22 ธ.ค. 2021 เวลา 05:09 • ประวัติศาสตร์
อาย
“อาย” ภาษาไทยโบราณมีความหมายว่า “ไอ”
ดังตัวอย่างตอนที่พระนางมัทรีพรรณนาทุกข์ของหญิงทั้งหลายที่ต้องทำประการต่างๆ เพื่อให้ตนสวยงามเป็นที่พึงใจชาย
หนึ่งในนั้นคือ ทนผิงไฟให้ผิวเปล่งปลั่ง และลงอาบน้ำแม้ในหน้าหนาว ความว่า
“...องงเอาอายอัคนี เพื่อผุดศรีใสสาว บหนีหนาวหน้าตรชัก ลักลงทึกทกไถง...” (มหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทานกัณฑ์)
อายอัคนี คือ ไอความร้อนจากไฟ
ตอนที่พระอนิรุทธลาพระสนม นางสนมคร่ำครวญว่าพระอนิรุทธเสด็จไปในป่าจะต้องละอองฝุ่นและละอองอาย ความว่า
“...อ้าพระเสด็จพนจำรัส พรรณแสงแสงจำรัสองค์ ชอบเศร้าพระศรีนฤบดีผง ธุลีฝุ่นลอองอาย...” (อนิรุทธ์คำฉันท์)
หรือตอนที่นางมโนหราถูกพรานจับตัวไป มารดาของนางก็คร่ำครวญดุจเดียวกัน ดังความว่า
"...จะต้องลอองฟ้า พิรุณฝ่าลอองอาย แสงแดดแลลมชาย จะเฉาเนื้อชระมัวองค์..." (พระสุธนคำฉันท์)
อักขราภิธานศรับท์ เก็บคำว่า “อาย” ตามความหมายนี้ไว้หลายคำ ดังนี้
อายแดด, อายแสงสุริยา, คือพิศม์ร้อนที่ฟุ้งพัดเข้ามาแต่แสงแดด, เมื่อเวลาแดดกล้าร้อนนักนั้น
อายดิน, อายปัตพี, คือพิศม์ที่ร้อนผ่าวๆ ขึ้นจากดิน, เหมือนเวลาฝนตกใหม่ๆ, แลมีแดดแผดกล้าร้อนนัก, มีพิศม์เปนขึ้นมานั้น
อายตัว, คือควันที่พลุ่งออกมาจากกาย, เหมือนเมื่อระดูหนาว, คนลงอาบน้ำ, จุ่มตัวลงแล้วขึ้นมาจากน้ำ, มีควันพลุ่งออกจากตัวนั้น
อายน้ำ, คือเมื่อระดูหนาว, ที่หลังน้ำเปนละอองเปลวควันขึ้นมาคล้ายกับหมอกนั้น
หนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีคำว่า "อายน้ำ" หมายถึง ควันขาวๆ ที่พวยพุ่งขึ้นเมื่อน้ำเดือด ดังข้อความว่า
“...บุคคลจะกลั่นของต้มน้ำให้ร้อน น้ำนั้นก็ร้อนแล้วหนีร้อนขึ้นไปอยู่โดยเลอียด มีเครื่องเย็นปิดปกไว้ไม่ให้อายน้ำหนีไปได้ อายน้ำนั้นก็กลับเปนน้ำอยู่ดังเก่า ไม่ขาดสูญไปเลย...”
รวมความว่า “อาย” หมายถึงสิ่งที่ลอยเจืออยู่กับอากาศ มองไม่เห็น แต่มักมีกลิ่นหรือร้อนเย็นให้รู้สึกได้
ดังนี้ จึงมักใช้ร่วมกับคำว่า “กลิ่น” เป็น “กลิ่นอาย”
เช่น “...เต็งแต้วแก้วกาหลง บานบุษบงส่งกลิ่นอาย หอมอยู่ไม่รู้หาย คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตาตรู...” (กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)
“...ฤๅจะเป็นยอพระกลิ่นน้องรัก ประหลาดนักกลิ่นอายหายไปไหน...” (มณีพิไชย)
วรรณคดีบางเรื่องใช้ “อายอบ” หรือ “อบอาย” หมายถึงอบกลิ่นให้หอม ดังตัวอย่าง
“...โสรจสรงองค์รูจี ด้วยวารีรสมาลา ขจรกลิ่นสุคนธา อันอายอบตรลบใน...” (กากีคำฉันท์)
“...ปทุมกิญ์ชัก์ขเรณูหิ ลอองโอชสาโรชรศคนธ์ ขจรจรุงจรบล ตรเลอศตรลบอบอาย...” (มหาชาติคำหลวง กัณฑ์จุลพน)
นิยามหนึ่งหมายถึงรู้สึกขวยเขินหรือวางหน้าไม่สนิท เช่น เขินอาย เหนียมอาย เอียงอาย
วรรณคดีใช้เป็น “สะเทินอาย” “สะเทิ้นอาย” "สะเทินเขินอาย" หรือ “สะเทิ้นเขินอาย” ก็มี ดังตัวอย่าง
“...ดูพลางทางทำสะเทินอาย ชักชายผ้าห่มก้มหน้า...” (สังข์ทอง)
“...ขวยเขินสะเทิ้นอายอรไท จำใจจึงลุกขึ้นทันที...” (อิเหนา รัชกาลที่ ๒)
“...สาละวนนินทาว่าร้าย ให้สะเทินเขินอายอดสู...” (ไกรทอง)
“...คิดประหวั่นครั่นคร้ามขามวิญญา ก้มหน้าสะเทิ้นเขินอาย...” (แก้วหน้าม้า)
อีกนิยามหนึ่งหมายถึงรู้สึกกระดากหรือรู้สึกขายหน้า
คือความรู้สึกว่าตนทำผิด ทำชั่ว หรือมีข้อบกพร่อง ไม่ทัดหน้าเทียมตาผู้อื่น
เช่น อายที่ถูกจับได้ว่าขโมยเงิน อายที่ถูกจับได้ว่าตด อายที่พูดเหน่อ อายเพื่อน
ถ้ารู้สึกอายมากเรียก "อับอาย" หรือ "อับอายขายหน้า"
วรรณคดีมีคำแสดงความรู้สึกละอายหลายคำ เช่น “อายสู” “อดอาย” “อัปยศอดอาย” ดังตัวอย่าง
“...มาเดียวเปลี่ยวอกอ้า อายสู...” (ตะเลงพ่าย)
“...ยิ่งแสนแค้นแสนสลดเหลืออดอาย มากลับกลายกลางศึกเหลือตรึกตรอง...” (พระอภัยมณี)
“...ก็จะถูกติฉินยินร้าย อัปยศอดอายชาวกรุงศรี...” (ขุนช้างขุนแผน)
โลกบาลธรรมหรือธรรมคุ้มครองโลกฝ่ายพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ หิริ กับ โอตตัปปะ
หิริ คือความละอายใจต่อการทำความชั่ว
โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว
หลักธรรมนี้ช่วยปกครองควบคุมใจมนุษย์ให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อยสงบสุข
กล่าวกันว่าผู้ไม่ละอายกับความชั่วมักมีสีหน้าไม่สลด
ทั้งที่ควรจะอายแต่ก็ไม่อาย
คนที่ไม่มีความรู้สึกอายในสิ่งที่ควรอายนี้เรียก หน้าไม่อาย
"ถ้าไม่อายอย่างมากล่ะคุณ--" เสียงหนึ่งแทรกขึ้นมา
 
"หน้าด้าน"
"ถ้าทั้งหนาทั้งด้านล่ะ" เขายังถามต่อ
"หน้าด้านหน้าทน"
"ก็แล้วถ้าทั้งหนา-ทั้งด้าน-ทั้งทนล่ะ"
"เขาเรียก--ไร้ยางอาย"
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
#ศัพทาธิบาย #ศัพทานุกรม #ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย #Lexicon of Thai Culture #ศัพทานุกรมวรรณคดีไทย # Lexicon of Thai Literature #วรรณคดี #วรรณกรรม #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #มหาชาติคำหลวงกัณฑ์ทานกัณฑ์ #อนิรุทธ์คำฉันท์ #พระสุธนคำฉันท์ #อักขราภิธานศรับท์ #หนังสือแสดงกิจจานุกิจ #กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร #มณีพิไชย #มหาชาติคำหลวงกัณฑ์จุลพน #กากีคำฉันท์ #สังข์ทอง #อิเหนารัชกาลที่๒ #ไกรทอง #แก้วหน้าม้า #ตะเลงพ่าย #พระอภัยมณี #ขุนช้างขุนแผน #กลิ่นอาย #อายอบ #อบอาย #เขินอาย #เหนียมอาย #เอียงอาย #สะเทินอาย #สะเทิ้นอาย #สะเทินเขินอาย #สะเทิ้นเขินอาย #อับอาย #อับอายขายหน้า #อายสู #อดอาย #อัปยศอดอาย #หน้าไม่อาย #หน้าหนา #หน้าด้าน #หน้าทน #หน้าด้านหน้าทน #ไร้ยางอาย #อาย
ติดตามเพิ่มเติม
Facebook page : https://bit.ly/3hnR3hN
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
โฆษณา