20 ธ.ค. 2021 เวลา 03:38 • ไลฟ์สไตล์
❗แชร์ประสบการณ์ "สัญญา" แบบไหนเอาเปรียบนักเขียน
สวัสดีครับ.. เมื่อเร็วๆ นี้ผมเห็นข่าวเชิญชวนรับสมัครนักเขียนเว็บไซต์หนึ่ง เป็นกิจกรรมสไตล์ Showcase คือให้คุณส่งผลงานเข้าไปให้ทางทีมงานเขาคัดกรอง แล้วจะมีคณะกรรมการคอยให้คำแนะนำ แล้วเลือกผลงานขึ้นแสดงบนเว็บไซต์และ Platform อื่นๆ อีกที ส่วนเรื่องค่าลิขสิทธิ์ และค่าตอบแทน ผมลองอ่านในเงื่อนไขสัญญาทุกหน้า ไม่พบว่าจะจ่ายอย่างไร
1
จึงเป็นไอเดียให้เขียนบทความนี้ขึ้นมา
ในอดีตอาชีพ "นักเขียน" จะได้ค่าตอบแทน 2 แบบ คือในลักษณะค่าจ้าง และค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีลักษณะการจ่ายเงินแบบนี้อยู่ แต่มีรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น การใส่ Affiliated Link บนบทความเขียนรีวิวสินค้าใช้จริง หรือการจ้างเขียน Sponsor รูปแบบอื่นๆ
อาชีพ "นักเขียน" มีหลากหลายประเภท ส่วนที่ผมคลุกคลีรู้จัก ได้แก่
1. นักเขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร
ได้ค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างรายเดือน หรือตามงานรายชิ้น รวมลิขสิทธิ์การใช้รูปภาพ โดยปกติแล้ว กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยจะคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้เขียนจะเป็นของผู้เขียน 100% บริษัทเป็นเพียงผู้เช่าใช้บทความตามระยะเวลาที่กำหนด
💥 แต่ก็มีบางบริษัทที่จ้างนักเขียนเป็นรายเดือน ให้สวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน แต่ขอให้ไม่เปิดเผยชื่อ และขอเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหมด ไม่เหลือให้ผู้เขียน
💥 คำแนะนำสำหรับคนที่เจอกรณีแบบด้านบนนี้ คุณควรคำนวณความเหมาะสมของการทำงานว่าคุ้มค่าไหม งานบางงานถ้าเผยแพร่ผ่านบริษัทโดยไม่มีชื่อคุณเป็นผู้เขียนคุณรับได้ไหม และคุณได้ค่าตอบแทนคุ้มค่ารถ ค่าไฟหรือไม่
💥 ตัวอย่างลักษณะงานที่ไม่ซีเรียส เช่น เขียนคำโฆษณา ส่วนที่ซีเรียสคือบทสัมภาษณ์ หรืองานวรรณกรรมที่ควรให้เครดิตนักเขียน
2. นักเขียนวรรณกรรม (หนังสือ เรื่องสั้น นวนิยาย บทประพันธ์ ฯลฯ)
มีนักเขียนวรรณกรรมไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จ เมื่อก่อนเวลาได้ค่าตอบแทนจะคิดเป็นจำนวนประมาณ 10 - 30% ของราคาปก ต่อการพิมพ์หนึ่งครั้ง ต่อจำนวนเล่มที่พิมพ์
1
น้อยเล่มที่จะได้นำไปตีพิมพ์หลายๆ ครั้ง หรือได้สร้างเป็นบทภาพยนตร์​ซึ่งจะทำรายได้มากขึ้นถ้าได้เป็นหนังหรือละคร
💥 แต่เชื่อหรือไม่ว่า..​มีการจ่ายค่าตอบแทนที่นักเขียนเจ็บปวดเหมือนกัน เช่น เป็นการรวมกลุ่มนักเขียนหลายๆ คนให้ใช้ 1 นามปากการ่วมกัน เวลาจ่ายก็คิดค่าตอบแทนเป็นตอนๆ แล้วก็ไปหารตามราคาปก ต่อการพิมพ์ 1 ครั้ง ต่อจำนวนเล่มที่พิมพ์เช่นกัน แต่บางครั้งตัวสัญญาก็ระบุต่อการพิมพ์ 5 - 10 ปี จ่ายก้อนเดียว ที่เหลือสำนักพิมพ์ก็เก็บไปกินยาวๆ
💥 จากประสบการณ์ที่เห็นต้องเป็นนักเขียนดัง และมีชื่อ ถึงจะต่อรองค่าลิขสิทธิ์ได้
3. นักเขียน เขียนลงแอปฯ
สำหรับการเขียนลงแอปฯ ในส่วนนี้ขอเน้นแอปอย่างเดียว การเขียนขึ้นเว็บไซต์สามารถรวมวิธีการจ่ายแบบข้อ 1 หรือข้อ 2 ที่พูดมาข้างบน
แต่การเขียนลงแอปนี้ผมว่ามีความกดดันต่อนักเขียนหลายอย่าง อาทิ
💥 จ่ายตามจำนวนยอดวิว หรือ เหรียญ Coins ที่ได้รับ ... ถ้ามีคนอ่านเยอะๆ ก็เป็นค่าตอบแทนที่เหมาะสม แต่หากเป็นนักเขียนที่มีผู้เข้ามาอ่านบ้าง ไม่มาก ไม่น้อย ต้องต่อสู้กับการถูกนำเรื่องไปดัดแปลงละเมิดลิขสิทธิ์แบบไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ แล้วคนที่นำไปดัดแปลงก็ได้รายได้สูง บางแอปปกป้องนักเขียน บางแอปก็ไม่ปกป้อง ต้องดูสัญญาดีๆ
💥 มีการนำบทความไปตีพิมพ์ในรูปแบบอื่น แอปอื่นในเครือ ซึ่งส่วนนี้ไปเพิ่ม Content เพิ่มการเข้าใช้งานให้กับแอปของต้นสังกัด แต่นักเขียนไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติม (บางทีโชคดีได้แต่ชื่อ..) ถ้าเป็นเนื้อหางานเขียนเป็นตัวหนังสือไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่หากมีภาพถ่ายด้วย การถูกนำภาพถ่ายที่นักเขียนถ่ายเองไปใช้หลายๆ สื่อ ถือเป็นความเสียหายที่นักเขียนไม่ได้รับค่าตอบแทน
🤫 ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่อยากให้เพื่อนๆ กลัวการเอาเปรียบจนเกินไป บางแอป หรือบางบริษัทก็มีวิธีการจ่ายค่าตอบแทนและคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่คุ้มค่าต่อนักเขียน
แต่ปัจจุบันนี้ต้องบอกเลยว่า แอปใหญ่ๆ แอปใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก หากเรากระโจนตัวลงไปทุ่มเททำงานด้านนี้ โดยไม่อ่านสัญญาดีๆ จะเสียทั้งเวลาและความรู้สึกครับ
ขอบคุณที่แวะมาครับ
เขียนเมื่อ 19.12.2021
โฆษณา