18 ธ.ค. 2021 เวลา 15:10 • ข่าวรอบโลก
"ส่องเวทีนางงามเกาหลี กับแนวคิด Real Size Beauty" เรื่องราวจากคอลัมน์ "เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า" บนแอป 2read
ยังคงอยู่ในช่วงควันหลงจากเวทีประกวดนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe ที่เพิ่งประกาศผลไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งสำหรับในปีนี้นั้น นอกจากการประกวดจะเป็นที่น่าจับตามองแล้ว กระแส Real Size Beauty ที่แอน ชิลี สก๊อต-เคมมิส หยิบยกขึ้นมาเป็นแคมเปญในการประกวดครั้งนี้ ก็ได้รับความนิยมและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็นกระแสทางสังคมและติดเทรนด์ทวิตมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง วันนี้คอลัมน์ เกาหลี Everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า เลยอยากถือโอกาสชวนคุณผู้อ่านย้ายเวทีจากการประกวดนางงามในบ้านเรา ไปเกาะขอบเวทีเกาหลี ดูที่มาและการประกวดของแดนกิมจิ รวมถึงส่องแนวคิดมาตรฐานความงาม หรือ Beauty Standard ของคนเกาหลีทั้งในอดีตและปัจจุบันกันค่ะ
ชุดว่ายน้ำวันพีชในการประกวด
พัฒนาการค่านิยมความงามในเกาหลี
โปสเตอร์โฆษณาการประกวดมิสโคเรียปีแรก
Miss Korea 1982 ( Park Sun Hee )
สำหรับเวทีประกวด Miss Korea ( 미스코리아 ) ในประเทศเกาหลีใต้นั้น ถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1957 ภายหลังการแบ่งเกาหลีออกเป็นเหนือกับใต้ได้เพียงแค่ 4 ปี การประกวดในยุคแรกยังไม่มีการถ่ายทอดออกอากาศทางโทรทัศน์ จนกระทั่งปี 1972 ที่อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารในเกาหลีใต้เริ่มพัฒนา รวมถึงทีวีจอสีเริ่มถูกผลิตและใช้กันอย่างแพร่หลาย การประกวด  Miss Korea จึงถูกเผยแพร่ออกอากาศสู่สาธารณะชนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Miss Korea 1989 (Oh Hyun-kyung)
การประกวดมิสเกาหลีช่วงปี 1960s
การประกวดมิสเกาหลีช่วงปี 1960s
นางงามเกาหลีในอดีตกับการประกวดชุดว่ายน้ำแบบวันพีช
ในส่วนของนิยาม “สาวงาม” ในสังคมเกาหลีใต้นั้น มีพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย เริ่มตั้งแต่ในช่วงยุคปี 1960-1970 ค่านิยมด้านความงามของเกาหลีใต้จะมีลักษณะที่เหมือนกันกับเกาหลีเหนือ คือนิยมผู้หญิงหน้าอิ่ม กลม หญิงงามคือหญิงที่มีใบหน้าราววงพระจันทร์และคิ้วโก่งบาง ส่วนหุ่นก็ต้องไม่ผอมแห้งจนเกินไป เน้นความมีเนื้อมีหนัง มีน้ำมีนวล
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุค 80 นิยามสาวงามในสังคมเกาหลีใต้เริ่มแตกต่างออกไปจากเกาหลีเหนือ คือมองว่าหน้าที่สวยคือหน้าที่เรียว ทรงผมที่นิยมทำกันมากในยุคนั้นคือทรงฟาร่าห์ หรือม้วนลอนใหญ่ ตีพอง มีกระบังหน้า (ถ้าใครนึกไม่ออก ให้นึกถึงทรงผมของคุณปุ๋ยภรณ์ทิพย์ที่ได้ตำแหน่ง Miss Universe ในปี 1988 ) จนกระทั่งเข้าสู่ยุคช่วงปี 90 ค่านิยมของสาวงามในเกาหลีใต้เริ่มจะใกล้เคียงกับยุคสมัยปัจจุบัน คือเน้นที่ความผอมเป็นหลัก นิยมผิวขาวมากกว่าผิวแทน หน้าต้องมีรูปไข่ คางแหลม จมูกโด่ง และเริ่มนิยมผู้หญิงตาโตหรือมีตาสองชั้น
Miss Korea 1999 (Kim Yeon Joo)
ตลาดนางงามกับที่ทางของ Miss Korea ในเกาหลีใต้
ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ตลาดวงการขาอ่อนในเกาหลีใต้ไม่บูมเท่าประเทศไทย ในที่นี้หมายถึง การประกวดเวทีนางงาม หรือ Miss Korea ในเกาหลีใต้ ไม่ได้ถูกพูดถึงมากเท่ากับ Miss Thailand Universe ของบ้านเรา หรืออาจพูดได้ว่า แทบจะไม่มีคนสนใจเลยด้วยซ้ำ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการประกวด การได้ตำแหน่ง ไปจนถึงการเดินทางไปเก็บตัวเพื่อแข่งขันในเวทีโลก สื่อต่างๆ ในเกาหลีใต้ แทบไม่เล่นข่าวนี้เลย สำหรับเส้นทางของผู้ที่ได้รับตำแหน่ง Miss Korea นั้น ภายหลังการประกวด ก็มักจะถูกชักชวนเข้าวงการบันเทิง เป็นนักแสดง หรือไม่ก็นางแบบ ผู้คนส่วนใหญ่ จะรู้จักและรับรู้ว่าคนนี้คืออดีต Miss Korea ที่ได้ตำแหน่ง ก็ต่อเมื่อได้มาเล่นซีรีส์หรือภาพยนตร์และแจ้งเกิดในวงการบันเทิงแล้ว
Miss Korea 2006 และรองอันดับ 3 Miss Universe  2007 ( Lee Hanee)
หากจะมีกระแสที่นับว่าโด่งดังและมีการกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ ก็คงจะเป็น “ลี ฮานี” ( 이하늬 ) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อของ “ฮันนี่ ลี” Miss Korea ปี 2006 ที่สามารถเข้าสู่รอบลึก ติด TOP 5 ของเวที Miss Universe ในปี 2007 และได้ครองตำแหน่งรองอันดับสามในปีนั้นได้สำเร็จ ซึ่งสุดท้าย เส้นทางของฮันนี่ลี ก็ไม่ต่างกับนางงามที่ได้ตำแหน่งในปีอื่นๆ คือผันตัวมาเป็นนักแสดงและยึดอาชีพนักแสดงเป็นหลักมาจนถึงปัจจุบัน
Real Size ที่ “ไม่” Beauty
หน้าผู้สมัครมีสโคเรียที่คล้ายกันมากในปี 2013
หากจำเรื่องราวในคอลัมน์ก่อนหน้านี้ ที่เคยแชร์ถึงการแข่งขันในการเรียนและการทำงานของคนเกาหลีได้ ว่าคนส่วนใหญ่ต่างพยายามอัพสกีลของตนเอง เช่นการเรียนต่างประเทศ อัพเลเวลด้านภาษาที่สองและสาม เพื่อให้มีคุณลักษณะที่โดดเด่นและถูกรับเลือกเข้าทำงาน “หน้าตาและความสวย” สำหรับสังคมเกาหลี ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างแรงกดดันให้กับผู้หญิงเกาหลีมาโดยตลอด เห็นได้ชัดเจนจากใบสมัครงานที่ต้องให้ผู้สมัครเพศหญิงระบุน้ำหนัก ส่วนสูง และติดรูปภาพประกอบใบสมัครที่ชัดเจน ซึ่งหากมีผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ แต่ต่างกันเพียงรูปร่างหน้าตา คนที่หน้าตาดีกว่า หุ่นดีกว่า ก็จะได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานก่อนเสมอ สิ่งนี้ถือเป็นเครื่องตอกย้ำค่านิยมการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ ซึ่งเป็นที่มาของค่านิยมการทำศัลยกรรมและทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีตลาดศัลยกรรมใหญ่ติดอันดับโลก
ป้ายโฆษณาศัลยกรรมในเกาหลี
ในส่วนของมาตรฐานความงามสำหรับชาวเกาหลี หากว่ากันตามจริงแล้ว อาจจะคับแคบและมีข้อจำกัดมากกว่าประเทศไทย เห็นได้จากภาพความงามที่ถูกนิยามในสังคม มักมีมาตรฐานเดียวกันหมด คือต้องผอม ขาว ตาโต คางแหลม ผิวดี และหน้าเรียว ประเด็นนี้เคยเป็นดราม่าที่ถูกพูดถึงอยากหนักในโลกออนไลน์ช่วงปี 2013 โดยมีชาวเน็ตแชร์ภาพผู้เข้าประกวด Miss Korea จำนวน 20 คนในปีนั้น ซึ่งมีหน้าตาแทบจะเหมือนโคลนกันออกมา จนถึงขนาดมีคนเล่นมุกว่า เป็นเพราะสาวๆ เหล่านั้นทำหน้ามาจากหมอคนเดียวกัน
จากสถิติของงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย บริติชโคลัมเบีย ( The University of British Columbia ) ได้รายงานว่า 68.3 % ของผู้หญิงเกาหลี ใช้โปรแกรมแต่งรูปของตนเองเพื่อใช้ในการสมัครงาน และ 28.5% ตัดสินใจทำศัลยกรรมเพื่อให้ได้งานทำ นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนมัธยม ที่หลายๆ ครั้งมีผลมาจากเรื่องของรูปร่างหน้าตาที่ไม่เข้าเกณฑ์สังคม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นภาพสะท้อนของปัญหาการยอมรับในนิยามความงามที่จำกัด และ Real Size Beauty ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลีใต้
ในมุมความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง แม้ปีนี้ประเทศไทยจะไม่มีโอกาสเข้าสู่รอบลึกๆ ในเวที Miss Universe อย่างที่คาดหวังไว้ แต่สำหรับแคมเปญ Real Size Beauty ที่น้องแอน ชิลี สก๊อต-เคมมิส พยายามที่จะสื่อสารออกไป ก็นับว่าประสบความสำเร็จ และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมได้ไม่น้อยเลย ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เหมือนเป็นไฟดวงเล็กๆ ที่ถูกจุดขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามกับสังคม และดันกรอบที่คับแคบแบบเดิมๆ ให้กว้างขึ้น
เพราะความงามคือสิ่งปัจเจก อยู่ที่มุมมอง และไม่ควรมีใครที่ต้องถูกทำร้ายด้วยคำพูดหรือการกระทำ เพียงเพราะตัวเองแตกต่างจากคนอื่น
เรื่องโดย ธัญญ์พิศา กิ๊ฟ
อ้างอิงข้อมูล
ภาพประกอบ
โฆษณา