25 ธ.ค. 2021 เวลา 10:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
"คนไทย" ติดอันดับโลก “ปรับตัว” การใช้และลงทุนสกุลเงิน "คริปโทฯ"
วันนี้กระแสการลงทุนเงินคริปโตเคอร์เรนซีในบ้านเราโตขึ้นไปอย่างน่าตกใจ คนรุ่นใหม่จำนวนมากนิยมลงทุนในตลาดนี้มากกว่าตลาดหุ้นหรือตลาดทุนอื่นๆ หลายคนจับจดแต่การขึ้นลงของเหรียญคริปโตฯ ต่างๆ เข้าไปในโซเชียลก็เห็นผู้คนโพสต์ถึงราคาและผลของการลงทุนเหล่านี้
บทความโดย ธนชาติ นุ่มนนท์
"คนไทย" ติดอันดับโลก “ปรับตัว” การใช้และลงทุนสกุลเงิน "คริปโทฯ"
ปัจจุบัน มีบทความและคลิปต่างๆ ออกมามากมายให้ศึกษาวิธีการลงทุนทั้งในเรื่องวิธีลงทุนในตลาดคริปโทฯ รวมถึงความรู้ทั้ง เหรียญคริปโทฯ และ DeFi (Decentralized finance) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเมืองไทยเป็นแหล่งรวมการลงทุนและความรู้ด้านคริปโทฯ ลำดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้
กระทั่งคิดไปว่า ใครไม่เข้าไปศึกษา หรือไม่เข้าไปลงทุนในตลาดนี้ อาจถูกมองไปว่าตามกระแสไม่ทัน เช่นเดียวกับช่วงตลาดหุ้นบูมก่อนวิกฤตต้มยำที่ขณะนั้นใครๆ ก็ต้องเล่นหุ้นแม้แต่นักศึกษามหาวิทยาลัย
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดในช่วงปี 2523 “แชร์แม่ชม้อย” แชร์ลูกโซ่ที่โด่งดังคนจำนวนมากนำเงินไปลงทุนในแชร์ที่อ้างว่าลงทุนในธุรกิจน้ำมัน ใครไม่เข้าไปลงทุนดูเหมือนตกกระแสไม่ทันสมัยตามไม่ทัน
ตลาดคริปโทฯ เป็นเรื่องใหม่ที่คนรู้สึกว่ากำลังมาเปลี่ยนระบบการเงิน เปลี่ยนสกุลเงินที่ไม่ต้องออกโดยธนาคารกลาง ยิ่งถ้าพูดถึงเรื่อง DeFi ก็เป็นหลักการที่ดีที่จะทำให้เกิดระบบการเงิน เช่น การแลกเปลี่ยนเงิน การกู้ยืม หรือการระดมทุนที่ไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างสถาบันการเงินรูปแบบเดิม
แต่เมื่อมาดูค่าเงินคริปโทฯ ที่ผันผวนมากจนเกินไป ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่า เงินสกุลคริปโทฯ อาจจะเหมาะกับการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล มากกว่าเป็นสกุลเงินที่จะนำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ แม้จะมีการทำการตลาดจากร้านค้าและบริษัทหลายแห่งว่า ยินดีที่จะรับเงินคริปโทฯ ในการชำระเงิน ตั้งแต่การไปซื้อกาแฟ ก๋วยเตี๋ยว จนไปถึงการซื้อคอนโด และรถยนต์ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าความเป็นจริงจะมีผู้คนมากเพียงใดที่จะเอาเงินคริปทฯ ไปชำระค่าสินค้าและบริการ เพราะราคามีความผันผวนสูง ผู้ชำระเงินหรือแม้แต่ร้านค้าที่รับเงิน อาจรู้สึกเสียดายในภายหลัง ยกเว้นว่าจะรับชำระเงินด้วยสกุลเงินคริปโตฯ ที่เป็น Stable coin อย่าง Tether (USDT) หรือ DAI ที่ผูกอยู่กับสกุลเงินดอลล่าร์ที่มีความเสถียร
1
กรณีตัวอย่างของบริษัทแห่งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ให้นำเงินคริปโตฯ สกุล JFin มาแลกซื้อสมาร์ทโฟนได้ โดยกำหนดราคาไว้ที่ราว 5,000 JFin Coin กับเครื่อง iPhone 12 หนึ่งเครื่อง หากใครนำเงินคริปโทฯ ไปแลกซื้อตอนนั้น แล้วมาเทียบราคาตอนนี้จะพบว่า วันนี้หนึ่งเหรียญ JFin อยู่ที่ประมาณ 100 บาท คงเสียดายมาก เพราะ วันนี้มีมูลค่าสูงถึงราว 5 แสนบาท และหากยิ่งไปดูค่าสกุลเงินที่ผันผวนสูงมากยิ่งน่าตกใจเพราะวันที่ 30 พฤศจิกายนขึ้นไปสูงถึง 189 บาท แล้วก็ตกลงมาในช่วงกลางคืนเกือบ 50% แสดงว่าถ้าร้านค้าใดรับเงิน
สกุลคริปโทฯ บางสกุลมาแล้วแลกเปลี่ยนไม่รวดเร็วพอ ก็อาจขาดทุนจากการขายก็เป็นไปได้ แม้สกุลเงินคริปโตฯ ส่วนใหญ่อาจยังไม่เหมาะในการใช้ชำระสินค้า แต่การออกข่าวว่าสกุลเงินได้รับการยอมรับจากที่ต่างๆ ก็สร้างความผันผวนต่อค่าเงินไปอย่างมาก เหมือนช่วงที่ Elon Musk เคยมาออกข่าวว่าบริษัทเขายินดีที่จะรับเงินคริปโทฯ ในการซื้อรถ Tesla แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เปลี่ยนใจไม่รับ ซึ่งก็มีผลทำให้ราคาในตลาดคริปโทฯ หลายๆ ตัว ขึ้นลงไปตามกระแสคำพูดของเขา
1
ตลาดคริปโทฯ ยังเป็นที่หอมหวนของคนที่อยากเข้าไปลงทุน แม้อาจไม่เข้าใจกลไกเศรษฐกิจที่แท้จริงว่า อะไรคือเหตุผลของการขึ้นลงของสกุลเงินเหล่านี้ก็ตาม มีรายงานล่าสุดของ Chainalysis ที่ศึกษาเรื่องการนำสกุลเงินคริปโทฯ มาใช้ทั่วโลก (The 2021 Geography of Cryptocurrency Report) ที่ออกมาเมื่อเดือน ตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่า ดัชนีการปรับตัวการใช้คริปโตฯ ทั่วโลกในไตรมาสสองปี 2021 นี้ สูงขึ้นถึงกว่า 881% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ข้อมูลในรายงานเป็นการนำเอาข้อมูลการซื้อในตลาดคริปโทฯ มาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงการทำธุรกรรมสกุลเงินคริปโทฯ ของผู้คนในประเทศต่างๆ 154 ประเทศ โดยนำเอาปริมาณเงินคริปโทฯ ที่ทำธุรกรรมหารด้วยกำลังการซื้อสินค้าและบริการของประชากรโดยเฉลี่ยแต่ละคน ซึ่งก็จะได้ค่าดัชนีระหว่าง 0-1 ถ้ามีค่าเป็นหนึ่งจะถือว่าอยู่สูงมาก
จากรายงานพบว่าเป็นประเทศที่มีดัชนีสูงสุดคือ เวียดนามซึ่งมีค่าเป็น 1 เต็ม รองลงมาคือ อินเดีย 0.37 และปากีสถาน 0.36 ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 ของโลกมีค่าดัชนีที่ 0.17 ที่น่าสังเกตคือ ประเทศที่มีดัชนีสูงๆ จะเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือมีความเสี่ยงทางการเงินสูง เช่น ยูเครน เคนย่า เวเนซูเวล่า และไนจีเรีย ส่วนสหรัฐอเมริกาและจีนที่เคยติดอันดับ 6 และ 4 ของโลกในปีที่แล้ว ปีนี้ตกลงมาเป็นที่ 8 และ 13 ตามลำดับ ทั้งนี้เพราะว่า ดัชนีด้านการแลกเปลี่ยนสกุลเงินแบบ P2P ต่อกำลังซื้อสินค้าต่อหัวและจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ตกลงมาอย่างมาก
3
นอกจากนี้ในปีนี้ Chainalysis ยังได้สำรวจดัชนีการปรับตัวและใช้ DeFii ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าเพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งผู้วิจัยมองว่า DeFi จะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมการเงินในรูปใหม่ โดยดัชนีวัดจากมูลค่าการทำธุรกรรมและปริมาณเงินที่ฝากเข้าไปในแพลตฟอร์ม DeFi ต่างๆ เทียบกับกำลังการซื้อสินค้าและบริการของประชากรในแต่ละประเทศ ซึ่งในรายงานพบว่า ประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกามีคะแนนเต็ม 1 ตามมาด้วย เวียดนาม 0.82 และประเทศไทยเป็นอันดับสามด้วยคะแนนที่ 0.68 ส่วนอันดับต้นๆ ประกอบด้วย จีน สหราชอาณาจักร อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา
ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าสกุลเงินคริปโทฯ เป็นการลงทุนที่จะโตในกลุ่มประเทศที่มองว่าเป็นตลาดใหม่และตลาดคริปโตฯ เป็นเครื่องมือในการลงทุนของประชาชนทั่วไป ส่วน DeFi จะเป็นแพลตฟอร์มในการทำธุรกรรมทางการเงินของประเทศที่มองว่าเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนโดยไม่ผ่านคนกลาง การประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม DeFi จึงมีดัชนีค่อนข้างสูงในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้แต่ในประเทศยุโรป แต่ขณะที่ประเทศเหล่านั้นจะมีดัชนีประยุกต์ใช้สกุลเงินคริปโทฯ ที่ค่อนข้างต่ำ
จากผลการสำรวจ ทำให้ประเมินได้ว่า ตลาดทุนคริปโทฯ ในบ้านเราก็คงยังจะโตต่อตามตลาดโลก โดยขอสรุปไว้ว่าตราบใดที่มีเงินใส่เข้าไปในระบบ ความผันผวนของตลาดก็เกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ผู้ลงทุนคงต้องศึกษาให้ดีว่าสกุลเงินต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างไร อ้างอิงกับหลักเศรษฐศาสตร์มากน้อยเพียงใด การลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งหากการลงทุนใดไม่ได้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริงยิ่งน่าเป็นห่วง อย่าเพียงแค่เข้าไปลงทุนตามกระแสหรือแฟชั่น และต้องคำนึงไว้เสมอว่า เงินที่ลงทุนไปกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอาจหมดไปเมื่อไรก็ได้จากความผันผวนของตลาด
1
โฆษณา