20 ธ.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
รู้จัก เจ้าของพลาสเตอร์ปิดแผล Tigerplast ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ถ้าพูดถึงชื่อบริษัท “แจ๊กเจียอุตสาหกรรม”
เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่คุ้นหูเลยด้วยซ้ำ
แต่ถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัท อย่างเช่น พลาสเตอร์ปิดแผลแบรนด์ “Tigerplast” และ “Tensoplast” หรือน้ำมันไฟแช็กแบรนด์ Ronson
ก็เชื่อว่าหลายคนอาจเริ่มคุ้น ๆ ชื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้บ้างแล้ว
3
รู้หรือไม่ ? บริษัท แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ว่านี้ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2536 โดยใช้ชื่อย่อว่า “JCT”
ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
แล้วเรื่องราวของแจ๊กเจียอุตสาหกรรม เจ้าของ Tigerplast เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปปี 2516 คุณแจ๊ก เจีย ชายชาวซัวเถา ประเทศจีน หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเคมี เขาได้มีความคิดว่า จะนำลูกอมแบรนด์ Hudson’s Jujubes ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ฮ่องกง มาทำการตลาดที่ประเทศไทย
1
ประกอบกับการที่เขามองเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เขาจึงได้เดินทางมายังดินแดนแห่งนี้ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ
คุณแจ๊ก เจีย มาซื้อกิจการหนึ่งในไทย ชื่อว่า บริษัท โฮ้วป่าบราเดอร์ส (ไทย) จำกัด แล้วจัดการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเป็นทั้งผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค
ปี 2530 แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) ได้ร่วมทุนกับ บริษัท สมิธ แอนด์ เนฟฟิว จำกัด จากประเทศอังกฤษ เพื่อจัดตั้ง บริษัท ฟาร์มาแคร์ จำกัด
ซึ่งในปัจจุบัน บริษัท ฟาร์มาแคร์ จำกัด ก็เป็นบริษัทย่อย ซึ่งแจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด
โดยบริษัท ฟาร์มาแคร์ จำกัด ได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัท BSN medical GmbH จากประเทศเยอรมนี
ให้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสเตอร์ปิดแผลภายใต้แบรนด์ Tensoplast, Tensoplastic และ Tensotape
รวมถึงมีการพัฒนาแบรนด์ของตัวเองอย่าง “Tigerplast” ขึ้นมาด้วย
ต่อมาบริษัทก็ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน แล้วจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2536 โดยใช้ตัวย่อว่า JCT และในวันนี้ JCT ก็มีมูลค่าบริษัทราว 1,000 ล้านบาท
แล้ววันนี้ JCT หรือ แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) ทำธุรกิจอะไร ?
ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจผลิต จำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มหลัก
1
- กลุ่มเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทำแผล เช่น พลาสเตอร์ปิดแผลและสปอร์ตเทปแบรนด์ Tigerplast และ Tensoplast และแผ่นประคบร้อน Therma Plast
- กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น ลูกอมแบรนด์ Jason's Jujubes น้ำมันไฟแช็กแบรนด์ Ronson และน้ำหอม สบู่อาบน้ำ แป้งแบรนด์ Tabu
1
นอกจากการผลิตสินค้ามาขายเองแล้ว
ปัจจุบัน แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์วัดความดันแบรนด์ Omron, หน้ากากผ้า GQ และผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบรนด์ Dr.Klean
2
เราลองมาดูผลประกอบการที่ผ่านมาของ แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย)
ปี 2561 รายได้ 833 ล้านบาท กำไร 90 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 898 ล้านบาท กำไร 91 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 802 ล้านบาท กำไร 67 ล้านบาท
รายได้ตามผลิตภัณฑ์
- กลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ 83%
- กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค 17%
1
ซึ่งผู้บริหารเคยให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มพลาสเตอร์ปิดแผล เป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้ให้กับบริษัท ในสัดส่วนเกือบ 50% ของรายได้รวมเลยทีเดียว
1
และถ้าดูรายได้ แบ่งตามใน-นอกประเทศ ของบริษัท ในปี 2563
- รายได้จากในประเทศไทยประมาณ 77%
- รายได้จากต่างประเทศประมาณ 23%
1
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2563 แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) สามารถรักษาการเติบโตของรายได้ในประเทศไว้ได้ แม้ว่าต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด 19 ที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลง
1
ที่เป็นแบบนี้เพราะบริษัทมีการปรับตัวด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคโควิด
เช่น สเปรย์แอลกอฮอล์ภายใต้แบรนด์ Tigerplast
และสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับเคลือบแมสก์ ภายใต้แบรนด์ Tigerplast MaskShield+ ซึ่งบริษัทเคลมว่า เมื่อฉีดพ่นใส่แมสก์แล้ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกรองเชื้อโรคในอากาศได้ดีขึ้น 142% และกรองฝุ่นได้ดีขึ้น 83% รวมถึงสะท้อนฝุ่นและไวรัสได้
นอกจากนั้น บริษัทยังเป็นตัวแทนจำหน่ายหน้ากากผ้า GQ ซึ่งเป็นสินค้าที่คนใช้กันในยุคโควิดอีกด้วย
นับว่า แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่ดี ที่ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นบริษัทที่มีอายุค่อนข้างมากแล้ว แต่ก็ยังมีการปรับตัวอยู่เสมอ ตามสถานการณ์โลก ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ที่มาของ “พลาสเตอร์ปิดแผล” เกิดขึ้นในปี 1920 ซึ่งได้ไอเดียมาจากปัญหาที่ภรรยาของคุณเอิร์ล ดิกสัน ต้องเจอเป็นประจำ
1
คุณเอิร์ล ดิกสัน สังเกตว่าภรรยาของเขามีบาดแผลจากการทำงานบ้านบ่อยครั้ง เขาจึงลองนำผ้าก๊อซไปวางไว้บนเทปกาว ซึ่งทำให้เขาสามารถทำแผลภรรยาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
เขาจึงนำไอเดียนี้ไปเสนอบริษัทที่เขาทำงานอยู่ นั่นคือ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยาในปัจจุบัน
บริษัทจึงได้นำไอเดียนี้ไปพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์จนสามารถออกสู่ตลาด
โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า BAND-AID ซึ่งต่อมาก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก..
References
โฆษณา