19 ธ.ค. 2021 เวลา 09:52 • สุขภาพ
“ความเครียด” … มีผลต่อ “ต่อมหมวกไต” … จริงหรือ ?
เมื่อ 2-3 เดือนก่อน เรามีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ปวดเนื้อตัวทั้งวัน ทุกวัน และปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลามไปปวดต้นคอขึ้นไปหัว มือกำไม่ได้ตอนตื่นนอน ปวดสะบักแขนยกไม่ขึ้น ปวดเข่าสะโพก เอวและหลัง ยิ่งบริเวณที่เคยเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ตรงนั้นยิ่งปวดมาก (~คือพูดง่ายๆ ว่าน่วมทั้งตัวอะค่ะ~) เลยตัดสินใจไปนวดกับหมอแผนไทย หลังนวดก็ดีขึ้นนิดหน่อย ผ่านไป 1 อาทิตย์ อาการก็กลับมาอีก คราวนี้ปวดหนักขึ้นจนทนไม่ไหว จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอพูดคุยซักประวัติ ทดลองกดตำแหน่งที่ปวด แนะนำให้ปรับพฤติกรรม เช่น ท่านั่งยืนนอน ท่ายกของ ฯลฯ และสั่งยาให้หลายขนาน หนึ่งในนั้น คือ “เพร็ดนิโซโลน” (Prednisolone)
ยา “เพร็ดนิโซโลน”
แค่อ่านชื่อยาเราก็ไม่รู้จักอยู่แล้วล่ะ (~ฮ่ะๆ~) แต่ที่ทำให้เราสนใจคือ แถบสีเขียวตรงฉลากยา ที่เขียนว่า “รักษาภาวะการทำงานของต่อมหมวกไต/รักษาภาวะอักเสบ” เลยสงสัยขึ้นมาว่าเจ้า “ต่อมหมวกไต” มันคืออะไร อยู่ตรงไหน และมีผลหรือเกี่ยวข้องยังงัยกับโรคที่เราเป็น เลยไปค้นเรื่องนี้มาอ่าน… เราถึงกับร้อง “โหวว” … เพราะไอ้ต่อมนี่ มันมีความสำคัญกับสุขภาพมากจริงๆ … ไปค่ะ เราไปทำความรู้จักเจ้าต่อมนี้พร้อมๆ กัน
ต่อมหมวกไต
ต่อมหมวกไต เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายหมวกทรงสามเหลี่ยม ตั้งอยู่ด้านบนไตทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญหลายชนิด
ต่อมหมวกไตส่วนนอก ทำหน้าที่ผลิต “ฮอร์โมนคอร์ติซอล” (Cortisol) หรือที่เรียกว่า “ฮอร์โมนเครียด” ที่ตอบสนองเมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะเครียดหรือภาวะฉุกเฉิน ช่วยควบคุมการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และยังผลิต “ฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน” (Aldosterone) ที่ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตด้วยการสร้างสมดุลของโพแทสเซียมและโซเดียมในร่างกาย
ต่อมหมวกไตส่วนใน ทำหน้าที่ผลิต “ฮอร์โมนอะดรีนาลีน” (Adrenaline) ที่ช่วยกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลาเพื่อให้พร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นสารสื่อประสาท และยังผลิต “ฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีน” (Noradrenaline) ที่มีหน้าที่คล้าย “อะดรีนาลีน” แต่ “นอร์อะดรีนาลีน” สามารถทำให้หลอดเลือดหดตัวซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
การทำงานของต่อมหมวกไตนั้นถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมองและบางส่วนของต่อมไร้ท่อ หากต่อมใต้สมองไม่สามารถควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมหมวกไตได้ หรือมีเนื้องอก (ทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็ง) เกิดขึ้นที่ต่อมหมวกไต จะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ และยังส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนในร่างกายขาดสมดุลและทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา
อาการเครียดเป็นประจำอาจมีสาเหตุจากต่อมหมวกไตทำงานลดลง จนเกิดภาวะต่อมหมวกไตอ่อนล้า และยังมีอาการที่ส่งสัญญาณเตือนว่า ต่อมหมวกไตของเรากำลังแย่ มีดังนี้
1. รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าจะได้นอนหลับอย่างเพียงพอในตอนกลางคืน หรือได้งีบหลับช่วงกลางวันแล้วก็ตาม เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย หลายคนจึงหันไปพึ่งสารคาเฟอีน เช่น การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังตลอดทั้งวัน เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่นั่นอาจทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าเดิม
2. ประจำเดือนผิดปกติ
มีอาการเหมือนวัยใกล้หมดประจำเดือน คือ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน หรือมีอาการก่อนมีประจำเดือนอย่างรุนแรง เช่น เต้านมคัด ท้องอืด ปวดท้องน้อย หงุดหงิด และผู้หญิงบางคนมีความต้องการทางเพศลดลง
3. ผิวหนังและเส้นผมมีปัญหา
บางครั้งอาจทำให้ผมร่วง เส้นผมบางและแห้งเสีย บางคนอาจมีสีผิวเปลี่ยนไป และใต้ตามีรอยดำคล้ำ รวมทั้งผิวแห้งด้วย
4. อยากกินอาหารเค็มจัดหรือหวานจัด มากจนผิดปกติ
เนื่องจากต่อมหมวกไตมีหน้าที่ผลิต “ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน” ซึ่งช่วยให้ไตควบคุมการขับถ่ายของเหลวและแร่ธาตุ เมื่อต่อมหมวกไตล้า ผลิตฮอร์โมนดังกล่าวน้อยลง ทำให้ไตขับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย อาทิ โซเดียม โปตัสเซียม และแมกนีเซียม ออกทางปัสสาวะมากเกินไป ส่งผลให้เกิดความอยากทานของเค็มและหวานจัด เช่น มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต เป็นต้น และยังมีอาการเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือบางครั้งน้ำหนักเพิ่มขึ้น
5. เจ็บป่วยบ่อย เพราะภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอ
ทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยขึ้น และเมื่อเป็นแล้วอาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติจึงจะหายป่วย ซึ่งภูมิคุ้มกันโรคที่อ่อนแอนี้คือหนึ่งในภัยร้ายแรงที่สุดของภาวะต่อมหมวกไตล้า
6. มีปัญหาความดันโลหิต
ภาวะต่อมหมวกไตล้า ไม่ได้แค่ทำให้ความดันโลหิตสูงเท่านั้น แต่มันอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำได้เช่นกัน ส่งผลให้รู้สึกมึนงงหรือวิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนท่าจากนั่งหรือนอนเพื่อยืนขึ้น
7. มีเรี่ยวแรงในตอนเย็น
ตื่นนอนตอนเช้าจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย ตลอดช่วงเช้าถึงบ่าย แต่พอช่วงเย็นถึงค่ำกลับรู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวแรงขึ้นทันที เป็นเพราะ “ฮอร์โมนคอร์ติซอล” ทำงานผิดปกติ
8. นอนไม่ค่อยหลับ
ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับยาก หรือหลับๆตื่นๆ ล้วนเป็นอาการของภาวะต่อมหมวกไตล้า แม้จะได้นอนหลับอย่างเพียงพอ แต่เมื่อตื่นนอนในตอนเช้าก็ยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ดี
9. รับมือกับความเครียดได้ไม่ดีนัก
หรือยากที่จะจัดการกับความเครียดต่างๆ ในแต่ละวันได้ ในบางคนอาจมีอาการตกใจกลัว หรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงร่วมด้วย
10. จิตใจสับสนและขาดสมาธิ
มีอาการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาเบื้องต้นไม่ค่อยได้ รวมถึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความจำระยะสั้น และความคิดชั่วแล่นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
11. เจ็บปวดเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ และมีหลายคนที่รู้สึกปวดครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายอาการเริ่มแรกของไข้หวัดใหญ่
12. อาการอื่นๆ
ได้แก่ หืดหอบ ภูมิแพ้ หายใจลำบาก น้ำตาลในเลือดต่ำ ปัสสาวะบ่อย ปวดหลังช่วงล่าง นิ้วมือชา หรืออ่อนเพลียอย่างหนักหลังการออกกำลังกาย ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะของภาวะต่อมหมวกไตอ่อนล้า
การดูแลสุขภาพของ “ต่อมหมวกไต” … ทำได้ไม่ยาก
ควรบริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ให้ได้ปริมาณสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งมีโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะ มีไขมันชนิดที่ดี มีคาร์โบไฮเดรต และอาหารจำพวกผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็น เช่น วิตามินซี วิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 5 และวิตามินบี 6 รวมถึงแมงกานีสที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
เวลาที่ “คอร์ติซอล” หลั่งเยอะๆ เราจะรู้สึกตื่นตัว เครียด กังวล ตื่นตระหนก มีอาการหัวใจเต้นแรง จึงไม่ควรกินอาหารและเครื่องดื่มที่ไปกระตุ้นอาการเหล่านี้ เช่น
แอลกอฮอล์
1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จะทำให้เกิดอาการลนมากขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่เต็มที่ ยิ่งงานเร่งด่วนที่มีแรงกดดันเยอะ ยิ่งไม่สามารถทำได้
2. เครื่องดื่มคาเฟอีน
หลายคนคร่ำเคร่งกับการงานทั้งวัน ยิ่งเครียดยิ่งดื่มกาแฟมาก เป็นการกระตุ้นปฏิกิริยาของร่างกายมากกว่าเดิม ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูง สมองและสายตาทำงานแย่ลง มีอาการลนมากกว่าเดิม นอกจากกาแฟแล้ว น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลังก็มีคาเฟอีนสูงเช่นเดียวกัน
น้ำอัดลม
3. ผงบีซีเอเอ (BCAA)
สำหรับเพิ่มกล้ามเนื้อ ผงเหล่านี้มักใส่คาเฟอีนในปริมาณสูงเพื่อให้น้ำตาลในเครื่องดื่มไปช่วยให้เกิดการสร้างกล้ามเนื้อ ถ้าดื่มในช่วงที่เกิดความเครียดมากกว่าปกติ ก็อาจจะทำให้ร่างกายพังได้
น้ำตาล
4. น้ำตาล
อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลเทียม เป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง เพราะน้ำตาลนั้นทำงานเชื่อมโยงกับอวัยวะหลายส่วน ช่วงที่เราเครียด สมองต้องหลั่งฮอร์โมนเยอะและมีภาวะอารมณ์แปรปรวนอยู่แล้ว การกินน้ำตาลเข้าไปอาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Sugar High) แต่สูงได้แค่ช่วงสั้นๆ ระดับน้ำตาลก็ตกลงอีกเมื่อไม่ได้กินเข้าไป จึงกลายเป็นภาวะน้ำตาลขึ้นๆ ลงๆ
เวลาเครียดเราจะรู้สึกอยากกินน้ำตาลเพิ่มขึ้น … จริงๆ แล้วร่างกายแค่ต้องการพลังงานจากอาหารชนิดใดก็ได้ เราอาจจะดื่มน้ำ กินข้าวโอ๊ต กินโปรตีน กินขนมแบบถั่วก็ได้
5. อาหารรสเค็ม
ต่อมหมวกไตมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอยู่ 3 ชนิด คือ ฮอร์โมนเครียด ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความดันเลือดซึ่งทำงานร่วมกับโซเดียม และฮอร์โมนเพศต่างๆ ถ้าเรากินเค็มมากๆ แล้วเกิดภาวะโซเดียมไม่สมดุลขึ้นมา ต่อมหมวกไตก็จะต้องหลั่งฮอร์โมนออกมาทำงานมากขึ้น และทำให้การทำงานยิ่งแย่ไปอีก
ควรเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันชนิดไม่ดี อาหารทอด อาหารแปรรูป และอาหารจานด่วน โดยทำควบคู่ไปกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
และควรไปหาหมอถ้ามีอาการที่บ่งบอกว่าต่อมหมวกไตมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น เวียนหัวเหนื่อยล้าอย่างมาก เหงื่อออกมากผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน อยากกินอาหารรสเค็ม ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีปื้นสีดำขึ้นตามผิวหนัง ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดกระดูก น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นต้น
ขอบคุณ ข้อมูลจาก :
mgronline.com (นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย เบญญา)
โฆษณา