24 ธ.ค. 2021 เวลา 04:40 • การศึกษา
หลังจากวันนี้ไปจะเปลี่ยนเป็นการเขียนภาษาไทย โดยที่วันนี้จะเริ่มจากงานวิจัยของท่านอาจารย์ Prof.Dr.Chanchai Tangpong ที่ปัจจุบันสอนอยู่ที่ College of Business, North Dakota State University, USA ครับ
งานวิจัยนี้อ้างอิงดังนี้ Hung, K. T., & Tangpong, C. (2010). General risk propensity in multifaceted business decisions: Scale development. Journal of Managerial Issues, 88-106.
ธีมหลักของงานนี้คือ Risk propensity (แนวโน้มความเสี่ยง) ซึ่งคนที่มีระดับแนวโน้มความเสี่ยงสูงก็มักจะตัดสินใจเสี่ยงหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าคนที่มีระดับแนวโน้มความเสี่ยงต่ำ งานนี้จะเน้นไปที่การพัฒนาแบบวัด (Measurement scale) แนวโน้มความเสี่ยงกับการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยแบบวัดแนวโน้มความเสี่ยงที่ผ่านมามักจะเน้นไปในแต่ละด้านเช่น ด้านการตัดสินใจทางการเงิน สังคมหรือเกี่ยวกับการพนัน แต่ในการตัดสินใจทางธุรกิจนั้นมีหลายมุมที่ต้องพิจารณาไปพร้อม ๆ กันหรือที่เรียกว่า Multifacted business decisions ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การผลิต การเงิน การบุคคลเป็นต้น ทำให้แบบวัดที่ผ่านมาไม่สามารถวัดระดับแนวโน้มความเสี่ยงกับการตัดสินใจทางธุรกิจแบบภาพรวมได้
ทีนี้มาดูวิธีการพัฒนาแบบวัดของงานวิจัยนี้กันนะครับ โดยจากรูปภาพที่หนึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนได้เริ่มจากทำการสร้างข้อคำถามโดยได้รีวิวจากงานวิจัยที่ผ่านมาและนำมาปรับปรุงและต่อยอดให้เหมาะสมกับการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยในขั้นตอนนี้ผู้เขียนได้นำข้อคำถามจากงานที่ผ่านมาห้าข้อและผู้เขียนคิดเพิ่มเติมอีกห้าข้อรวมเป็นสิบข้อคำถาม และให้เลือกตอบแบบ Likert scale แบบ 1-7 ระดับ
ต่อมาผู้เขียนได้ทำแบบสอบถามและได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่เป็นนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ลงเรียนในวิชา Principle of Management จำนวน 96 คนและในวิชา Organizational Behavior จำนวน 123 คน ผู้เขียนระบุว่าการใช้กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มแยกกันช่วยให้ทดสอบความเที่ยง (Reliability) ได้ดีและสามารถทดสอบความเป็นเอกภาพของตัวแปร (Unidimensionality) ได้ ถ้าแบบวัดสามารถผ่านการทดสอบ Reliability and unidimensionality จากทั้งสองกลุ่มตัวอย่างได้จะเพิ่มความเป็นไปได้ที่แบบวัดนี้มีความเป็นลักษณะทั่วไป (Generalizability) หรือใช้กับกลุ่มอื่น ๆ ได้
อย่างไรก็ตามในแบบสอบถามที่ใช้ยังมีการเพิ่มตัวแปรอื่น ๆ เข้าไปด้วยเช่น 1) IPIP openness scale 2) risk propensity in financial decision scale 3) risk propensity in gambling decision scale 4) risk propensity in social decision scale 5) the general ambiguity tolerance scale 6) the problem-specific ambiguity tolerance scale โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง (validate) ของแบบวัดที่พัฒนาขึ้น
นอกจากนี้งานนี้ยังมีการสร้างสถานการณ์จำลอง (scenario) ที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงในการพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามอ่านและเลือกตัดสินใจแบบ “ใช่หรือไม่” โดยที่การตัดสินใจในสถานการณ์นี้ประกอบไปด้วยหลายมุมมองภายใต้ความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยการทำเช่นนี้เพื่อที่จะทดสอบ Predictive validity ของแบบวัดหรือก็คือ ตรวจสอบความถูกต้องในการทำนายของแบบวัด
หลังจากเก็บข้อมูลแล้วก็ได้ทำ Factor analysis เพื่อลดจำนวนข้อคำถามและทดสอบความเป็นเอกภาพ ผู้เขียนได้ทำ Exploratory factor analysis โดยใช้ Principal component analysis ผู้เขียนยังได้ทำ Confirmatory factor analysis ต่อเพื่อประเมินความสอดคล้องของข้อคำถาม หลังจากทดสอบดังที่กล่าวมาแล้วพบว่า ข้อคำถามได้ถูกลดลงเหลือห้าจากสิบข้อและผู้เขียนใช้ห้าข้อคำถามในการทดสอบขั้นต่อไป
โดยผู้เขียนได้ทำการรวมคะแนนและหาค่าเฉลี่ยของห้าข้อคำถามที่เหลือและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Correlation analysis) กับตัวแปรอื่น ๆ ในแบบสอบถามเพื่อทดสอบความตรงของตัวแปร พบว่าตัวแปร Risk propensity ในงานนี้มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่น ๆ ที่สอดคล้องกันแต่ไม่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่นที่ไม่สอดคล้องกันซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบบวัดที่พัฒนาขึ้นมามีความตรง
สุดท้ายผู้เขียนได้ทำการทดสอบความตรงในการทำนายของแบบวัดตัวแปรนี้ โดยทำการทดสอบ Logistic regression กับตัวแปรตามที่ให้อ่านสถานการณ์การตัดสินใจทางธุรกิจที่กล่าวไปแล้ว พบว่าแนวโน้มความเสี่ยงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับแนวโน้มการยอมรับความเสี่ยงในการพัฒนาผลิตสินค้าใหม่ โดยสรุปแบบวัดที่พัฒนาในงานวิจัยนี้มีระดับความตรงที่ยอมรับได้
หลังจากนั้นผู้วิจัยยังได้ทำการตรวจสอบความเป็นลักษณะทั่วไปของห้าคำถามที่ได้จากการทดสอบที่ผ่านมากับกลุ่มตัวอย่างอีกกลุ่มคือ นักศึกษา MBA จำนวน 85 คนโดยได้ทำ Factor analysis and confirmatory factor analysis และพบว่าทั้งห้าข้อคำถามในแบบวัดมีความตรง (Validity) และเที่ยง (Reliability) ในระดับดี
ผลโดยภาพรวมของงานวิจัยนี้คือการพัฒนาแบบวัด Risk propensity ที่เหมาะกับการตัดสินใจทางธุรกิจที่ประกอบไปด้วยห้าข้อคำถามและผ่านการทดสอบกับหลายกลุ่มตัวอย่างและหลายเทคนิคการทดสอบ
ประโยชน์หลักที่ได้รับจากงานนี้คือ แบบวัดแนวโน้มความเสี่ยงแบบทั่วไปที่สามารถใช้ประเมินแนวโน้มความเสี่ยงที่มีผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของผู้บริหารหรือนักธุรกิจได้ เราสามารถใช้แบบวัดในการวัด Risk propensity ของผู้บริหารเพื่อที่จะได้รู้ระดับแนวโน้มความเสี่ยงของเขาและพิจารณาว่าควรมอบหมายหรือเขาเหมาะกับการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงหรือไม่ หรือการมอบหมายให้จัดการโครงการใหม่ที่มีความเสี่ยงได้หรือไม่
สิ่งที่ชอบในงานวิจัยนี้คือ ขั้นตอนในการทดสอบต่าง ๆ เข้าใจง่าย ทำการทดสอบในหลายกลุ่มตัวอย่างและทดสอบอย่างหลากหลาย แต่ยังมีสิ่งที่สงสัยคือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในแต่ละกลุ่มถือว่าไม่ใหญ่นัก นอกจากนี้ยังสงสัยในเชิงเนื้อหาของข้อคำถามในแบบวัดที่ระบุว่าเหมาะกับการประเมินแนวโน้มความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการตัดสินใจทางธุรกิจในหลากหลายด้าน
โฆษณา