23 ธ.ค. 2021 เวลา 11:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อนาคตของ “ประมงไทย” จะเป็นอย่างไร?
📌 จุดแข็งอุตสาหกรรมประมงไทย
ในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประมงไทยเป็นอุตสาหกรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิต และสร้างรายได้ให้กับคนไทยเป็นจำนวนมาก โดยภาคการประมงของไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 20% ของสินค้าประเภทอาหารที่มีการผลิตและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ตั้งแต่สินค้าประมงประเภทต้นน้ำ อย่างเช่น ปลา กุ้ง หรืออาหารทะเลอื่นๆ ที่สดและแช่แข็ง ไปจนถึง สินค้าที่อยู่ในกลางน้ำ หรือปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน อย่างเช่น สินค้าแปรรูป จำพวกอาหารกระป๋อง เป็นต้น
เมื่อมองไปในภาพการผลิตทั้งโลก ประเทศไทยก็ยังถือเป็นประเทศที่มีปริมาณการทำประมงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญก็มาจากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ติดทะเลล้อมรอบสองข้าง ทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากได้ อีกทั้ง อยู่ในพื้นที่ที่ทำให้ขนส่งสินค้าได้ง่าย
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือว่าค่าจ้างแรงงานของไทยที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อต้นทุนถูก ก็ทำให้สินค้าประมงไทยสามารถขายในราคาต่ำ มีความสามารถในการแข่งขันสูง เป็นที่สนใจในตลาดโลกได้
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการที่ไทยเองก็มีเทคโนโลยีการผลิตที่ค่อนข้างทันสมัย เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น และก็มีอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวเนื่องครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
📌 สินค้าอาหารทะเลหลักของไทยมีอะไรบ้าง?
เวลาที่เราพูดถึงการประมงนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างหลักๆ ประกอบไปด้วย การจับสัตว์น้ำ (Capture) และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture) ซึ่งสำหรับกรณีของไทยนั้น เรามีผลผลิตด้านการประมงส่วนใหญ่มาจากการจับสัตว์น้ำในทะเลหรือ Marine Capture เป็นหลัก
ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าประมงของไทยก็นับได้ว่ามีความหลากหลายอย่างมาก โดย สินค้าประมงที่เรามีการส่งออกเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ปลาและปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งมีความโดดเด่นอย่างมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ของตลาดอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งของไทย
โดยตลาดสำคัญของผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยนั้นประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป เป็นหลัก ในขณะที่ตลาดสำคัญของสินค้าหมึกนั้นก็ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น อิตาลี เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ สินค้าประมงอีกประเภทหนึ่งที่เรียกได้ว่าประเทศไทยมีความโดดเด่นอย่างมาก ก็คืออาหารทะเลกระป๋อง โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลกระป๋องใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ไทยยูเนียน เป็นผู้ผลิตรายสำคัญ
ทั้งนี้ สินค้าอาหารทะเลกระป๋องของไทยที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ทูน่ากระป๋องซึ่งครองตลาดโลกมาอย่างยาวนาน โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของตลาดโลกมานานหลายปี
📌 อุปสรรคและความท้าทายของภาคการประมงไทย
ในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการประมงได้ประสบกับอุปสรรคหลายประการ จนทำให้อุตสาหกรรมประมงโดยรวมซบเซามานานหลายปี หนึ่งในปัญหาดังกล่าวก็คือ ปัญหาเรื่องการประมงเกินขนาดหรือที่เรียกกันว่า Overfishing ซึ่งทำให้จำนวนสัตว์น้ำในทะเลลดลง และผลผลิตจากการประมงลดลงอย่างมาก
ในช่วงที่ผ่านมา จึงมีเรือประมงไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้ออกเรือเพื่อไปทำการประมงนอกชายฝั่งไปไกล เพื่อให้ได้ปลาได้มากขึ้น แต่ก็กลายว่าได้นำมาสู่ปัญหาอีกประการหนึ่ง ซึ่งก็คือการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งหมายถึงการประมงที่ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม ทำให้ในปี 2558 สหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เพื่อเป็นการตักเตือนให้ไทยแก้ไขปัญหาด้านการประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง หากไม่ปฏิบัติตาม จะถูกลงโทษห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทยเข้าสหภาพยุโรป
ผลที่ตามมาคือ การให้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปได้ทำให้ไทยต้องหันกลับปฏิรูป ยกเครื่องภาคการประมงไทยครั้งใหญ่ ทั้งการจัดทำกฎหมายที่จำเป็นเพื่อให้สามารถกำกับดูแลการประมงได้เข้มงวด รัดกุมตามมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น และในช่วงเวลาดังกล่าว ยังมีการสั่งห้ามเรือประมงที่ขาดใบอนุญาตห้ามออกไปทำประมงอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้ผลผลิตการประมงลดลงอย่างมาก
แต่การยกเครื่อง ปฏิรูปดังกล่าว ก็เป็นผลสำเร็จ เพราะต่อมาในปี 2562 สหภาพยุโรปก็ได้ยกเลิกใบเหลืองของประเทศไทยในที่สุด
📌 อนาคตของภาคการประมงไทย
มองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมประมงของไทยก็คาดว่าจะเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดภายในประเทศและนอกประเทศ จากการที่มีผู้บริโภคจำนวนมากในหลายๆ ประเทศ มีฐานะ รายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ความต้องการอาหารทะเล ซึ่งเป็นอาหารราคาแพง เพิ่มมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ กระแสของ Work From Home ก็ยิ่งทำให้ความต้องการสินค้าอาหารทะเลสำเร็จรูป หรืออาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งสามารถเก็บสต็อคไว้เพื่อประกอบอาหารที่บ้าน เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมประมงไทยเองก็เผชิญกับความท้าทายอย่างเช่น การแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งในด้านราคา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้มีการปรับตัวผ่านการหันไปทำประมงโดยการเพาะเลี้ยงแทน
แต่ว่าของไทยเอง ยังคงปรับตัวค่อนข้างช้า เนื่องจากผู้ประกอบการไทยก็ยังมองว่าต้นทุนในการทำสถานเพาะเลี้ยงนั้นค่อนข้างสูง ซึ่งหากยังคงปรับตัวช้าเช่นนี้อยู่ ก็อาจจะทำให้ผลผลิตประมงที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และสูญเสียสถานะผู้ผลิตและส่งออกหลักของโลกไป
#ส่งออกไทย #เศรษฐกิจไทย #ประมง #ตลาดประมง
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา