24 ธ.ค. 2021 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์
ปลากริมไข่เต่า ขนมหวานข้ามศตวรรษ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ช่วงนี้ไปที่ไหนก็มักจะพบเจอการประดับประดาเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ ตามห้างร้านก็มีขนมนมเนยขายกันมากมายหลายแบบ ทั้งขนมแบบฝรั่ง แบบไทย แบบจีน แบบญี่ปุ่น แบบแขก คือมีให้เลือกสรรเป็นของขวัญให้พี่น้องเพื่อนฝูง หรือจะจัดกระเช้ามอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่กันแต่ตามสะดวกก็มีขายในหลายๆที่ ส่วนตัวก็ชอบขนมทุกแบบแหล่ะ เพราะมันคือขนม แต่มีที่ชอบเป็นพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง ชอบแบบติดตรึงใจจากวัยเด็กมาจนถึงปัจจุบัน คือขนมปลากริมไข่เต่า ซึ่งคงไม่มีขายให้เอาไปจัดเซ็ตเป็นของขวัญมอบให้ใครได้ นอกจากหาซื้อเอามากินเอง
ความทรงจำเกี่ยวกับขนมปลากริมไข่เต่า เริ่มขึ้นสมัยเข้าไปเรียนมัธยมหนึ่งใหม่ๆ จำได้ว่าวันหนึ่งหลังจากกินข้าวกลางวันในโรงอาหารเสร็จ เราก็ต้องหาขนมหวานกินล้างปากสักหน่อย ร้านน้ำแข็งไสก็คิวยาว ร้านขนมปังปิ้งก็คนแน่น มาร้านขนมหม้อแบบไทยๆคนพอประมาณ ไปถึงก็ได้เลือกเลย มีหลายอย่างให้เลือกสรร
ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวถั่วดำ ข้าวเหนียวเปียกลำไย เต้าส่วน กล้วยบวชชี ขนมเปียกปูน หรือแม้กระทั่งทองหยิบ-ทองหยอด ก็มีให้เลือกเยอะแยะ ทั้งหมดนั้นอยู่ในหม้อเหล็กหรือถาดเหล็กรอให้เราเลือก แต่มีที่สะดุดตายิ่งกว่าทั้งหมดนั้น คือหม้อดินเผา 2 ใบตั้งโดดเด่นอยู่ใกล้มือแม่ค้า ต้องใช่แน่ๆของโปรดของเรา เอาอันนี้แหล่ะ แม่ค้าเปิดฝาหม้อทั้งสองใบออกแล้วก็บรรจงตักขนมใส่ถ้วย หม้อแรกเป็นขนมเส้นแป้งเรียวยาวสีน้ำตาล แล้วตักอีกหม้อเป็นขนมกลมๆสีขาวราดทับลงไป ใช่เลยมันคือ “ขนมปลากริมไข่เต่า” ความทรงจำวันนั้นคือ ทำไมถึงอร่อยขนาดนี้นะ อร่อยกว่าที่เคยกิน หลังจากนั้นก็กินขนมปลากริมไข่เต่าเจ้านั้นทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเทอมเต็มๆ จนเพื่อนๆตั้งฉายาว่า “ไอ้กริม” ไปโดยปริยาย
มาวันนี้ก็กลับนึกถึงช่วงเวลานั้น แต่ตอนนี้ทำเพจสาระนอกจานแล้ว มันต้องมีอะไรนอกจากความอร่อยสิ ว่าแล้วก็ขอไปหาประวัติของขนมปลากริมไข่เต่า มาเล่าให้เพื่อนๆแฟนเพจได้รู้ด้วยดีกว่า โดยข้อมูลบอกไว้ว่า... แรกเริ่มเดิมทีแล้วขนมปลากริมและขนมไข่เต่า ถ้าเอามากินคู่กันจะเรียกว่า “ขนมแฉ่งม้า” โดยชื่อเรียกนี้มีปรากฏอยู่ในบทเพลงกล่อมเด็ก "โอ้ละเหโอ้ละหึก ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมแฉ่งม้า ผัวก็ตี เมียก็ด่า ขนมแฉ่งม้าก็คาหม้อแกง" ซึ่งเพลงกล่อมเด็กนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นั่นแปลว่า ขนมแฉ่งม้า หรือ ขนมปลากริมและขนมไข่เต่า จะต้องเกิดมีมาก่อนหน้านั้นหลายปีดีดัก โดยขนมปลากริมคือขนมแป้งปั้นเป็นตัวยาวๆ ต้มกับน้ำและเคี่ยวกับน้ำตาลปึก จนมีสีน้ำตาลอ่อนๆ ให้รสชาติหวานและหอมน้ำอ้อย ส่วนขนมไข่เต่าก็เป็นแป้งปั้นเป็นตัวกลมๆ ต้มกับกะทิให้เนื้อข้น จากนั้นเติมเกลือให้มีรสออกเค็ม เป็นขนม 2 แบบ ที่แยกกันกินก็ได้
จนเมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาหารคาว-หวาน และผู้แต่งตำราแม่ครัวหัวป่าก์ในสมัยนั้น ก็เพิ่งได้ทราบจากอุบาสิกาเนย ผู้นำขนมปลากริมและขนมไข่เต่า มาถวายแด่ท่านผู้หญิงเปลี่ยน กล่าวว่าขนมทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องกินคู่กัน เพราะขนมปลากริมมีรสชาติหวานจัด เมื่อกินคู่กันกับขนมไข่เต่าที่ออกรสเค็มปะแล่มๆ ก็จะเข้ากันดี โดยถ้ากินคู่กันแบบนี้ โบราณจะเรียกว่า ขนมแฉ่งม้า แต่หากกินแยกกัน ถึงจะเรียกว่า ขนมปลากริม และขนมไข่เต่า นั่นเอง
ว่ากันมาเวลาผ่านมาเป็นร้อยๆปี รสชาติของขนมแฉ่งม้าหรือขนมปลากริมที่กินคู่กับขนมไข่เต่า ยังคงเดิมเหมือนเมื่อช่วงเวลานั้น เรียกว่าคนสมัยนั้นกินได้รสอย่างไร เราก็กินได้รสเยี่ยงนั้น อร่อยข้ามศตวรรษมาเลยทีเดียว จะจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่มีสิ่งที่ต่างไปคือปัจจุบันไม่ค่อยมีคนทำขนมไข่เต่าสักเท่าไหร่แล้ว มีแต่ทำขนมปลากริมทั้งแบบหวานและแบบเค็มเอามาผสมกันแทน ซึ่งก็ยังอร่อยอยู่นะ แต่อาจไม่เท่าตามสูตรที่เขาทำกันมาเท่านั้น
หากใครพบเจอเจ้าไหนที่ทำขายแยกกัน คือมีทั้งขนมปลากริมที่หวาน และขนมไข่เต่าที่เค็ม ช่วยบอกเราบ้างเถิด จะขอบคุณมากๆ แล้วจะรีบตามไปกินให้เร็วที่สุด จากแฟนปลากริมไข่เต่าตัวยงอันดับหนึ่งในสยามประเทศ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[CR-ที่มาและภาพ]…
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#สาระนอกจาน #saranokchan #sidedish #ขนมแฉ่งม้า #ขนมแชงมา #ขนมปลากริมไข่เต่า #ขนมไทย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตาม สาระนอกจาน ได้ที่ :
โฆษณา