20 ธ.ค. 2021 เวลา 22:54 • หนังสือ
“ATOMIC HABITS” มียอดขายหลายล้านเล่มทั่วโลก แปลมาแล้วกว่า 40 ภาษา เขียนโดย เจมส์ เคลียร์” ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการ “สร้างนิสัย” ที่พิสูจน์แล้วโดยตัวของเขาเอง
.
40 ข้อคิดนับจากบรรทัดนี้ไป จะเป็นแนวทางให้คุณได้ เลือกหยิบจับสักไอเดียไปปรับใช้พัฒนาตัวเองตามเป้าหมายของคุณ ถือโอกาสเริ่มต้นปี 2022 นี้ ขอเพียงเชื่อกฎคณิตศาสตร์ที่ว่า “ถ้าคุณพัฒนาตัวเอง 1% ทุกวันเป็นเวลา 1 ปี ผลที่ได้คือ คุณจะก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม 37 เท่า”
.
.
#1.คุณภาพชีวิตของเรา มักจะขึ้นอยู่กับคุณลักษณะนิสัยของเรา และด้วยการมีนิสัยเดิมๆ คุณก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ แต่ถ้าเราปรับเปลี่ยนนิสัยให้ดีขึ้นแล้วไม่ว่าอะไรก็สามารถเป็นไปได้ทั้งสิ้น
.
#2.ความสำเร็จเป็นผลิตผลของนิสัยที่ทำเป็นกิจวัตร ไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอะไรเพียงครั้งเดียวในชีวิต
.
#3.หลักการทางคณิตศาสตร์อธิบาย เรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไว้ว่าถ้าคุณพัฒนาตัวเองวันละ 1% ทุกวันเป็นเวลา 1 ปีผลที่ได้คือคุณจะก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม 37 เท่า!
.
#4.ถ้าคุณทำพฤติกรรมแย่ลง 1% ทุกวันนิสัยดีๆ ก็จะค่อยๆ หายไปจนไม่เหลือเลย ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยการทำสิ่งเล็กๆ ในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงจะค่อยๆ ส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงในอนาคตได้
.
#5.พฤติกรรมมักสะท้อนตัวตนของคุณ สิ่งที่คุณกระทำคือตัวบ่งชี้ว่าคุณเชื่อว่าตัวเองเป็นคนประเภทใดไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
.
#6. ตัวตนแบบใหม่ ย่อมต้องการหลักฐานที่แสดงผลลัพธ์ใหม่ๆ ถ้าคุณมีแนวโน้มทำอะไรแบบเดิมๆ คุณก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ
.
#7. นิสัยของคุณไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยกระตุ้นเพียงอย่างเดียวแต่ยังเกี่ยวข้องกับบริบทต่างๆที่อยู่โดยรอบซึ่งบริบทเหล่านั้นจะกลายเป็นปัจจัยสร้างและหล่อหลอมพฤติกรรม
.
#8. การสร้างพฤติกรรมใหม่ ในสิ่งแวดล้อมใหม่ จะทำได้ง่ายกว่า เพราะคุณไม่ต้องต่อสู้กับปัจจัยเดิมๆที่อาจต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่นิสัยใหม่
.
#9. หนึ่งในวิธีปฏิบัติได้ดีที่สุดในการกำจัดนิสัยแย่ๆ คือ การลดปัจจัยที่อาจนำไปสู่ต้นเหตุของการแสดงนิสัยแย่ๆ นั้น เช่น ถ้าคุณรู้สึกอยากได้อยากมีอยู่ตลอดเวลาให้เลิกตามสื่อสังคมออนไลน์ที่มักจะรอให้คนอิจฉาตาร้อน
.
#10. หนึ่งในวิธีการอันมีประสิทธิผลมากที่สุดซึ่งคุณสามารถทำได้เพื่อสร้างนิสัยที่ดีขึ้นคือการเข้าไปอยู่ร่วมในวัฒนธรรมซึ่งพฤติกรรมอันพึงประสงค์ของคุณเป็นพฤติกรรมปกติของสังคมนั้นๆ และคุณมีบุคลิกลักษณะที่เหมือนกับคนในกลุ่มนั้นอยู่แล้ว
.
#11. วัฒนธรรมที่เราอาศัยอยู่กำหนดว่าพฤติกรรมใดที่เราควรกระทำ
.
#12. เรามีแนวโน้มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมจากคน 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดรอบตัวเรา (ครอบครัวและเพื่อนฝูง) 2. กลุ่มคนส่วนใหญ่ (ชุมชน สังคม) 3. กลุ่มคนที่มีอำนาจ (ผู้ที่มีสถานภาพสูงและมีอภิสิทธิ์)
.
#13. การทำซ้ำคือรูปแบบพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ระยะเวลาที่คุณกระทำพฤติกรรมใดๆ ไม่สำคัญเท่ากับจำนวนครั้งที่คุณกระทำพฤติกรรมนั้นๆ
.
#14. ก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แต่อย่าหันหลังกลับ
.
#15. พฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปตามกฎแห่งความพยายามน้อยที่สุดโดยธรรมชาติแล้วคนเรามีแนวโน้มจะเลือกทำในสิ่งที่ยุ่งยากน้อยที่สุด
.
#16. ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงนิสัยก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้พฤติกรรมอันพึงประสงค์เกิดได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และลดอุปสรรคขัดขวางการมีพฤติกรรมที่ดี อุปสรรคน้อยลงพฤติกรรมที่ดีนั้นก็กระทำได้ง่าย
.
#17. การทำได้น้อยกว่าที่คาดหวังย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย
.
#18. เมื่อคุณเริ่มต้นฝึกนิสัยใหม่ควรจะใช้เวลาฝึกทำน้อยกว่า 2 นาที เช่น "อ่านหนังสือก่อนเข้านอน" เปลี่ยนเป็น "อ่านหนังสือหนึ่งหน้า" แทน , "เล่นโยคะ 30 นาที" เปลี่ยนเป็น "หยิบเสื่อโยคะออกมา" แทน , "ทบทวนความรู้ 1 วิชา" เปลี่ยนเป็น "เปิดสมุดจดบทเรียน" แทน
.
#19. สิ่งที่เกิดขึ้นใน 2 นาทีแรกควรจะทำได้ง่ายดายเพราะสิ่งที่คุณต้องการคือ "ประตูแห่งการเริ่มต้นสร้างนิสัย" ที่จะนำคุณไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จได้อย่างเป็นธรรมชาติ
.
#20. แทนที่จะพยายามสร้างนิสัยสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรกเริ่มทำสิ่งใดๆอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอให้ได้เสียก่อนคุณต้องฝึกฝนที่ใส่นั้นๆให้ผ่านระดับมาตรฐานก่อนที่จะก้าวข้ามไประดับที่จะพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นนิสัยที่ดี
.
#21.ถ้าคุณกำหนดทิศทางของจิตไร้สำนึกไม่ได้มันจะชี้นำชีวิตคุณแล้วคุณก็จะเรียกมันว่าโชคชะตา (คาร์ล ยุง)
.
#22. การใช้เทคโนโลยีช่วยกำหนดการกระทำให้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัตินั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่น่าเชื่อถือที่สุดและรับประกันได้ว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เช่น พนักงานสามารถออมเงินหลังเกษียณโดยใช้ระบบตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนโดยอัตโนมัติ
.
#23. อัจฉริยะไม่ได้มีมาแต่กำเนิดแต่เกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝน (ลาสศโล โปลการ์)
.
#24. กฏข้อแรกในการฝึกฝนบ่มนิสัยคืออย่าหยุดหรือเลิกกลางคันโดยไม่จำเป็น (ชาร์ลี มังเกอร์)
.
#25. วิธีการติดตามผลของนิสัยเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยวัดว่าคุณทำพฤติกรรมนั้นต่อเนื่องหรือไม่เช่นการกากบาทในช่องปฏิทิน
.
#26. อย่าหยุดทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ถ้าคุณหยุดทำไป 1 วันพยายามดึงตัวเองกลับมาทำต่อให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
.
#27. การรับรู้ว่ามีคนอื่นคอยสังเกตคุณอยู่เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ
.
#28. อะไรที่คุณทำแล้วรู้สึกสนุก แต่คนอื่นกลับรู้สึกว่ามันเป็นภาระหน้าที่ สัญญาณที่บอกว่าคุณเกิดมาเพื่องานนี้หรือไม่นั้น ไม่ใช่เพราะมันเป็นงานที่คุณรักแต่เป็นงานที่คุณสามารถรับมือกับความเจ็บปวดที่เกิดจากงานนั้นได้ดีกว่าคนอื่น เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกสนุกในขณะที่คนอื่นพร่ำบ่น งานใดก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกแย่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น "งานนั้นคืองานที่ถูกสร้างมาเพื่อคุณ"
.
#29. เคล็ดลับเพิ่มโอกาสสูงสุดสู่ความสำเร็จคือการเลือกสนามแข่งขันที่เหมาะกับตัวเอง
.
#30. เลือกการฝึกฝนนิสัยหรือพฤติกรรมที่เหมาะกับตัวเองจะช่วยพัฒนานิสัยนั้นให้ก้าวหน้าได้ง่ายถ้าเลือกฝึกนิสัยที่ไม่เหมาะกับตัวเองแล้วชีวิตจะเจอแต่อุปสรรค
.
#31. นิสัยเกิดขึ้นได้ง่ายหากสอดคล้องกับทักษะความสามารถที่คุณมีโดยธรรมชาติจงเลือกสร้างนิสัยที่เหมาะกับตัวคุณที่สุด
.
#32. จงเล่นในเกมที่ช่วยเสริมจุดแข็งของคุณแต่ถ้าไม่พบเกมที่เหมาะกับตัวเองจงสร้างมันขึ้นมาเอง
.
#33. ทางเดียวที่จะทำสิ่งที่ปรารถนาให้ดีเลิศคือความหลงใหลที่จะทำสิ่งนั้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
.
#34. อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความสำเร็จไม่ใช่ความล้มเหลวแต่เป็นความเบื่อหน่าย
.
#35. มืออาชีพเคร่งครัดต่อตารางเวลา ส่วนมือสมัครเล่นปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
.
#36. ผลการวิจัยบอกว่าเมื่อคนเรามีทักษะความสามารถใดๆ แล้วความสามารถนั้นมักจะถดถอยเมื่อเวลาผ่านไป
.
#37. การฝึกนิสัยเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่เพียงพอที่จะกลายเป็นความเชี่ยววชาญ สิ่งที่คุณต้องมีคือการผสมผสานกันระหว่างการทำนิสัยให้ได้อย่างเป็นอัตโนมัติกับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
.
#38. แม้การกระทำจนเป็นนิสัยนั้นจะมีพลังและประสิทธิภาพก็ตามแต่คุณต้องระลึกถึงเสมอคือวิธีการที่จะรักษาระดับความสามารถที่คุณมีให้คงอยู่เพื่อจะได้พัฒนาปรับปรุงต่อไปได้
.
#39. เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนอุปนิสัยไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลง 1% เพียงครั้งเดียวแต่นับเป็นพันๆครั้งมันคือผลรวมของพฤติกรรมเล็กๆที่สะสมร่วมกันนิสัยแต่ละอย่างของคุณคือรากฐานสำคัญของชีวิตคุณทั้งชีวิต
.
#40. ในตอนเริ่มต้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็กๆ อาจดูไม่มีความหมายอะไรเพราะถูกกลืนหายไปโดยภาพรวมของระบบเช่นเดียวกับเหรียญเพียงเหรียญเดียวที่ไม่ทำให้คุณรวยขึ้นมาได้ แต่เมื่อคุณค่อยๆ เพิ่มระดับชั้นของความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตราชั่งชีวิตคุณก็จะเริ่มขยับ และเสี่ยงเข้ามาข้างที่คุณต้องการ
.
.
โดยสรุป การกระทำของคุณบ่งบอกว่าคุณมีความต้องการมากแค่ไหนถ้าคุณเอาแต่บ่นอยากได้โน่นอยากทำนี่แต่ไม่เคยลงมือทำเสียทีก็แปลว่า คุณไม่ได้ต้องการมันจริงๆ ถึงเวลาแล้วที่จะคุยกับตัวเองอย่างซื่อสัตย์ การกระทำของคุณจะชี้ชัดให้เห็นแรงจูงใจที่แท้จริง
.
*ปล.เหตุผลที่คัดมา 40 ข้อ เพราะแอดอยากให้รางวัลเล็กๆ กับตัวเองในอีกไม่กี่วันก่อนจะสิ้นปีนี้ที่แอดจะมีอายุครบ 40 บริบูรณ์ (ตื่นเต้ลล ไม่เคยคิดว่าจะบอกลาหลัก 3 ล้าววว 55++)
.
แอดมินช่า ^_^
มาเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเงินไปพร้อมๆ กับพวกเราได้ที่นี่ เฟซบุ๊กเพจ @lumpsumofficial ติดตามแนวคิด แรงบันดาลใจดีๆ กับ #แอดมินช่าทุกวันจันทร์ เสิร์ฟความรู้การเงินทุกๆ วันจากแอด มินหลาย Gen อย่าลืมกดติดตามพวกเราไว้นะค้า 😘
ติดตามคอนเทนต์จาก Lumpsum ทั้งหมดได้ที่นี่
Line : @lumpsumofficial
---------------------------
โฆษณา