Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Navy24hour
•
ติดตาม
17 ธ.ค. 2021 เวลา 07:46 • ประวัติศาสตร์
๑๙ ธันวาคม วันประสูติ “องค์บิดาของทหารเรือไทย”
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มี พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๓ พระมารดาคือเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมในราชการที่ ๕ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีกองทัพเรือแข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้น
1
ทรงเครื่องแบบราชนาวีอังกฤษ
เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ พระบรมชนกนาถ เป็นยุคที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ มีความต้องการแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล จึงพากันออกแสวงหาอาณานิคมมาทางเอเชียด้วยเห็นว่ามีแรงงานที่อ่อนแอและง่ายต่อการปกครอง ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ด้วยพระวิจารณญาณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชวิเทโศบายสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติ ส่งผลให้ประเทศสยามในเวลานั้นรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม หนึ่งในพระราชวิเทโศบายนั้นคือการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจโดยการส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรป
ทรงเครื่องแบบนักเรียนทำการนายเรือ เมื่อมาเฝ้าสมเด็จพระชนกนาถ ที่เมืองเบงกอล พ.ศ.๒๔๔๐
เสด็จในกรมฯ นับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้เสด็จไปทรงศึกษาเกี่ยวกับวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริ “….กิจการทหารเรือไทยเท่าที่ได้เป็นอยู่ในขณะนั้น ต้องอาศัยชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาการเรือ และป้อม อยู่เป็นอันมากจึงไม่สู้จะมีความมั่นคงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากเหตุกาณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๖๓) เป็นตัวอย่างอันฉะนั้น จึงนับว่าเป็นพระราชดำริที่เหมาะสม ในการส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือในครั้งนี้…”
ซุ้มประตูโรงเรียนนายเรือแรกก่อตั้ง ณ พระราชวังเดิม
ภายหลังจากที่ เสด็จในกรมฯ ทรงสำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือให้ทันสมัย เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเป็นนายเรือที่มีความรู้ ความสามารถ เทียบได้กับ นายทหารเรือต่างประเทศ
ทรงฉายร่วมกับศิษย์ที่สำเร็จ การศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ แถวนั่ง ๑. พลเรือโท พระยาราชวังสัน ๒. กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ๓. พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร แถวยืน ๑.เรือโทตรุส บุนนาค ๒. นายเรือตรี ผู้ช่วย นายแนบ
พระองค์ทรงเปรียบประดุจองค์บิดาของทหารเรือไทย ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือ ทรงจัดทำแผนการทหารเรือ แผนการทัพเรือ ทรงประสิทธิ์ประสาทวิชาการทหารเรือ ทรงจัดการศึกษาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิถีและกระบวนรบทำให้กองทัพเรือมีความเข้มแข็ง มั่นคง มีประสิทธิภาพ และเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์มาจนทุกวันนี้
พระองค์ทรงกอปรด้วยพระคุณลักษณะของทหารเรือทุกประการ ทรงปลูกฝังวิญญาณทหารเรือไว้ในส่วนลึกของหัวใจให้ทหารเรือไทยทุกคนเป็นทหารเรืออย่างแท้จริง พระจริยวัตรที่ทรงแสดงออกจากน้ำพระทัยมิใช่อย่างข้ากับเจ้าหรือบ่าวกับนาย หากแต่เสมือนบิดากับบุตรเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจและเทิดทูนบูชาของทหารเรือทั้งหลายยิ่งนัก...
ในกาลต่อมา กองทัพเรือได้กำหนดให้วันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น “วันอาภากร” พร้อมกับเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานาม พระองค์ท่านเป็น “องค์บิดาของกองทัพเรือไทย” เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณของ พระองค์ท่านที่ได้ทรงพัฒนากิจการทหารเรือให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ มาตราบเท่าทุกวันนี้ และเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน กองทัพเรือได้จัดงานเนื่องในวันสำคัญนี้ เป็นประจำทุกปี พร้อมจัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. ๒๔๕๐
อ้างอิง ๑. พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์. “ทำไมทหารเรือจึงรักกรมหลวงชุมพรมาก” นาวิกศาสตร์. ปีที่ ๙๕ เล่มที่ ๑๒. ธันวาคม ๒๕๕๕.
๒. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. พระอุปนิสัยและพระจริยวัตร ในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์. ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับธันวาคม 2555
บันทึก
1
2
4
1
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย