22 ธ.ค. 2021 เวลา 14:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อปี 2000 บริษัทขุดเหมืองหิน Yingliang ได้ค้นพบฟอสซิลไข่จำนวนหนึ่งในพื้นที่เมืองกวางซู ประเทศจีน แต่ก่อนที่ใครจะได้ตระหนักถึงความพิเศษของมันก็ต้องรออีก 15 ปีต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่เทคนิคของบริษัทกำลังคัดแยกฟอสซิลที่บริษัทขุดเจอเพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เขาก็ได้สังเกตเห็นบางอย่างที่สะดุดสายตาย
.
ร่องรอยของกระดูกที่เล็ดลอดออกมาจากรอยแตกราวของเปลือกไข่ พวกเขาจึงตระหนักถึงบางสิ่งภายในและบรรจงแกะพร้อมกับกำจัดตะกอนบางส่วนที่เติมเต็มภายในไข่อย่างระมัดระวัง ซึ่งเผยให้เห็นถึงไดโนเสาร์ตัวน้อยที่ขดตัวอยู่ เมื่อนั้นวงการวิทยาศาสตร์ได้ตื่นเต้นอย่างหยุดไม่อยู่ที่ได้รับทราบข่าวการค้นพบนี้ราวกับเด็กน้อยที่หลงไหลในของเล่นชิ้นโปรดที่ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมนี้
นักวิทยาศาสตร์หลายสิบคนต่างตอบรับอย่างกระตืนรือร้นในการเข้าร่วมการศึกษา “เจ้าตัวเล็กแห่งหยิงเหลียง”(Baby Yingliang) ชื่อเล่นของไดโนเสาร์ตัวนี้ที่คาดว่ามีความยาวจากหัวถึงหางราว 27 ซม. ได้ขดตัวอยู่ในไข่ที่มีขนาดยาว 17 ซม. พวกเขาคาดว่ามันน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 130 ล้านปีถึง 66 ล้านปีก่อน
.
“ฉันแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลย เพราะมันได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์แบบ” Darla Zelenitsky นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาลการี ประเทศแคนนาดากล่าว มันได้กลายเป็นหลักฐานที่สวยงามที่สุดของวิวัฒนาการจากไดโนเสาร์สู่นกสมัยใหม่
ท่วงท่าการขดตัวในไข่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “Tucking” หัวม้วนตัวลงมากอยู่ใต้ลำตัว เท้าทั้งสองข้างและหลังงองุ่มตามรูปร่างของไข่ ซึ่งไม่เคยถูกพบมาก่อนในไดโนเสาร์ แต่พบปกติในตัวอ่อนของนก มันเป็นพฤติกรรมที่ประสบความสำเร็จต่อการฟักไข่ออกมา หากตัวอ่อนตัวใดไม่อาจทำท่านี้ได้ โอกาสเสียชึวิตของมันจะสูงขึ้น
.
เป็นที่ทราบกันดีว่านกพัฒนาท่าทางนี้มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ทำได้เพียงแค่คาดเดาว่าบรรพบุรุษของนกหรือไดโนเสาร์เทอโรพอด(ไดโนเสาร์ไร้ฟันที่มีจงอยปาก)เป็นผู้เริ่มต้นพฤติกรรมนี้เนื่องจากไม่เคยพบตัวอ่อนในไข่ของมันมาก่อน นี่จึงเป็นครั้งแรกและเป็นตัวอย่างที่ประเมินค่าไม่ได้ของหลักฐานในพฤติกรรมนี้
ภาพอธิบายกระบวนการ "ซุกตัว" ของตัวอ่อนทั้งไดโนเสาร์ นก และไก่
“ไดโนเสาร์ก่อนคลอดตัวน้อยนี้ดูเหมือนลูกนกที่ขดตัวอยู่ในไข่ ซึ่งเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าลักษณะเด่นหลายประการของนกในปัจจุบันนี้มีวิวัฒนาการมาในบรรพบุรุษไดโนเสาร์ของพวกมันเป็นครั้งแรก” ศาสตราจารย์ Steve Brusatte จากมหาวิทยาลัยเอดินบะนะกล่าวพร้อมบอกว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา
.
วิวัฒนาการของนกนั้นมีหลักฐานทางฟอสซิลเชื่อมโยงถึงไดโนเสาร์มากมาย โดยบรรพบุรุษที่คล้ายนกที่สุดตัวแรกที่ค้นพบคือ Archaeopteryx lithographica ฟอสซิลที่เก็บรายละเอียดได้อย่างสมบูรณ์แม้กระทั่งขนของมัน ราวกับว่ามันกำลังบินอยู่
ไดโนเสาร์ได้เปลี่ยนขาหน้าของตัวเองให้กลายเป็นปีก หลายคนคาดกันว่าเกิดจากความพยายามในการร่อนจากต้นไม้หนึ่งสู่อีกต้นหนึ่งอาจเพื่อหาอาหารหรือเพื่อหลีกหนีนักล่า พร้อมกับพัฒนาจงอยปากทีใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทำให้มันกินได้พืชและสัตว์ สามารถสังเกตจงอยปากในนกปัจจุบันจะมีรูปร่างคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเหยี่ยวหรือนกแก้ว พวกมันต่างมีจงอยและไร้ฟัน แต่ก็จิกได้ทั้งเนื้อและเมล็ดพืช
.
เมื่อพวกมันเริ่มร่อนได้ดีขึ้น ร่างกายก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เบาขึ้น มีถุงลมที่ใหญ่ขึ้นใช้พลังงานได้มากขึ้น และสิ่งที่เป็นหลักฐานที่ปฎิเสธไม่ได้เลยคือเท้าของมันที่แทบไม่ได้เปลี่ยนไปเลยจากไดโนเสาร์บรรพบุรุษของมัน
Archaeopteryx lithographica
แต่ถึงอย่างนั้นแม้จะมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับวิวัฒนาการของนก นักวิทยาศาสตร์ก็ได้แค่คาดเดาว่าตัวอ่อนไดโนเสาร์จะมีพฤติกรรมการขดตัวในไข่ เนื่องจากไม่เคยพบมันที่ไหนมาก่อน เมื่อไม่มีหลักฐานอยู่ตรงหน้า พวกเขาจึงไม่อาจฟันธงว่าพฤติกรรมนี้เริ่มต้นที่ไหน มันเกิดก่อนที่จะวิวัฒนาการเป็นนก หรือเป็นนกแล้วถึงเริ่มเกิดพฤติกรรมนี้
.
“ตัวอ่อนไดโนเสาร์เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายากที่สุด เรารู้สึกตื่นเต้นมากเกี่ยวกับการค้นพบ ‘เจ้าตัวเล็กแห่งหยิงเหลียง’ ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีและช่วยเราตอบคำถามมากมายเกี่ยวกับการเจริญเติบโตรวมทั้งการสืบพันธุ์ของไดโนเสาร์ด้วย” Fion Waisum Ma ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวในรายงาน
ไม่มีใครเคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ พวกมันประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อราว 100 ล้านปีก่อนและมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกหลายสิบล้านปี เป็นสายพันธุ์ที่ครอบครองโลกอย่างแท้จริง แต่พวกเรากลับรู้เรื่องของมันน้อยมาก เพราะมีเพียงหลักฐานไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่หลุดรอดมาบอกเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของพวกมัน
.
คาดกันว่าไดโนเสาร์มีมากกว่าหลายสิบล้านสายพันธุ์เมื่อคำนวนจากความหลากหลายของชีวิตในปัจจุบันและระยะเวลาที่พวกมันมีชีวิต บางทีอาจมากถึงร้อยล้านสปีชีส์ แต่ฟอสซิลที่เราค้นพบนั้นมีไม่มากมายเลยทั้ง ๆ ที่พวกมันเดินเต็มโลกใบนี้ไปหมด หากเป็นเช่นนั้นจริงเรายังเพิ่งค้นพบไปไม่ถึง 1% และยังมีอีกมากมายที่รอการค้นพบอยู่
ไดโนเสาร์ถูกพบทั่วโลก
นี่จึงเป็นตัวอย่างอันทรงคุณค่าที่สร้างความตื่นเต้นมากมายในวงการวิทยาศาสตร์ ไม่แปลกใจเลยที่หลายคนจะหลงไหลถึงความพิเศษของมัน จะว่าไปนักวิทยาศาสตร์ก็คือผู้ใหญ่ที่ยังคงมีความหลงไหลแบบเด็ก ๆ และตื่นเต้นทุกครั้งที่พวกเขาค้นพบอะไรบางอย่างแม้จะดูแปลก ๆ ไปบ้างสำหรับคนทั่วไป
.
ผมอาจใช้คำว่าตื่นเต้นมากไปหน่อย แต่ก็ไม่มีคำไหนที่ใช้แทนได้ดีกว่านี้ พวกเขากำลังค่อย ๆ เปิดโลกธรรมชาติในจักรวาลใบนี้ให้เราได้รับรู้ถึงความสวยงามมากมายทั้งในอดีตและอนาคต ความลับที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์หาคำตอบ
Matthew Lamanna นักบรรพชีวินวิทยาที่เป็นผู้อ่านรายงานการค้นพบนี้กล่าวว่า “เราสามารถคาดเดาได้จนกว่าวัวจะกลับบ้าน”(We can speculate until the cows come home) ซึ่งเป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่าเราได้แต่คาดเดามาอย่างยาวนาน “หากไม่มีฟอสซิลนี้แสดงหลักฐาน พฤติกรรมนี้ยังคงเป็นแค่การคาดเดา”
.
วิทยาศาสตร์กำลังก้าวเดินไป แม้หลายครั้งจะทุลักทุเลไปบ้าง แต่ก็ยังก้าวเดิน พร้อมบอกเล่าความพิเศษ หากคุณไม่ตื่นเต้น ผมกลับตื่นเต้นและตื่นเต้นอย่างมาก
.
อ้างอิงงานวิจัย https://doi.org/10.1016/j.isci.2021.103516
โฆษณา