18 ธ.ค. 2021 เวลา 09:34 • กีฬา
อีกด้านของตำนาน : เลฟ ยาชิน ในฐานะภาพสะท้อนยุครุ่งเรือง และจุดแตกดับของสหภาพโซเวียต | Main Stand
มีคำกล่าวเอาไว้ว่า ชีวิตของ เลฟ ยาชิน มีเพียงสามอย่างเท่านั้นที่สำคัญกับเขา นั่นคือ "บทบาทผู้รักษาประตู, ดินาโม มอสโก และสหภาพโซเวียต"
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก เลฟ ยาชิน คือตำนานผู้รักษาประตูชาวสหภาพโซเวียต เจ้าของฉายา "เจ้าปลาหมึกดำ" ในฐานะมือกาวคนเดียวที่คว้ารางวัลบัลลงดอร์ ผู้ที่ถูกกล่าวขานอยู่บ่อยครั้ง
แต่แง่มุมของเขาในฐานะผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดและใช้ชีวิตเพื่อตอบแทนมาตุภูมิ ตามแนวคิดที่ถูกปลูกฝังในสหภาพโซเวียต กลับเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงนัก ทั้งที่มันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้วัยรุ่นจิตป่วยที่สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 13 ปี ให้กลายเป็นตำนานในวงการลูกหนังอย่างทุกวันนี้
นี่คือเรื่องราวของ เลฟ ยาชิน ที่สะท้อนให้เห็นวันคืนที่สวยงามของสหภาพโซเวียต และลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก จนถึงวันที่ทุกอย่างล่มสลายอย่างน่าเศร้า ทั้ง สหภาพโซเวียต และตัวของยาชินเอง
เรียนรู้ความลำบากจากสงคราม
ก่อน เลฟ ยาชิน จะกลายเป็นผู้รักษาประตูระดับโลกและตำนานของดินาโม มอสโก เขาเป็นประชาชนชาวสหภาพโซเวียตโดยกำเนิด ซึ่งบรรดาแฟนฟุตบอลรุ่นหลังต่างเห็นตรงกันว่า ยาชิน คงไม่ประสบความสำเร็จในวงการลูกหนังขนาดนี้ หากเจ้าตัวเกิดในยุโรปตะวันตก และไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสหภาพโซเวียต
1
เลฟ ยาชิน ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1929 หรือ 7 ปีหลังการก่อตั้งสหภาพโซเวียต เขาเติบโตจากครอบครัวแรงงานในกรุงมอสโก สิ่งที่ยาชินมองเห็นมาตั้งแต่เด็กคือภาพของพ่อแม่ที่ทำงานอย่างหนักตามคำสั่งของรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสังคมคอมมิวนิสต์ เขาจึงเข้าใจความหมายของการทำงานหนักและการปฏิบัติตามหน้าที่อันได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี
Photo : prabook
เมื่ออายุได้ 12 ปี ครอบครัวของยาชินต้องเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัวในสหภาพโซเวียต เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันเดินทางมาประชิดกรุงมอสโกในปี 1941 จนมีระยะห่างจากเมืองหลวงของโซเวียตเพียง 70 กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นกองทัพนาซีเยอรมันได้ปิดล้อมนครเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในปัจจุบัน) ไว้เรียบร้อยแล้ว
ความหวาดกลัวได้แพร่กระจายไปทั่วกรุงมอสโก เพราะประชาชนที่ติดอยู่ในเลนินกราดต้องเจอกับความทุกข์ยากอย่างหนัก หลังกองทัพนาซีเยอรมันตัดเส้นทางส่งเสบียง ผู้คนจำนวน 750,000 คนเสียชีวิต ส่วนคนที่เหลือรอดต้องประทังชีวิตด้วยซุปเข็มขัดหนัง, จับหนูมาทำเป็นอาหาร หรือกินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน
ครอบครัวของยาชินไม่ยอมพบเจอชะตากรรมที่เลวร้ายแบบนั้น พวกเขาตัดสินใจเดินทางไกล 800 กิโลเมตร เพื่ออพยพไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอุลยานอฟสค์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงมอสโก ความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ยาชินเข้าใจความหมายของการทำงานหนักและการทุ่มเทชีวิตเพื่อสหภาพโซเวียต เพราะด้วยวัยเพียง 12 ปี เขาถูกเรียกตัวไปทำงานผลิตกระสุนปืน และใช้ชีวิตทั้งวันกับเครื่องจักรแทนที่จะเป็นสนามเด็กเล่น
Photo : footballhd
"เด็กหญิงและเด็กชายในยุคสมัยของผมต่างยืนเข้าแถวเพื่อรอรับขนมปัง ในหัวเฝ้าฝันถึงชัยชนะจากแนวหน้า ที่มาพร้อมกับน้ำตาลก้อนสักกำมือ พวกเราจำเป็นต้องเสียสละตั้งแต่ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่แท้จริงของคนรุ่นเรา" เลฟ ยาชิน บรรยายถึงชีวิตของเยาวชนโซเวียตในยุคสงคราม
ยาชินทำงานหนักไม่ต่างจากผู้ใหญ่คนอื่นในเมือง เขาต้องออกไปทำงานท่ามกลางหิมะ เขาต้องซ่อมดูแลเครื่องจักรในโรงงาน และบางครั้งต้องเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปรับอาหารจากหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีระยะห่างออกไป 12 กิโลเมตร ยาชินใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ 3 ปี ก่อนที่เขาจะได้เดินทางกลับกรุงมอสโกในปี 1944 หลังฝ่ายสัมพันธมิตรพลิกกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบและไล่ต้อนนาซีเยอรมันออกไปจากยุโรปตะวันออก
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง วัยรุ่นในโลกฝั่งตะวันตกได้ฝันถึงชีวิตอันเสรีอีกครั้ง แต่สำหรับวัยรุ่นในโลกตะวันออก เช่น ยาชิน กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่เขาก้าวเท้าเข้าสู่การทำงานในโรงงาน ชีวิตของพวกเขาก็เป็นของสหภาพโซเวียตไปแล้ว ที่ซึ่งการทำงานหนักและการอุทิศตนเพื่อมาตุภูมิ ถือเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จส่วนบุคคลทั้งมวล
"ในสงครามพวกเราได้รับประสบการณ์ที่คุณไม่สามารถเข้าคอร์สเรียนได้จากไหน พวกเราถูกสอนให้ทำงาน ไม่ใช่เพราะความหวาดกลัวหรือเพราะสัญญาจากการได้รับรางวัลใด แต่เป็นการทำงานเพื่อมโนธรรม และเป็นการทำงานอย่างหนักถึงที่สุด" ยาชิน กล่าวถึงสิ่งที่หล่อหลอมเขาขึ้นมาในวัยเด็ก
"เมื่อพวกเราลงแข่งขันเพื่อเหรียญรางวัลและเกียรติยศ เราไม่เคยคิดถึงเงินทองที่จะได้มาหลังคว้าชัยชนะ แต่เรามีความสุข เพียงเพราะเราได้โอกาสลงเล่นฟุตบอลเท่านั้นเอง"
สัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต
เมื่ออายุได้ 18 ปี ยาชิน ตัดสินใจเข้าทำงานในโรงงานผลิตเหล็กของรัฐบาล แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรเป็นชิ้นอัน เขาก็ถูกไล่ออกจากงาน เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ยาชินต้องพบเจอตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งนั่นทำให้เขากลายเป็นคนสูบบุหรี่จัดมาตั้งแต่เด็ก
สิ่งเดียวที่พอจะช่วยให้วัยรุ่นผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้างได้บ้าง คือเกมกีฬา ยาชิน ถือเป็นสมาชิกของทีมฟุตบอลและทีมฮอกกี้น้ำแข็งประจำโรงงานผลิตเหล็ก ซึ่งพรสวรรค์ในฐานะผู้รักษาประตูของยาชินเริ่มฉายแววออกมาในเวลานี้ จนเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาแนะนำให้เขาลองไปสมัครเล่นฟุตบอลให้แก่กองทัพ เผื่อจะประสบความสำเร็จในชีวิตบ้าง
ยาชินตอบรับคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งภายหลังเขาจะกล่าวถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็น "การไถ่บาป" เพราะในที่สุดแล้ววัยรุ่นผู้ป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตและแทบจะมองไม่เห็นอนาคตของตนในภายหน้า กลับเริ่มต้นชีวิตในฐานะผู้รักษาประตูของเกมฟุตบอล และได้ถูกเรียกตัวเข้าไปเล่นให้กับทีม "ดินาโม มอสโก" ทีมฟุตบอลประจำกรมตำรวจลับของสหภาพโซเวียต ด้วยวัย 20 ปี
นับจากวันนั้น ยาชิน พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นตำนานของโลกฟุตบอล เขาประสบความสำเร็จกับดินาโม มอสโก ด้วยการคว้าแชมป์ลีก 5 สมัย และฟุตบอลถ้วยอีก 3 สมัย นอกจากนี้ ยาชิน ยังกลายเป็นเจ้าของรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมแห่งยุโรป 9 สมัย และเป็นผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้ารางวัลบัลลงดอร์ ในปี 1963
"เลฟ ยาชิน คือผู้รักษาประตูชั้นหนึ่งและเป็นสุดยอดผู้รักษาประตูตัวจริง เขามีความเร็วที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับคนตัวใหญ่อย่างเขา เขายอดเยี่ยมมากจริง ๆ เขาเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ผมเคยเห็น เขาเป็นต้นแบบของผู้รักษาประตูในอีก 10 ถึง 15 ปีต่อมา ไม่ต้องสงสัยเลย" กอร์ดอน แบงค์ส ผู้รักษาประตูชาวอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 กล่าว
แต่เหตุผลที่ทำให้ เลฟ ยาชิน กลายเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งของโลก แต่เป็นเพราะเขาเป็นฮีโร่ของชาวโซเวียตทั้งปวง ยาชิน ลงสู้ศึกฟุตบอลโลกในนามสหภาพโซเวียตถึง 4 ครั้ง และมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สหภาพโซเวียตคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ ในปี 1956 และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปในปี 1960 ซึ่งถือเป็นสองความสำเร็จแรกของโซเวียตในวงการลูกหนังนานาชาติ
ความสำเร็จของยาชินในสีเสื้อ USSR ทำให้เขามีรูปปั้นมากมายในกรุงมอสโก ซึ่งมีสองรูปปั้นสำริดที่ถูกสร้างจากฝีมือของ อเล็กซานเดอร์ รูคาวิชนิคอฟ (Alexandr Rukavishnikov) ประติมากรชื่อดังชาวรัสเซีย ผู้อุทิศแรงกายแรงใจเพื่อสร้างรูปปั้นของยาชินแม้เขาจะไม่ใช่แฟนกีฬาฟุตบอลเลยก็ตาม
"เขาคือวีรบุรุษของชาติ ไม่ใช่เพราะความสำเร็จในกีฬาฟุตบอลของเขา แต่เป็นเพราะคาแร็กเตอร์ของเขาและความมหัศจรรย์ในแบบที่เขาเป็น" รูคาวิชนิคอฟ กล่าวชื่นชมตำนานผู้รักษาประตูชาวโซเวียต
เลฟ ยาชิน ตอบแทนมาตุภูมิของเขาจนถึงปี 1970 ก่อนจะแขวนถุงมือในวัย 41 ปี โดยไม่เคยลงเล่นให้กับสโมสรอื่นใดเลยนอกจากดินาโม มอสโก นี่คือความมุ่งมั่นและความจงรักภักดีต่อต้นสังกัดซึ่งเป็นสิ่งที่ยาชินเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก โดยน้อยคนนักจะรู้ว่าความทุ่มเทของเขาในการทำผลงานเพื่อตอบแทนบ้านเกิด เกือบจะทำให้เขาหันหลังให้กับวงการฟุตบอล
ย้อนกลับไปยังปี 1962 หรือสองปีหลังจากความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในฟุตบอลยูโร 1960 ยาชินตั้งความหวังไว้กับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศชิลีเป็นอย่างมาก แต่หลังจากแพ้ให้กับเจ้าภาพในการแข่งขันรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยสกอร์ 1-2 ยาชินเสียใจจนเกือบจะแขวนถุงมือและหันหลังให้กับฟุตบอลไปตลอดกาล หลังถูกสื่อมวลชนและแฟนบอลโจมตีว่าเขาเล่นไม่เต็มร้อยจนทีมเสียสองประตู
เหตุผลที่ยาชินก้าวผ่านความเลวร้ายในเวลานั้นมาได้ เป็นเพราะตลอดชีวิตเขาเชื่อมั่นว่า "การทำงานหนักจะนำมาซึ่งความสำเร็จ" มันคือสิ่งที่ผู้คนทั่วสหภาพโซเวียตเรียนรู้ และยาชินก็เช่นกัน เพราะในอีก 4 ปีถัดมาเขาแก้ตัวด้วยการพาสหภาพโซเวียตจบอันดับ 4 ของฟุตบอลโลก 1966 ยาชินจึงกลับมาเป็นฮีโร่ของชาติอีกครั้งหนึ่ง
"เขาคือผู้ชายที่ทำงานหนักและเป็นสัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต อันที่จริงในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตรุ่งเรืองนั้น หลายคนบอกว่ายาชินเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์เลยด้วยซ้ำ" มาริโอ อเลสซานโดร ผู้เขียนหนังสือ Yashin. The life of the goalkeeper กล่าว
เลฟ ยาชิน จึงเป็นมากกว่าผู้รักษาประตูระดับตำนานของโลกลูกหนัง แต่เป็นวีรบุรุษของชาวโซเวียต และถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลในสายตาของชาวต่างชาติ เพราะความรุ่งเรืองของสหภาพโซเวียตและยาชินดำเนินไปในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับวันที่สหภาพโซเวียตเสื่อมอำนาจลง ยาชินก็เจอกับความยากลำบากในช่วงท้ายของชีวิตเช่นเดียวกัน
 
วันสุดท้ายของวีรบุรุษ
ย้อนกลับไปยังปี 1957 สหภาพโซเวียต คือชาติแรกที่สามารถส่งดาวเทียมสู่วงโคจรรอบโลก และยังเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศสู่ดวงจันทร์ในปี 1959 ก่อนจะส่ง ยูริ กาการิน ให้เป็นมนุษย์คนแรกที่ออกไปใช้ชีวิตบนห้วงอวกาศ วินาทีนั้นไม่มีใครคิดว่าสหรัฐอเมริกาจะกลับมาแซงหน้าสหภาพโซเวียตได้อีก
4
แต่ในปีเดียวกับที่ เลฟ ยาชิน ตัดสินใจหันหลังให้กับวงการลูกหนัง สหภาพโซเวียตไม่ใช่มหาอำนาจของโลกอีกต่อไปแล้ว เศรษฐกิจของประเทศกำลังพังทลาย และผู้นำคนใหม่อย่าง เลโอนิด เบรจเนฟ กำลังพาโซเวียตเดินไปบนเส้นทางที่แตกต่างจากแนวคิดของ โจเซฟ สตาลิน นั่นคือการกลับมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นี่คือช่วงเวลาที่จิตวิญญาณของสหภาพโซเวียตเริ่มสูญสลาย
ข้ามมายังปี 1986 สหภาพโซเวียตกลายเป็นดินแดนต้องสาปในสายตาชาวโลก หลังเกิดเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขั้นร้ายแรงที่สร้างผลกระทบแก่ชีวิตคนราว 5 แสนคน ในปี 1989 ซึ่งเป็นอีกสามปีหลังเหตุการณ์ดังกล่าว กำแพงเบอร์ลินก็พังทลายลง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงจุดเริ่มต้นการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป
สหภาพโซเวียตกำลังมีชีวิตด้วยลมหายใจอันรวยริน เช่นเดียวกับ เลฟ ยาชิน เพราะในปี 1989 อดีตผู้รักษาประตูเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์แทบไม่เหลือสภาพวีรบุรุษของชาติ เขาต้องต่อสู้กับโรคร้ายมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลที่ตามมาจากการสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 13 ปี
ยาชินถูกตัดขาไปหนึ่งข้างในปี 1986 และเคยประสบเหตุหัวใจวายเฉียบพลัน 2 ครั้ง และเส้นโลหิตในสมองแตกอีก 2 ครั้ง นี่ยังไม่นับการต่อสู้กับโรคมะเร็งในช่องท้อง ซึ่งเป็นผลพวงจากการกินอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ยาชินต้องต่อสู้ในช่วงบั้นปลาย หรืออย่างน้อยที่สุดคือต้องทนอยู่กับมันด้วยตัวเอง
"ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ อำนาจทั้งหมดและความสำคัญของเขาต่อคนทั่วโลก ยาชินเสียชีวิตในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ผมรู้สึกเศร้ากับตัวเอง จนน้ำตาลเอ่อทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นผู้ชายที่น่าอัศจรรย์มากที่สุดคนหนึ่ง" อนาตอยลี คอร์ชูนอฟ (Anatoliy Korshunov) เพื่อนร่วมทีมดินาโม มอสโก กล่าวถึงยาชิน
เลฟ ยาชิน เสียชีวิตลงในปี 1990 ด้วยวัย 60 ปี เพียงหนึ่งปีก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เขาได้รับรางวัลสุดท้ายในฐานะฮีโร่ของชนชั้นกรรมาชีพ และเหรียญทองจากเกียรติยศนี้ยังถูกแขวนไว้ในบ้านภรรยาของยาชิน เพื่อระลึกถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสามีของเธอ
ทุกวันนี้ประเทศรัสเซียยังคงตามหา เลฟ ยาชิน คนใหม่ ผู้รักษาประตูสักคนที่จะพาดินแดนหมีขาวกลับสู่ความยิ่งใหญ่ในโลกลูกหนังได้อีกครั้ง แต่ด้วยสภาพสังคมที่แตกต่างออกไปจากสหภาพโซเวียต เราคงพูดได้เต็มปากว่าโลกคงไม่ได้เห็นใครสักคนที่เป็นเหมือน เลฟ ยาชิน อีกแล้ว
เพราะถ้าหาก เลฟ ยาชิน ไม่ได้เติบโตมาในสภาพสังคมของสหภาพโซเวียต เขาคงไม่ได้มีความแข็งแกร่งและไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานหนักเพื่อตอบแทนบ้านเกิดอย่างที่เราเห็นกัน ท้ายที่สุดแล้ว ยาชิน และ สหภาพโซเวียต ต่างมีจิตวิญญาณเดียวกัน นั่นคือการทำงานหนักเพื่อตอบแทนรัฐมากกว่าให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตน นี่จึงเป็นเหตุผลให้ เลฟ ยาชิน กลายเป็นความภูมิใจของสหภาพโซเวียตตราบจนทุกวันนี้
 
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา