22 ธ.ค. 2021 เวลา 13:20 • สุขภาพ
เบื้องลึก...ก่อนศบค.เคาะชะลอรับนักท่องเที่ยว Test & Go ชั่วคราว ไม่อนุญาตเพิ่มThailand Pass
อะไรเป็นข้อมูลเบื้องลึก ที่ทำให้ ศบค.ตัดสินใจเคาะชะลอรับนักท่องเที่ยวรูปแบบ Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ชั่วคราว???
ดังที่ทราบว่าในการประชุมศบค.วาระพิเศษ เร่งด่วนเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ชะลอการอนุญาตในระบบThailand Pass กรณีการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ชั่วคราว ยกเว้นแซนด์บ็อกซ์ภูเก็ต โดยเริ่มตั้งแต่ 21 ธ.ค.2564 จนถึง 4 ม.ค.2565 แล้วจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ส่วนผู้ที่เรียกว่าค้างอยู่ในระบบแล้วราว 2 แสนคนซึ่งจะเดินทางเข้าประเทศๆไทยวันสุดท้ายวันที่ 10 ม.ค.2564นั้น ให้เข้ามาได้ในรูปแบบ Test & Go เช่นเดิม แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยแล้ว จะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR 2 ครั้ง ในวันที่แรกที่มาถึงและวันที่ 7 จากเดิมที่ให้ตรวจเฉพาะวันแรกที่มาถึงครั้งเดียว
มาตรการนี้ใช้เช่นเดียวกันทั้งคนต่างชาติและคนไทยที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
ข้อมูลเบื้องลึกที่เป็นเหตุผลสำคัญให้ศบค.ตัดสินใจ น่าจะมีอย่างน้อย 3 ข้อหลัก
1.สถานการณ์โอมิครอนในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีการแพร่เร็ว และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศเหล่านี้
ที่สำคัญ ประเทศอเมริกา และแถบยุโรป ล้วนอยู่ใน 63 ประเทศที่ไทยประกาศให้สามารถเข้าประเทศได้ในรูปแบบ Test&Go
2.สถานการณ์โอมิครอนที่ไทยตรวจพบจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเริ่มพบกรณีคนไทยที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ติดเชื้อโอมิครอนในลักษณะที่ผูกโยงกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ
ข้อมูล ณ วันที่ 22 ธ.ค.2564 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสมแล้ว 104 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไทยที่ติดในประเทศ 2 ราย
รายแรกเป็น หญิงไทย อยู่ที่จ.ปทุมธานี เป็นภรรยาที่ติดเชื้อจากสามีชาวโคลัมเบียที่เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย โดยสามีตรวจครั้งแรกไม่พบติดเชื้อ ต่อมาพบเชื้อและเป็นโอมิครอน
รายที่ 2 เป็นลูกเขย อยู่ที่จ.อุดรธานี ติดเชื้อจากพ่อตาที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ ต่อมาพบเชื้อและเป็นโอมิครอน
รวมถึง การพบอัตราการติดเชื้อในชาวต่างชาติที่เดินมาไทยมากขึ้น ข้อมูล เมื่อวันที่ 20ธ.ค. พบว่า ผู้เดินทางเข้าระบบ Test & Go ในช่วงครึ่งเดือนแรกของธ.ค.พบติดโควิดมากกว่าเดือนพ.ย. 2 เท่า และผู้ที่ติดเชื้อตรวจพบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 1 ใน 4
ขณะที่สัดส่วนการเจอสายพันธุ์ของไทย แม้ส่วนใหญ่กว่า 90 % ยังเป็นเดลตา แต่ช่วง 1 สัปดาห์พบว่า โอมิครอนเพิ่มจากไม่ถึง 1 % เป็นราว 3 %
3.ข้อมูลเกี่ยวกับโอมิครอนในเรื่องความรุนแรงของโรคยังไม่ชัดเจนนัก แม้จะชัดเจนขึ้นในเรื่องการแพร่กระจายเชื้อที่เร็วขึ้นกว่าเดลตา และมีค่าR0หรือการแพร่เชื้อต่อจาก 1 คน ไปได้อีกราว 8 คน ขณะที่เดลตาแพร่ได้ราว 4-5 คน
แม้แต่ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19ได้ค่อนข้างครอบคลุม ก็กลับพบการติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากเช่นกัน อย่างเช่น อังกฤษ ที่มีการรายงานการติดเชื้อขยับเป็นวันละเกือบ 1 แสนราย แม้จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ได้ขยับสูงขึ้นมาก ยังพบอยู่ในราวหลักสิบก็ตาม
แต่การที่จำนวนผู้ติดเชื้อ จะส่งผลต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตนั้นจะต้องพิจารณาตามหลัง 3-4 สัปดาห์ จึงจะสามารถบอกได้ว่า “จำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นนั้น ส่งผลให้มีการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน”
นัยหนึ่งคือจะเป็นข้อมูลที่พอจะบอกได้ว่า “สายพันธุ์โอมิครอน”นั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงขึ้นและเสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่
ซึ่งข้อมูลของประเทศอังกฤษนี้ ค่อนข้างสำคัญอย่างมากต่อการคาดการณ์สถานการณ์ในประเทศไทย !!!
ด้วยว่าอังกฤษมีขนาดประชากรประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย มีอัตราการครอบคลุมวัคซีนไม่ต่างนัก และวัคซีนหลักที่ใช้เช่นเดียวกับไทย คือ แอสตร้าเซนเนก้า
ดังนั้น การชะลอระบบ Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ของไทยออกไปราว 2 สัปดาห์ ก็เป็นไปเพื่อดูท่าที่จากผู้เดินทางเข้ามาไทยที่อนุญาตแล้วราว 2 แสนคนว่าจะส่งผลต่อสถานการณ์โควิด-19และสายพันธุ์โอมิครอนอย่างไร
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. บอกว่า ในจำนวนผู้ที่จะเดินทางเข้ามาอีก 2 แสนคนนั้น คาดว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อราว 100-200 ราย ซึ่งระบบยังรองรับได้
และเป็นการประวิงเวลาเพื่อรอข้อมูล “ความรุนแรงของโอมิครอนจากอังกฤษ”ให้ชัดเจนมากขึ้นด้วยว่า เมื่อผ่านไป 2-3 สัปดาห์แล้วผู้ติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากนั้น อาการรุนแรงและเสียชีวิตมากน้อยอย่างไร
รวมถึง ข้อมูลอื่นๆจากในประเทศ นานาประเทศ และองค์การอนามัยโลกด้วย
ซึ่งสำคัญอย่างมากในการประเมินสถานการณ์ และพิจารณาระดับนโยบาย
เพราะหากติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรง นโยบายจะเป็นอีกแบบ แต่หากติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว นโยบายก็จะเป็นอีกแบบ
ทั้งหมดจึงเป็นมาตรการเพื่อยืดเวลาออกไปให้นานที่สุด ก่อนที่โอมิครอนจะระบาดในประเทศไทย เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุข สร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา