20 ธ.ค. 2021 เวลา 12:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ
KTAM Weekly Strategy 20-24 ธ.ค. 64
C.I.O. = Central banks & Inflation & Omicron
เนเธอร์แลนด์ประกาศล็อกดาวน์ ตั้งแต่อาทิตย์ที่ผ่านมาถึง 14 ม.ค. ตลาดกังวลประเทศอื่นๆอาจทำตาม ท้าทายสมมุติฐานแรกจาก 5 ข้อในฉบับที่แล้ว “โอมิครอนไม่ค่อยรุนแรง” (ประเทศส่วนใหญ่ไม่ล็อกดาวน์)
หมีขี่กระทิง ข่าวลบ เรื่องความเร็วการแพร่ระบาดซึ่งอาจกดดันให้ล็อกดาวน์ ได้รับความสนใจมากกว่า ข้อมูลเชิงบวก เกี่ยวกับผลกระทบต่อปอดซึ่งดูเหมือนจะเบากว่าเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ หลายประเทศยุโรปเริ่มจำกัดการเดินทางและเพิ่มเกณฑ์ควบคุมโรค
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าการแพร่ระบาดรอบนี้ถึงปัจจุบันมาตรการรุนแรงถูกนำมาใช้เพียง 2 ชาติยุโรปเหนือผู้ร่ำรวยได้แก่ “ออสเตรีย” ซึ่งปลดล็อกไปแล้วหลังทำได้ 3 สัปดาห์ และล่าสุด “เนเธอร์แลนด์” ทั้งนี้ ถ้าจะคุมเข้มระดับล็อกดาวน์ตามกฎหมายส่วนใหญ่ต้องให้สภาอนุมัติ แรงกดดันทางการเมืองจึงเป็นอุปสรรคทำให้ล็อกยาก
สหรัฐไม่น่าล็อก ปธน.ไบเดนจะแถลงเรื่องโอมิครอนวันอังคาร (21 ธ.ค.) เนื้อหาคงเน้นเพิ่มแผนรับมือช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่และเตือนถึงอันตรายสำหรับผู้ไม่ฉีดวัคซีน Dr. Anthony Fauci หัวหน้าที่ปรึกษาสุขภาพของทำเนียบขาวก็เพิ่งกล่าวย้ำ “ไม่คาดว่าสหรัฐจะต้องล็อกดาวน์”
หุ้นร่วง น้ำมันดิ่ง ยีลด์พันธบัตรปรับตัวลง ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วถึงต้นสัปดาห์นี้ เพราะวิตกล็อกดาวน์กดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
1-2 วันข้างหน้าหากประเทศใหญ่ๆไม่ล็อก นักลงทุนในตลาดก็คงคลายกังวลแล้วปิดสถานะโดยเทรดกลับทาง: หุ้นรีบาวด์ น้ำมันพุ่ง ยีลด์ฟื้น
Reflation Trades คือรูปแบบที่เป็นไปได้มากสุดหากสถานการณ์ดีขึ้นจริง โดยตลาดจะปรับเพิ่มมุมมองเศรษฐกิจ/เงินเฟ้อ แล้วหันไปโฟกัสการลด QE ขึ้นดอกเบี้ย “หุ้นกลุ่มพลังงาน” KT-ENERGY “หุ้นกลุ่มการเงิน” KT-FINANCE และ “หุ้นญี่ปุ่น” KT-JAPAN จึงมีโอกาสฟื้นกลับมา outperform
BOE เปิดฉากขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในบรรดาธนาคารกลางหลักของโลก มุ่งเบรกเงินเฟ้อที่พุ่งแตะจุดสูงสุดรอบทศวรรษ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของอังกฤษโหวต 8-1 ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับต่ำประวัติการณ์ 0.1% ไปเป็น 0.25% แม้โอมิครอนระบาดหนักจนรัฐบาลต้องยกระดับสถานการณ์โควิดจาก 3 เป็น 4 (สเกลสูงสุด 5)
Fed “เล่นตามบท” เร่งลด QE $3 หมื่นล้าน/เดือน (เดิม $15,000 ล้าน/เดือน) dot plot คาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งปีหน้า ตามด้วยอีก 3 ครั้งในปี 2023 นอกจากนี้ เฟดเริ่มคุยเรื่อง “ลดขนาดงบดุล” ซึ่งคงเป็นเครื่องมือถัดไปที่จะนำมาใช้กำราบเงินเฟ้อหาก actions ล่าสุดยังเอาไม่อยู่
ECB ค่อยๆถอนคันเร่งแบบนุ่มๆ ประกาศยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉิน (PEPP) ในเดือน มี.ค. 2022 แต่ยังคงนำเงินครบอายุกลับเข้าลงทุนต่อ (reinvest) และพร้อมนำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้อีกหากจำเป็น นอกจากนี้ ECB ยังจะเบิ้ลอัตราซื้อสินทรัพย์ของโครงการระยะยาว (APP) เพื่อความราบรื่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ท่านประธาน Christine Lagarde ย้ำจุดยืนเดิม “ไม่น่าขึ้นดอกเบี้ย” ในปี 2022
BOJ คงนโยบายผ่อนคลายหลักๆไว้แทบทุกตัว ประชุมครั้งล่าสุดทำแค่เพียง “ปรับเล็ก” ลดวงเงินสนับสนุนภาคธุรกิจให้กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตแถมขยายเวลาโครงการดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน คุโรดะ-ซัง พูดชัด “เร็วเกินไป” ที่จะคิดเรื่องปรับนโยบายสู่ระดับปกติ (normalization) ตอกย้ำว่าญี่ปุ่นคงอยู่ “ท้ายแถว” ในการขึ้นดอกเบี้ย (ถ้ายังคิดว่าจะขึ้นได้จริง)
C.I.O. ปัจจัย 3 ประการที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนปลายปีนี้-ต้นปีหน้า
C = Central banks แบงก์ชาติอังกฤษ (BOE) “ล้ำหน้า” เปิดฉากขึ้นดอกเบี้ย เฟดเบิ้ลสปีดลด QE ตามบท ECB ยังลากขา “ไม่รีบ” ขณะ BOJ ตามหลังที่อื่น เพียงถอนกระตุ้นเบาๆแบบสโลโมชัน
I = Inflation เงินเฟ้อสูงในสหรัฐและหลายประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะจบเร็วๆนี้
O = Omicron จุดสนใจ “ไบโพลาร์” พลิกไปมาระหว่าง ติดต่อง่าย-ไม่รุนแรง
KT-EUROTECH น่าสะสมท่ามกลางความผันผวน “โอมิครอนลามยุโรป” = ECB ผ่อนคลายกว่าเฟด “หุ้นคุณภาพสูงเติบโตสูง” ซึ่งมีอยู่มากในพอร์ตกองทุนหลักน่าจะ outperform ในยามที่นักลงทุนเผชิญความไม่แน่นอน
กองทุนประหยัดภาษี เน้น KT-CLIMATE RMF, KT-EUROTECH-SSF
อ่านฉบับเต็ม / อ่านย้อนหลังคลิก
โฆษณา