20 ธ.ค. 2021 เวลา 14:54 • ปรัชญา
4 สิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย
"เพราะสิ่งสำคัญของชีวิต ไม่ได้มีแค่การแสวงหาความสุข และหลีกเลี่ยงความทุกข์"
หลังจากผมได้อ่านหนังสือ The Power of Meaning และได้ครุ่นคิดกับตัวเอง ก็พบว่าประโยคข้างต้นนั้นเป็นความจริง
มีอยู่การทดลองหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้เลยทีเดียว ก็คือการทดลองเพื่อเปรียบเทียบระหว่างความสุข กับความหมายของชีวิต
การทดลองนี้แบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้กลับไปใช้ชีวิตและจดบันทึกสิ่งที่ตนเองได้ทำในแต่ละวัน โดยกลุ่มหนึ่งถูกมอบหมายว่าให้ไปทำอะไรก็ได้ที่มี "ความสุข" และอีกกลุ่มหนึ่งถูกมอบหมายให้ไปทำอะไรที่มี "ความหมาย" เป็นระยะเวลาทั้งสิ้นหนึ่งเดือน
ความน่าสนใจของการทดลองนี้คือ
1. การทดลองจะชี้ให้เห็นว่าผู้คนเลือกที่จะทำอะไรบ้าง ที่ทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุข และ/หรือ มีความหมาย
2. หลังจากการทดลอง เราจะสามารถติดตามผลในระยะสั้น คือหลังจากเสร็จสิ้นการทดลองทันที และผลในระยะยาว คือเมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลาสามเดือนหลังเสร็จสิ้นการทดลอง เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นผลของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และ/หรือ มีความหมาย
เรามาดูกันที่ข้อแรกกันก่อน ผลการทดลองปรากฏว่าสำหรับกลุ่มที่ถูกมอบหมายให้ไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พวกเขาเลือกที่จะทำในสิ่งทั่วไปที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ก็คือการพักผ่อน สังสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนอน เล่นเกม กินขนม และซื้อข้าวของ
ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกมอบหมายให้ไปใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย คราวนี้พวกเขาเลือกทำในสิ่งที่แตกต่างไปอย่างมาก บางคนเลือกที่จะให้อภัยเพื่อนของตนเอง บางคนศึกษาหาความรู้ คิดถึงคุณค่าของใครสักคน ช่วยเหลือหรือให้กำลังใจผู้อื่น
เราเริ่มที่จะเห็นเส้นแบ่งระหว่างความสุข และความหมาย จากผลที่ได้ในข้อที่หนึ่งแล้ว ผมอยากให้ลองคิด ณ ตรงนี้ดูเล่น ๆ ว่าความสุข และความหมายของชีวิตของคุณคืออะไร และสิ่งที่คุณรู้สึกว่าทำให้ชีวิตมีความหมายนั้น มันคือสิ่งที่สร้างความสุขหรือเปล่า และทำไมมนุษย์เราถึงไม่เลือกทำแต่สิ่งที่ตนเองมีความสุขไปเสียเลย
เอาล่ะ คราวนี้เรามาดูผลที่เกิดขึ้นสำหรับข้อที่สอง คือผลกระทบที่ตามมาภายหลังเสร็จสิ้นการทดลอง เริ่มที่ผลกระทบในระยะสั้นก่อน ปรากฏว่าหลังจากเสร็จสิ้นการทดลองทันทีผู้เข้าร่วมการทดลองที่ไปทำสิ่งที่ตนเองมีความสุข เมื่อได้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาก็พบว่ามีความสุขมากขึ้นจริง ๆ บนพื้นฐานนิยามของความสุขแบบทั่วไปที่ใช้ประเมินกัน ในขณะที่กลุ่มที่ไปทำให้ชีวิตตนเองมีความหมาย ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนทำการทดลอง
แล้วผลในระยะยาวล่ะ หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองมาแล้วเป็นเวลาสามเดือน ปรากฏว่ากลุ่มความสุข โดยส่วนใหญ่แทบจะจำไม่ได้ว่าตัวเองได้ทำอะไรไปบ้างในช่วงการทดลอง หรือแม้แต่ได้เข้าร่วมการทดลองด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องของความสุขก็พบว่าไม่ได้มีความสุขที่ได้จากช่วงการทดลองหลงเหลืออยู่แล้ว
ส่วนกลุ่มความหมายนั้น ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มนี้จากการสัมภาษณ์มีความรู้สึกว่าชีวิตพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มีแรงบันดาลใจ และเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง นอกจากนั้นยังมีอารมณ์เชิงลบน้อยลง และสุขภาพจิตดีขึ้น
นั่นแสดงให้เห็นว่าชีวิตของมนุษย์ไม่ได้มีแค่การพยายามที่จะมีความสุข หรือหลีกเลี่ยงจากความทุกข์ แต่ยังมีเรื่องของความหมายของชีวิตมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ถูกกล่าวขึ้นมาลอย ๆ แต่มีทั้งนักปรัชญาโบราณมากมายในสมัยก่อน จนถึงนักจิตวิทยาในปัจจุบัน ได้ครุ่นคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้มายาวนาน
ดังนั้นเรามาดูกันครับว่าอะไรบ้างที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย
หนังสือเล่มนี้ได้แบ่งแก่นของความหมายออกเป็น 4 อย่างหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่
  • ความผูกพัน (Connections)
มีการทดลองพบว่าเด็กที่ได้รับความรักจากพ่อแม่ในช่วงตั้งแต่แรกเกิดมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตอยู่รอดเติบโตมากกว่า และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีกว่า
นอกจากนี้ ความผูกพันทั้งในรูปแบบใกล้ชิดอย่างครอบครัว เพื่อนสนิท และรูปแบบทั่วไปอย่างคนที่เราเจอแล้วพูดคุยระหว่างทาง หรือพนักงานขายของร้านที่เราแวะซื้อและพูดคุยด้วยเป็นประจำ ความผูกพันทั้งสองแบบนั้นล้วนมีความหมายต่อชีวิตเรา
ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือกรณีของพนักงานทำความสะอาดภายในโรงพยาบาล พบว่าในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนพนักงานทำความสะอาดบ่อยมาก แต่มีอยู่โรงพยาบาลหนึ่งที่พนักงานทำความสะอาดคนเดิม ทำงานอยู่ที่เดิมเป็นเวลานานมากและไม่คิดว่าจะย้ายไปที่อื่น เมื่อนักวิจัยลงไปสำรวจสอบถาม ก็พบว่าพนักงานคนนั้นในโรงพยาบาลแห่งนั้นรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ และเมื่อสอบถามไปมากกว่านั้นพบว่าในทุก ๆ วัน จะมีแพทย์ประจำโรงพยาบาลนั้นคอยทักทายพูดคุยอยู่เสมอ นั่นทำให้พนักงานคนนั้นรู้สึกมีตัวตนและเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยชีวิตผู้คน
ความผูกพันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ในระยะยาว เราได้มีความรู้สึกว่าเชื่อมโยงกับผู้อื่น และไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ยังมีผลการวิจัยที่ผมไปอ่านเพิ่มเติมอีกก็พบแนวโน้มที่น่าสนใจคือผู้คนที่มีอายุยืนยาวโดยส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดี และมีปัญหาภายในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดน้อยมาก
  • จุดมุ่งหมาย (Purposes)
ในชีวิตของเราแต่ละคน จะมีจุดเด่น อัตลักษณ์ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่คนที่รู้สึกมีจุดมุ่งหมายในชีวิต จะสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนเพื่อที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีความหมาย โดยที่จุดมุ่งหมายนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรเลย
ในหนังสือนี้ได้ยกตัวอย่างไว้หลายตัวอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือพนักงานดูแลสวนสัตว์คนหนึ่ง ซึ่งในแต่ละวันเขาต้องทำความสะอาดที่อยู่ ให้อาหาร และดูแลสัตว์ต่าง ๆ โดยที่ทำเหมือนเดิมซ้ำ ๆ ไปทุก ๆ วัน หลายคนอาจจะมองว่างานของเขาช่างน่าเบื่อ แต่พนักงานคนนั้นไม่คิดเช่นนั้น เพราะเขามีความหลงใหลในการดูแลสัตว์ต่าง ๆ เขาอยากให้พวกมันมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่เพียงแค่นั้น เขายังพยายามสร้างความตื่นเต้นในการใช้ชีวิตให้กับสัตว์พวกนั้น เช่น การนำอาหารไปซ่อนให้พวกมันหา เพราะเขากล่าวว่าสัตว์พวกนี้ยังมีสัญชาตญาณของการใช้ชีวิตในป่าอยู่ การที่พวกมันได้รับอาหารและที่อยู่อย่างเพรียบพร้อมไม่สามารถตอบสนองความรู้สึกภายในของพวกมันได้ ชีวิตของพวกมันจะน่าเบื่อ
มองกลับกันมาที่ชีวิตของพนักงานดูแลสวนสัตว์คนนั้น การที่เขาคิดอะไรใหม่ ๆ เพื่อให้ชีวิตของพวกสัตว์ไม่น่าเบื่อ ขณะเดียวกันก็ทำให้ชีวิตของเขาน่าตื่นเต้นขึ้นมาด้วยเช่นกัน การทุ่มเทให้กับเป้าหมายของตนเองไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ถือเป็นสิ่งที่สร้างความหมายให้กับชีวิตของเราได้ดีเลยทีเดียว
  • การเล่าเรื่อง (Story telling)
เรื่องราวชีวิตของแต่ละคนไม่ว่าจะเรื่องดีหรือร้าย บางทีเราอาจเคยครุ่นคิดว่าทำไมเหตุการณ์นู้น เหตุการณ์นี้ ถึงเกิดขึ้นกับตนเอง เรามักจะพยายามหาความหมายให้กับชีวิตเราเสมอ
การเล่าเรื่อง เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความหมายให้ชีวิตของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าให้คนคนหนึ่งฟัง เล่าให้คนมากมายฟัง เขียนบันทึกเรื่องราวของตนเอง ทุก ๆ รูปแบบล้วนเป็นการทำให้ตัวตนของเรานั้นถูกส่งผ่านไปให้ผู้อื่น และถูกจารึกอยู่บนโลกนี้ถึงแม้ว่าเราจะจากไปแล้วก็ตาม
แต่สิ่งที่ได้จากการเล่าเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือตอนก่อนที่เราจะเล่าเรื่องต่างหาก เพราะทุกครั้งที่เราจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตตนเองไม่ว่ารูปแบบไหน เราจะต้องทำการทบทวน เรียบเรียง เชื่อมโยงประติดประต่อเรื่องราวต่าง ๆ และนั่นเองที่ทำให้สมองของเรามีเรื่องราวที่ประติดประต่อแล้วอยู่ในหัว
ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเจอมาก็จะอยู่ในความทรงจำของเราแบบกระจัดกระจายไปหมด ซึ่งนั่นอาจทำให้เราคิดสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเราสามารถประติดประต่อเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เราจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจเรื่องราวของตนเองได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
  • การข้ามพ้นตัวตน (Transcendence)
หัวข้อนี้อาจจะดูไม่ตรงไปตรงมา และค่อนข้างนามธรรม สำหรับการข้ามพ้นตัวตนนั้นเป็นคำที่เรียกประสบการณ์ที่ทำให้เราข้ามพ้นและลืมตัวตนของเราไป
ตัวอย่างที่ผมชอบคือการดูดาว โดยส่วนตัวผมเคยมองขึ้นไปบนท้องฟ้าและคิดว่าข้างบนนั้นมันกว้างใหญ่แค่ไหน เราอยู่ตรงไหนของเอกภพ และมันก็ทำให้ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาชั่วขณะแบบที่อธิบายไม่ได้ ว่าตัวเราช่างเล็กเหลือเกิน การกระทำต่าง ๆ ที่เราทำอยู่บนโลก ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกับคนอื่น หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่าการประสบความสำเร็จในรูปแบบต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่
ในหนังสือได้กล่าวถึงนักบินอวกาศที่เมื่อมีประสบการณ์ขึ้นไปบนอวกาศและหันกลับมามองโลกอันเล็ก ๆ ของพวกเราที่มีชั้นบรรยากาศอันบอบบางเหมือนห่อพลาสติกใสหุ้มลูกบาสเก็ตบอล ซึ่งชีวิตของคนหลายพันล้านคน รวมถึงสิ่งมีชีวิตมหาศาล ต้องพึ่งพาอย่างเหนียวแน่นในการใช้ชีวิต เขาจึงเกิดความคิดที่จะอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเกิดความสงสารใส่ใจกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกมากขึ้น
หรือไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในพิธีกรรมทางศาสนา การเยี่ยมชมงานศิลปะ และอื่น ๆ อีกมากมาย ก็สามารถสร้างประสบการณ์ข้ามพ้นตัวตนได้เช่นกัน
โดยจะเห็นว่าประสบการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นแบบชั่วพริบตาขณะใดขณะหนึ่ง แต่มันสามารถส่งผลระยะยาว ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเล็กของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ลดอีโก้ของตัวเองลง และใส่ใจสิ่งรอบข้างมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการลดตัวเองให้เล็กลง เพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และนั่นแหละครับที่สร้างความหมายให้ชีวิตเรา
โดยสรุปคือความหมายของชีวิตมีแก่นหลักสี่อย่างคือ ความผูกพัน จุดมุ่งหมาย การเล่าเรื่อง และการข้ามพ้นตัวตน
ในหนังสือเล่มนี้ยังตบท้ายด้วยว่า เมื่อเรามีแก่นหลักสี่อย่างนี้ ไม่ว่าเราจะไปเจอเหตุการณ์ร้ายแรงที่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมาเกิดกับตนเอง ถ้าเรายึดหลักเหล่านี้ เราจะสามารถเปลี่ยนประสบการณ์เลวร้ายเหล่านั้นเป็นการเติบโตของเราได้
สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างมีความหมายนะครับ :)
ขอขอบคุณหนังสือ "The Power of Meaning อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย"
ผู้เขียน Emily Esfahani Smith
ผู้แปล อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา