลมอัมพาตเฉียบพลัน ซึ่งทำให้พิการ หรือเสียชีวิตได้
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ที่สำคัญ คือ โรคเรื้อรังประจำตัว (เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ) พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด ขาดการออกกำลังกาย อารมณ์เครียด) และภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมหรือแก้ไขได้ นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ คือ พันธุกรรม และความเสื่อมตามสังขาร
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
1. พันธุกรรม มีญาติสายตรงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง ก่อนอายุ 55 ปี (ในญาติผู้ชาย) หรือ 65 ปี (ในญาติผู้หญิง)
2. ความเสื่อมตามสังขาร ผู้ชายอายุมากกว่า 55 ปี หรือผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี เสี่ยงต่อมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (มีตะกรันไขมันพอกที่เยื่อบุภายในผนังหลอดเลือด จนท่อตีบ)
3. มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน แล้วไม่ได้ดูแลรักษาอย่างจริงจัง หรือเป็นโดยไม่รู้ตัวมานานเพราะไม่เคยตรวจสุขภาพ
4. มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนมักเกิดจากการบริโภคเกิน และ/หรือขาดการออกกำลังกาย
5. มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อารมณ์เครียด* ดื่มสุราจัด** เสพยาบ้า (แอมเฟทามีน) หรือโคเคน**
หมายเหตุ *เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ **เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
1. ถ้ามีโรคเรื้อรังประจำตัว (ได้แก่ เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ) ควรหาทางควบคุมให้กลับสู่ภาวะปกติโดยการดูแลรักษาอย่างจริงจังตั้งแต่แรก
2. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้แก่ ดัชนีมวลกาย 18.5-23 และสัดส่วนเส้นรอบเอวต่อส่วนสูงไม่เกิน 0.5 (เช่น สูง 160 ซม. เส้นรอบเอว (วัดผ่านสะดือ ขณะหายใจออก) ไม่ควรเกิน 80 ซม.)
3. อย่าสูบบุหรี่ดื่มสุราจัด หรือเสพยาเสพติด
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
5. บริโภคอาหารให้เหมาะสม ตามหลัก “ธงโภชนาการ” (ภาพประกอบ)โดยเน้นกินผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่วต่างๆ ปลา ลดเนื้อแดง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ
6. หาทางจัดการและป้องกันความเครียด
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดมีอยู่ในหมู่คนทั่วไป ดังนั้นโรคที่เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (ที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคอัมพาต) จึงเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย การพิการ และการตายของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนวัยกลางคนขึ้นไป และในคนที่เป็นเบาหวานหรือความดันเลือดสูง
โฆษณา