18 ธ.ค. 2021 เวลา 09:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ดาวพฤหัสบดี ที่มาของวันพฤหัสบดี
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพเจ้ากรีก ได้แอบราชินีเฮรา (Hera) ไปหานางไม้ชื่อ คัลลิสโต (Callisto) จนมีลูกชายชื่อ อาร์คัส (Arcas)
ต่อมาเฮราได้ทราบเรื่องนี้ เฮราโกรธมากจึงสาปคัลลิสโตให้กลายเป็นหมี และคิดจะสาปอาร์คัสเช่นกัน แต่ซูสได้พาอาร์คัสไปซ่อน ช่วยให้อาร์คัสรอดพ้นจากการที่จะถูกเฮราสาป
ภาพประติมากรรมหินอ่อนซูส ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) ประเทศฝรั่งเศส
อาร์คัสได้เติบโตเป็นหนุ่มและกลายเป็นกษัตริย์ของเมืองอาร์เคเดีย (Arcadia) ในประเทศกรีซ และยังเป็นนายพรานที่เก่งที่สุดในอาร์เคเดีย
วันหนึ่งอาร์คัสเดินทางเข้าป่าล่าสัตว์ ได้เจอหมีตัวใหญ่ตัวหนึ่งเดินเข้ามาหา และยกแขนสองข้างทำท่าเหมือนจะกอด อาร์คัสจึงยกธนูขึ้นง้างเตรียมยิงป้องกันตัว โดยไม่รู้เลยว่าหมีตัวนั้นความจริงคือคัลลิสโตแม่ของตัวเองที่โดนสาป
ภาพวาดเทวรูปซูสที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ (Statue of Zeus at Olympia) สูง 13 เมตร เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ (Seven Wonders of the Ancient World) สร้างเมื่อ 435 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาถูกทำลายลงเนื่องจากไฟไหม้ใหญ่ในปี ค.ศ. 475 (พ.ศ. 1018) ปัจจุบันไม่เหลือซากเทวรูป ภาพวาดโดย Quatremère de Quincy นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2358
ซูสเห็นเหตุการณ์เข้าพอดี จึงรีบเสกให้หมีคัลลิสโตมีหางยาว (ปกติหมีมีหางสั้น) แล้วจับหางโยนขึ้นบนท้องฟ้า กลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)
เพื่อให้แม่กับลูกได้อยู่ด้วยกัน ซูสจึงเสกอาร์คัสให้กลายเป็นหมี แล้วให้อยู่บนท้องฟ้า เป็นกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor)
 
กลุ่มดาวหมีใหญ่และหมีเล็กต่างเคลื่อนที่วนหากัน โดยมีดาวเหนือ (Polaris) ตรงปลายหางกลุ่มดาวหมีเล็กเป็นจุดศูนย์กลาง
คนแต่ละชาติอาจเรียกดาวต่างกัน ตัวอย่างเช่น คนไทยเห็นดาวในกลุ่มดาวหมีใหญ่มีรูปร่างเหมือนจระเข้ จึงเรียกว่า “ดาวจระเข้” คนอเมริกันเรียกว่า “Big Dipper (กระบวยใหญ่)” ฯลฯ
คนโรมันเรียกเทพเจ้าซูสว่า จูปิเตอร์ (Jupiter) คำนี้ในภาษาอังกฤษแปลว่า “ดาวพฤหัสบดี” ที่มาของชื่อวันพฤหัสบดี
ภาษาอังกฤษ “วันพฤหัสบดี” คือ Thursday หมายถึง Thor’s Day วันของทอร์ เทพเจ้าแห่งสายฟ้าของชาวไวกิง (Viking) หรือชาวนอร์ส (Norse) ในสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ทางเหนือของทวีปยุโรป อาจเทียบได้กับซูสของกรีกหรือจูปิเตอร์ของโรมันที่มีสายฟ้าเป็นอาวุธ
ภาพดาวพฤหัสบดีจะเห็นจุดใหญ่และเส้นเข็มขัดเมฆ ถ่ายโดย กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เมื่อปี พ.ศ. 2557
ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ใหญ่กว่าโลก 11 เท่า หมุนรอบตัวเองเร็วมากใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง และหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลานาน 12 ปี
ลักษณะเป็นดาวแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียม เอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีคือ จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) เป็นพายุขนาดใหญ่กว่าโลก
มีดวงจันทร์เป็นบริวารมากถึง 79 ดวง กาลิเลโอ (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี เป็นคนแรกที่ส่องกล้องโทรทรรศน์ค้นพบดวงจันทร์ 4 ดวงใหญ่ ของดาวพฤหัสบดี
ภาพดวงจันทร์คัลลิสโต ถ่ายโดยยานอวกาศกาลิเลโอเมื่อปี พ.ศ. 2544
หนึ่งในดวงจันทร์ที่กาลิเลโอค้นพบได้รับการตั้งชื่อว่า “คัลลิสโต” ตามชื่อภรรยาน้อยของซูส
การค้นพบของกาลิเลโอเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้เปลี่ยนความเชื่อจากเดิมเชื่อกันว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดาวทุกดวงโคจรรอบโลก แต่กาลิเลโอพบว่าดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ไม่ได้โคจรรอบโลก ดังนั้นโลกจึงไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาลอีกต่อไป
ดาวพฤหัสบดีมีวงแหวนบาง ๆ ค้นพบครั้งแรกโดยยานอวกาศ Voyager 1เมื่อปี พ.ศ. 2522
ภาพจำลองท้องฟ้าวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05:00 น. โดยแอป Celestron SkyPortal แสดงให้เห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) และกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) ทางทิศเหนือ ในกลุ่มดาวหมีใหญ่จะเห็นกระบวยใหญ่ (Big Dipper) เส้นสีส้ม หรือคนไทยเรียกว่าดาวจระเข้
ยานอวกาศล่าสุดที่ไปสำรวจดาวพฤหัสบดีคือยานจูโน (Juno) ที่เดินทางถึงดาวพฤหัสบดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จูโนเป็นชื่อที่ชาวโรมันเรียกเฮรา มเหสีของซูส เปรียบเหมือนภรรยาไปส่องดูความลับของสามีที่แอบซ่อนไว้ใต้เมฆหนา
เราสามารถเห็นดาวพฤหัสบดีได้ด้วยตาเปล่าแม้ในเมืองที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ หรือถ้าใช้กล้องดูดาวกำลังขยายตั้งแต่ 20 เท่าขึ้นไปจะสามารถเห็นดวงจันทร์ 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดีที่กาลิเลโอค้นพบด้วย
โฆษณา