23 ธ.ค. 2021 เวลา 04:05 • สุขภาพ
สหรัฐฯ อนุมัติ 'ยาเม็ดต้านโควิด' ของไฟเซอร์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 12 ปีขึ้นไป ใช้รักษาที่บ้านได้
สหรัฐฯ อนุมัติยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดของไฟเซอร์ สำหรับบุคคลกลุ่มเสี่ยงอายุ 12 ปีขึ้นไป ทำให้ยาสูตรนี้เป็นยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ใช้รับประทานและใช้รักษาอาการที่บ้านได้สูตรแรก
แพกซ์โลวิด (Paxlovid) ยาเม็ดต้านไวรัสของไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพเกือบ 90% ในการป้องกันคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้ออาการรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ตามข้อมูลการทดลองทางคลินิกของบริษัท ขณะที่ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเมื่อเร็วๆ นี้ บ่งชี้ว่ายาตัวนี้ยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันตัวกลายพันธุ์โอมิครอนด้วยเช่นกัน
ไฟเซอร์ปรับเพิ่มประมาณการกำลังผลิตปี 2022 เป็น 120 ล้านคอร์สรักษา จากเดิม 80 ล้านคอร์ส และบอกว่าทางบริษัทพร้อมส่งมอบในสหรัฐฯ ในทันที โดยยาชุดนี้ของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาสองตัว คือยาสูตรใหม่และยาสูตรเดิมคือริโทนาเวียร์ (ritonavir)
อเมช อดัลจา นักวิชาการอาวุโสของสถาบันความมั่นคงทางสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ ระบุว่า การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดเป็นก้าวย่างสำคัญในการรับมือโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้น "อย่างไรก็ตาม ยาสูตรนี้มี 2 ประเด็นสำคัญที่ยังค้างคาอยู่ นั่นก็คือมันอาจขาดแคลนในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเรายังเผชิญความท้าทายในการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างทั่วถึงอยู่"
ไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทมีคอร์สรักษา 180,000 คอร์สที่พร้อมส่งมอบในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำสัญญาสั่งซื้อยานี้จำนวน 10 ล้านคอร์ส ในราคา 530 ดอลลาร์ต่อคอร์ส (ประมาณ 17,900บาท)
การตัดสินใจอนุมัติใช้รักษาในกรณีฉุกเฉินของสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ ในครั้งนี้ มีขึ้นในขณะที่อเมริกากำลังต่อสู้กับเคสผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างมาก โดยมีตัวกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ กระตุ้นให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องประกาศมาตรการใหม่ในการต่อสู้การระบาดระลอกใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดส่งชุดตรวจให้ประชาชน 500 ล้านครัวเรือนฟรีตั้งแต่เดือนมกราคม ส่งแพทย์และพยาบาล 1,000 คนของกองทัพไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลบางพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก จัดส่งสิ่งของจำเป็นให้รัฐที่มีการระบาดรุนแรง เพิ่มศูนย์ตรวจโควิดฟรีและศูนย์ฉีดวัคซีน
"ยาเม็ดนี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างการรักษาที่ถูกเปิดแผลโดยตัวกลายพันธุ์โอมิครอน" วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำแห่งโรงเรียนการแพทย์แวนเดอร์บิลต์กล่าว ที่ผ่านมาวิธีการรักษาโควิด-19 ที่ใช้ในวงกว้างที่สุดคือการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนตีบอดี แต่มันพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพน้อยในการต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์และมีอุปทานค่อนข้างจำกัด
ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้และฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายน ก่อนแผ่ลามไปทั่วโลกและตอนนี้มันมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของเคสผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในสหรัฐฯ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ในผลการศึกษาต่างๆพบว่าการเคยติดเชื้อมาแล้วและการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันโอมิครอนได้เพียงบางส่วน แต่เข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน
สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ระบุว่าพวกเขาอนุมัติยาเม็ดแพกซ์โลวิด สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินรักษาผู้ติดเชื้อวัยผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีอาการเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะลุกลามสู่ระดับรุนแรง
เอฟดีเอระบุว่ายาเม็ดตัวนี้เป็นยาที่ต้องดูแลการใช้และการสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และควรเริ่มใช้เร็วที่สุดหลังได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 และภายใน 5 วันที่เริ่มแสดงอาการ โดยผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องรับประทานยาทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 วัน
ไฟเซอร์ระบุว่า แม้การทดลองทางคลินิกจะไม่ได้ทดลองในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่การรับประทานยาในปริมาณดังกล่าวควรส่งผลต่อระดับความเข้มข้นของยาในเลือดในสัดส่วนเท่ากันกับผู้ใหญ่ต่อผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักอย่างน้อย 40 กิโลกรัม
ส่วนยาสูตรริโทนาเวียร์นั้นอาจมีปฏิกิริยากับยาสูตรอื่นได้ ซึ่งไฟเซอร์ระบุว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ควรลดยาปริมาณยาสูตรอื่นขณะรับการรักษาโรคโควิด-19
บริษัทไฟเซอร์มีแผนยื่นขอให้ทางเอฟดีเออนุมัติใช้ยาตัวใหม่นี้เต็มรูปแบบในปี 2022 ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของสหภาพยุโรปหรืออียู ระบุว่าบรรดาประเทศอียูสามารถใช้ยาแพกซ์โลวิดได้ แม้ว่าการตรวจสอบเพื่อรับรองยาสูตรดังกล่าวจะยังไม่เสร็จสิ้นก็ตาม
ไฟเซอร์ ได้ตกลงให้บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ผลิตยาสูตรนี้ให้ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 95 ประเทศ ผ่านสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) กับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม หรือ Medicines Patent Pool และคาดว่าจะมีการผลิตยาเวอร์ชันทั่วไปได้ในปีหน้า
ปัจจุบันสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ อยู่ระหว่างกำลังทบทวนอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ (molunpiravir) จากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค โดยผลการทดลองระบุว่า ยาสูตรนี้ลดความเสี่ยงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ 30%
(ที่มา:รอยเตอร์)
โฆษณา