23 ธ.ค. 2021 เวลา 12:07 • ข่าวรอบโลก
5 ปี อันตราย: ฟองสบู่ใครจะแตกก่อนกัน?
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
4
ใกล้สิ้นปี ค.ศ. 2021 เป็นเวลาให้พวกเรามองไปยังอนาคต แต่อนาคตมอง 1 ปี อาจสั้นไป มอง 10 ปี ก็อาจยาวไป ผมจึงอยากชวนประเมินภาพในกรอบสัก 5 ปี พอให้เราเห็นเค้าลางของเศรษฐกิจรถไฟเหาะที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังโควิด
3
ศึกเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังเป็นภาพใหญ่ที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก มีคำถามว่า สองยักษ์นี้ต่อสู้อะไรกัน อาจตอบได้ว่า ทั้งคู่กำลังเดิมพันสามข้อ
เดิมพันแรก คือ ใครจะวิ่งได้เร็วกว่ากัน ประโยคนี้เป็นวรรคทองของไบเดน ก่อนหน้านี้ ทรัมป์มุ่งแต่จะตัดแข้งตัดขาจีน แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนทำตัวเองให้แข็งแกร่ง เมื่อไบเดนเข้ารับตำแหน่ง จึงอัดฉีดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเทคโนโลยีชนิดเต็มสูบ เพื่อให้มั่นใจว่าในสนามแข่งขันทางเทคโนโลยี สหรัฐฯ วิ่งเร็วกว่าจีน
10
คนจีนมักเปรียบให้เห็นความอ่อนด้อยของตนยิ่งขึ้นไปอีก โดยบอกว่าการวิ่งแข่งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ผ่านมานั้น เป็นการวิ่งในสนามและกติกาที่สหรัฐฯ สร้างขึ้น กล่าวคือ เทคโนโลยีทั้งหมดก็สร้างอยู่บนฐานเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มของสหรัฐฯ คนจีนเองจึงเริ่มปลุกใจกันว่าต้องเริ่มทุ่มสรรพกำลังสร้างฐานเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มของจีนเองที่แยกขาดจากฝั่งสหรัฐฯ ให้ได้
7
เดิมพันที่สอง คือ ใครจะจำกัดจุดอ่อนและความเสี่ยงของตนได้ดีกว่ากัน ไม่ให้ลามเป็นวิกฤต พูดอีกอย่างก็คือ เดิมพันว่าฟองสบู่ฝั่งใครจะแตกก่อน ข้อนี้ต่างจากเดิมพันแรก ไม่ใช่เพียงเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ตนแข็งแรง แต่ต้องควบคุมมะเร็งและโรคร้ายที่เริ่มก่อตัวไม่ให้ลามหนักด้วยเช่นกัน
12
เดิมพันสุดท้าย คือ ใครจะทนได้นานกว่ากัน เพื่อนๆ อ่านแล้วอาจสงสัยว่า ทนอะไร คำตอบก็คือ ทนต่อสภาพความผันผวนต่างๆ ของโลกที่โหดร้ายขึ้นมาก
4
นอกจากสภาพภายนอกที่เป็นยุคของสงครามการค้า ทำให้ปัจจัยภายนอกเป็นลบกับทุกประเทศ โลกยังเผชิญวิกฤตโควิด วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตสังคมผู้สูงวัย เป็นกันหมดทั่วโลก
5
หากทศวรรษ 90 เคยเป็นยุคของการ “ประชันเสน่ห์” เพราะประเทศต่างๆ กำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เศรษฐกิจโลกฟ้าเปิดค้าขายเสรี แต่ปัจจุบันเรากำลังอยู่ใน “ยุคประชันขี้เหร่” คือแข่งกันว่าใครขี้เหร่น้อยกว่าใคร ใครอึดกว่ากันภายใต้สภาพความเสี่ยงภายนอกภายในที่ถาโถม
7
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า จุดเน้นของยุทธศาสตร์สหรัฐฯ และจีนตอนนี้ดูจะแตกต่างกัน สหรัฐฯ ยุคไบเดนกำลังทุ่มเต็มที่กับเดิมพันข้อแรก ขณะที่สีจิ้นผิงนั้น แม้ว่าจะปลุกใจให้จีนลงทุนกับตัวเองด้วย แต่ดูเหมือนจุดเน้นหนักของเขาจะอยู่ที่การรักษาเสถียรภาพมากกว่าการเติบโตอย่างหวือหวา กล่าวคือเน้นเดิมพันข้อสองและสาม หวังว่าฟองสบู่สหรัฐฯ จะแตกโพละก่อน และจีนจะอึดได้นานกว่า
6
นักวิเคราะห์บางคนถึงกับมองว่า ในเชิงยุทธศาสตร์ จีนได้ระเบิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ด้วยตัวเองในปีนี้ ท่ามกลางช่วงการฟื้นตัวจากโควิดเพื่อที่ทำให้จีนพอจะทนเจ็บได้ อย่าลืมนะครับว่าวิกฤตเอเวอแกรนด์นั้น แท้จริงแล้วมาจากการออกกฎลิมิตเพดานหนี้ของรัฐบาลจีน ทำให้บริษัทเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถกู้เงินก้อนใหม่มาโปะก่อนเก่าได้อีกต่อไป เกิดเป็นวิกฤตชำระหนี้ไม่ได้
7
มองจากมุมของรัฐบาลจีนก็คือ ต้องหยุดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้โตไปมากกว่านี้ เพราะนี่คือความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจจีน ดังนั้น ให้แตกเสียแต่ตอนนี้ที่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีกว่า จากนั้นปีหน้าจีนก็ทนเจ็บจากพิษวิกฤตอสังหา พิสูจน์ความอึดกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยลงให้ได้
9
ขณะที่ในฝั่งสหรัฐฯ มีหลายคนถามว่าฟองสบู่เริ่มก่อตัวหรือยัง สหรัฐฯ กำลังเผชิญปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เนื่องจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบมหาศาลในช่วงโควิด ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ คึกคักและร้อนแรงที่สุด ตลาดหุ้นพุ่งถึงจุดสูงสุด ตลาดคริปโตก็พุ่งทะลุเพดาน เศรษฐกิจการเก็งกำไรทะยานเหนือทุกความคาดหมายก่อนหน้านี้
3
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในตอนนี้ ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจเกือบทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงาน ตลาดหุ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ เรียกว่าทำสถิติดีเด่นถึงขีดสุด แต่ปริศนาก็คือ ในการสำรวจความเห็นประชาชน กลับพบว่าประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี คะแนนนิยมไบเดนก็ตกต่ำสุดตั้งแต่รับตำแหน่งมา ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ต่างงงกันหมด
2
ประเด็นก็คือ ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจดีทุกตัว แต่มีหนึ่งตัวที่ไม่ดี นั่นก็คือเงินเฟ้อ ที่ขึ้นถึงจุดสูงสุดในรอบ 30 ปี ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นเพียงเรื่องระยะสั้น ตอนนี้พอเริ่มตระหนกว่าเงินเฟ้อดูเหมือนจะไม่ลงมาง่ายๆ ก็มีความเห็นใหม่แพร่หลายว่า ถ้าเศรษฐกิจดี เงินจะเฟ้อก็ไม่เห็นเป็นไร แม้แต่พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลยังแนะนำว่าธนาคารกลางไม่ควรไปแตะอัตราดอกเบี้ยเพื่อจะควบคุมเงินเฟ้อเลยด้วยซ้ำ เพราะอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
6
แต่ดูจากผลสำรวจประชาชนสหรัฐฯ แล้ว คิดว่าคงไม่เห็นด้วยกับนักเศรษฐศาสตร์สักเท่าไหร่ ใครที่เข้าใจการเมืองก็จะทราบดีว่า เงินเฟ้อจะเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งมิดเทอมของสหรัฐฯ ในปีหน้า และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบต่อไป นอกจากนั้น เงินเฟ้อยังจะเป็นตัวตอกย้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในสหรัฐฯ จนอาจเป็นชนวนวิกฤตการเมืองรอบใหม่
6
หากรัฐบาลไบเดนต้องใช้ยาแรงจัดการเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะลดเงินอัดฉีดหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วถ้าเงินเฟ้อยังไม่ลดอีก จะทำอย่างไร จะต้องใช้ยาแรงขึ้น แล้วเมื่อยาแรงเกินหรือปรับสูตรยาไม่ดี ก็เสี่ยงไม่เบาที่จะเจาะฟองสบู่ตลาดหุ้นหรือตลาดคริปโตให้แตกดังโพละ (ตลาดคริปโตปัจจุบันมีขนาดเทียบเท่าตลาดซัพไพรม์ก่อนเกิดวิกฤตรอบปี ค.ศ. 2008 เรียบร้อยแล้ว มีใครเริ่มหวาดเสียวหรือไม่?)
8
ยังมีคนมองโลกในแง่ดีต่อไปว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ (รวมตลาดหุ้นและตลาดคริปโต) อาจพุ่งแรงไม่หยุดต่อไปอีกไม่มีวันจบก็ได้ แต่ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอว่าไม่เคยมีอะไรพุ่งทิศทางเดียวไม่หยุด และไม่มีฟองสบู่ที่ไม่แตก คำถามที่ไม่มีใครรู้ก็คือจะแตกดังโพละเมื่อไหร่ และอะไรจะเป็นชนวน
8
เพื่อนๆ อ่านบทความนี้ก่อนปีใหม่ เดี๋ยวใจจะหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่มว่าวิกฤตกำลังจะมา แต่อย่างที่บอกตอนต้นครับว่า เราคุยกันในกรอบ 5 ปี ปีหน้าผมยังเชื่อว่าจะเป็นปีที่สดใสของฝั่งสหรัฐฯ เพราะจะเป็นความรู้สึกร่วมว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่จากโควิด งานเลี้ยงน่าจะยังไม่เลิก ปีหน้าน่าจะยังร้อนแรงหวือหวาต่อไป
5
ตรงกันข้ามกับฝั่งของจีนที่ในปีหน้า เศรษฐกิจจีนจะยังได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้จะไม่เกิดวิกฤต แต่ก็จะชะลอตัว รัฐบาลจีนประเมินการเติบโตว่าอยู่ที่ระดับ 5% ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่จีนบอกว่าเขาอึดและทนได้
10
โดยเดิมพันของจีนก็คือ หลังปีหน้าและปีต่อๆ ไปในช่วง 5 ปี งานเลี้ยงสหรัฐฯ จะยังไปต่อได้ถึงไหน ฟองสบู่ตลาดสหรัฐฯ จะขยายจนใหญ่โตมหึมาเพียงใด เพราะยิ่งใหญ่ เวลาแตกโพละที ก็อาจตัดสินชัยชนะสงครามเศรษฐกิจได้เลยนะครับ
7
โฆษณา