21 ธ.ค. 2021 เวลา 11:48 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ข้อคิดจากซีรีส์ The Witcher (Season 2, EP 3 : 2021) “การใช้อิสรภาพอย่างใคร่ครวญและรับผิดชอบ”
ท่านทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้แปลว่า ท่านต้องทำ
The Witcher (Season 2, EP 3 : 2021)
เล่าเรื่องราวของนักล่าอสูร (Witcher)
ผู้มีนามว่า “แกรอลท์”
ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหญิงซิริล่า
ที่หลบหนีจากการถูกไล่ล่า
เนื่องจากเมืองของเธอถูกโจมตี
และยังสูญเสียครอบครัวไปอีก
(โดยซีซั่นที่แล้วในระหว่างหลบหนี
เธอได้ใช้พลังวิเศษออกมาอย่างไม่รู้ตัว
รุนแรงจนแผ่นดินแยกเลย)
โดยแกรอลท์ได้พาซิริล่า
มายังฐานที่มั่นของเหล่านักล่าอสูร
เพื่อให้เธอรอดพ้นจากอันตราย
ชีวิตของซิริล่า
จึงเดินทางเข้าสู่การรู้จักพลังที่แท้จริงของตนเอง
และฝึกฝนตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
“เพื่อเอาชีวิตรอดและแก้แค้นให้กับครอบครัว”
ขอเล่าเรื่องย่อไว้เพียงเท่านี้ครับ
เพราะอันที่จริงยังมีเนื้อเรื่องของสงคราม การเมือง
เหล่าอสูร และชะตาชีวิตของตัวละครสำคัญในเรื่องอยู่อีกมาก
(เดี๋ยวมันจะเยอะเกิน 555)
โดยส่วนตัวแล้ว
ผมประทับใจในความสัมพันธ์พ่อลูกของแกรอลท์ กับ ซิริล่า
โดยแกรอลท์จะมีบทเรียนคอยเตือนซิริล่า
ที่มักจะห้าว/ทำอะไรไม่รอบคอบ/ชอบเสี่ยงอันตรายอยู่บ่อยครั้ง 555
อย่างตอนที่เธอโดนยุให้ไปฝ่าด่านฝึกยาก ๆ
(ฟกช้ำไปทั้งตัว และได้แผลจนเลือดออกมาอีก)
ซึ่งมันทีบทเรียนสำคัญเลยครับ เช่น
-ในเมื่อเลือกเอง ก็ต้องรับผลจากการเลือก
-เรามีอิสรที่จะทำอะไรก็ได้ แต่อย่าลืมพิจารณาว่า มันคุ้มค่าแค่ไหนที่จะทำ
“อิสรภาพที่แท้ คือการใช้อิสรภาพอย่างใคร่ครวญและรับผิดชอบ”
หากเรานึกถึงคำว่า “อิสรภาพ-สิทธิ-เสรีภาพ”
มันคล้ายกับสื่อว่า เราจะทำอะไรตามใจก็ได้ เช่น
-ชอบอะไรก็เอาอย่างนั้น
-อยากพูดอะไรก็พูดออกมาให้หมด
-อยากได้แล้วต้องได้
“อยากทำอะไรก็ทำ”
แต่การทำได้ทุกอย่างนั้น
มิได้แปลว่า “เราต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้”
เนื่องจากทุกการกระทำนั้น
ล้วนมีผลที่ตามมา (ผลในทางเกื้อกูล/ล่วงเกิน)
ทั้งต่อตนเอง/ผู้อื่น/สิ่งรอบตัว
ด้วยเหตุนี้เอง
การหมั่นสังเกตตนเอง
ในขณะที่กำลังใช้อิสรภาพเพื่อทำบางสิ่งจึงมีความสำคัญ
อิสรภาพที่แท้นั้นอยู่ที่ใจ
ซึ่งเป็นสิ่งที่นำทางให้กับชีวิต
รวมทั้งช่วยให้เราตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ
“เลือกที่จะทำ/ไม่ทำ”
แต่หากเราเผลอเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
(เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล)
อิสรภาพที่ปรากฎออกมานั้น
ย่อมเจือปนไปด้วยการล่วงเกิน/การกอบโกย/การล้ำเส้น
ซึ่งไม่ว่าอะไรที่โดนคลื่นแห่งการทำลายล้างนี้ซัดเข้าไป
ย่อมต้องพบกับการทำลายไม่ว่าจะทางกาย/ทางใจ/ทางวัตถุ/ทางสภาพแวดล้อม
“ยิ่งกระทำ หัวใจยิ่งคับแคบและมืดบอด”
ในทางกลับกัน
หากเราใช้อิสรภาพอย่างใคร่ครวญและรับผิดชอบ
จิตใจของเราย่อมเปิดกว้างยิ่งขึ้น
ซึ่งจะช่วยให้เราสำรวจตนเองได้ในหลายแง่มุม
เช่น
-การสังเกตว่า เรากำลังเอาตัวเองเป็นที่ตั้งหรือไม่
-การใคร่ครวญและทบทวนถึงผลที่จะตามมา
-การคำนึงถึงความคุ้มค่าและสิ่งที่จะต้องจ่ายไป (ทั้งในระยะสั้น/ระยะยาว)
“เป็นการใช้อิสรภาพด้วยความเอาใจใส่ต่อทุกสิ่ง”
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถเรียนรู้
และขัดเกลาตนเองได้ตลอดชีวิต
เพื่อนำมาเป็นบทเรียนให้ตนเอง
และอาจแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย ^^
โฆษณา