28 ธ.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
LTK แพลตฟอร์ม 6 หมื่นล้าน ที่สร้างขึ้นเพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์ มีรายได้จากคอนเทนต์
คำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” น่าจะเป็นคำหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยขึ้นในช่วงหลัง ๆ มานี้
เนื่องจากในยุคที่อินเทอร์เน็ต แทรกตัวอยู่ในทุกช่วงชีวิต ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้
แล้วถ้าถามว่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์นั้นเติบโตแค่ไหน ?
ในปี 2021 นี้ Statista ได้ประเมินมูลค่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์ไว้ที่ 4.6 แสนล้านบาท
ซึ่งเติบโตจากปี 2020 อยู่ที่ 42% เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การหารายได้ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ
เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลหลาย ๆ แห่ง นอกเหนือจากการรับสปอนเซอร์ส่วนตัวแล้ว
ก็ยังไม่พร้อมซัปพอร์ตการหารายได้อื่น ๆ เท่าไรนัก
วันนี้ลงทุนเกิร์ล จึงหยิบเอา LTK แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมา เพื่อช่วยอินฟลูเอนเซอร์หารายได้โดยเฉพาะ และปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้ ก็มีมูลค่าสูงถึง 6.7 หมื่นล้านบาท
LTK ก่อตั้งโดยใคร และทำไมถึงมีมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
แพลตฟอร์ม LTK ก่อตั้งโดยคุณ Amber Venz Box
เมื่อก่อนเธอเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบแฟชั่น จึงได้สร้าง Blog ส่วนตัวสำหรับแชร์คอนเทนต์เกี่ยวกับแฟชั่นขึ้นมา
แต่ต่อมาเธอก็เริ่มอยากจะหารายได้ จากการสร้างคอนเทนต์ของเธอ ทำให้ในปี 2011 เธอจึงได้ก่อตั้ง RewardStyle ร่วมกับแฟนของเธอ
RewardStyle เป็นแพลตฟอร์ม ที่เปิดโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถหารายได้ จากการสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียของตนเองได้
โดยแพลตฟอร์มนี้จะสร้างลิงก์ขึ้นมา เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์นำไปแปะบนโซเชียลของตัวเอง
และเมื่อมีผู้ติดตามมาซื้อสินค้าผ่านลิงก์นี้ อินฟลูเอนเซอร์ก็จะได้ค่าคอมมิชชันจากการซื้อครั้งนั้น
หลังจากก่อตั้ง RewardStyle แล้ว ทั้งคู่ก็ตัดสินใจสร้างอีกแพลตฟอร์มขึ้น ชื่อ LIKEtoKNOW.it ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถล็อกอินบัญชี Instagram ของตนเองผ่านแพลตฟอร์มได้
จากนั้นหากมีผู้ติดตามกดถูกใจรูปบน LIKEtoKNOW.it ก็จะมีอีเมลส่งข้อมูลรายละเอียดสินค้า รวมถึงลิงก์สำหรับซื้อสินค้าที่อยู่ในโพสต์นั้นไปให้ผู้ติดตามทันที
ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคกว่า 95% ที่ใช้งาน LIKEtoKNOW.it เลือกที่จะรับข้อมูลเหล่านั้นเสมอ
อย่างไรก็ตามในปี 2021 คุณ Amber Venz Box และแฟนหนุ่มก็ได้ตัดสินใจนำเอา
ทั้งสองแพลตฟอร์มที่เคยทำ มารวมกันให้กลายเป็นหนึ่งเดียว ในชื่อ LTK
แล้วแพลตฟอร์ม LTK แตกต่างจากสองแพลตฟอร์มแรกอย่างไร ?
LTK เปรียบเสมือนกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ให้อินฟลูเอนเซอร์สร้างคอนเทนต์ และใส่ลิงก์สินค้าที่ตัวเองนำมาทำคอนเทนต์ได้ ซึ่งเมื่อมีผู้ติดตามกดซื้อสินค้า
จากลิงก์เหล่านั้น อินฟลูเอนเซอร์ก็จะได้ค่าคอมมิชชันจากส่วนนี้
โดยคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม LTK ก็จะมีตั้งแต่แฟชั่น ของแต่งบ้าน ไปจนถึงสินค้าไลฟ์สไตล์อื่น ๆ
ที่น่าสนใจคือ เครือข่ายพาร์ตเนอร์ของ LTK ที่มีมากกว่า 5,000 ร้านค้า และอีกกว่า 1 ล้านแบรนด์ ก็เปิดโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์ สามารถสร้างคอนเทนต์ได้หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
ซึ่งปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ LTK มีมากกว่า 1 แสนคน และสร้างยอดขายหมุนเวียนภายในแอปพลิเคชันได้สูงถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว
นอกจากนั้น แพลตฟอร์มก็ไม่ได้แค่เข้ามาช่วยเหลืออินฟลูเอนเซอร์ในเรื่องรายได้เท่านั้น
แต่ยังช่วยให้อินฟลูเอนเซอร์รู้ถึงประเภทของคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจ จากสินค้าที่ผู้ติดตามนิยมซื้ออีกด้วย
ในขณะเดียวกันทางแบรนด์เองก็จะสามารถรับรู้ได้เช่นกัน ว่าอินฟลูเอนเซอร์คนไหนกำลังเป็นที่นิยม หรือว่าอินฟลูเอนเซอร์คนไหน ที่น่าจะเหมาะกับการโปรโมตสินค้าของตน
พอประกอบเข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคเอง ที่มักจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากอินฟลูเอนเซอร์ มากกว่าการโฆษณาประเภทอื่น จึงยิ่งทำให้แพลตฟอร์มอย่าง LTK น่าจะสามารถเติบโตได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ทำให้ภายหลังจากการระดมทุนรอบล่าสุดจาก Vision Fund ของ SoftBank แพลตฟอร์ม LTK ก็ได้รับเงินทุนมากว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ถูกประเมินว่ามีมูลค่าบริษัทถึง 6.7 หมื่นล้านบาท กลายเป็นอีกหนึ่งยูนิคอร์นที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ซึ่งหากพูดถึงสาเหตุที่ทำให้ LTK เติบโตได้อย่างรวดเร็วถึงเพียงนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการมีพื้นฐาน
ของสองแพลตฟอร์มเดิมอยู่แล้ว และเมื่อนำทั้งสองมารวมกัน จึงทำให้ LTK กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์ขึ้น
รวมไปถึงเทรนด์ของแบรนด์และผู้บริโภค ที่หันมาให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ก็ทำให้ LTK กลายเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่น่าจับตามองทีเดียว
และคงจะดีไม่น้อย หากประเทศไทยจะมีแพลตฟอร์มลักษณะคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในไทย ยิ่งเติบโตมากขึ้นอีกระดับ..
โฆษณา