24 ธ.ค. 2021 เวลา 14:07 • ไลฟ์สไตล์
Special Scoop: เทศกาลสุขใจ คริสต์มาสและปีใหม่สากล
นับถอยหลังสู่ปีคริสต์ศักราช 2022 หรือพุทธศักราช ๒๕๖๕
บทความพิเศษรับเทศกาล
ในวันว่างๆ ที่มีกิจกรรมแค่กินกับนอน วาตาชิพยายามขบคิดว่าจะเขียนอะไรดี แต่ในช่วงเวลาแบบนี้คงจะไม่พ้นงานเขียนเกี่ยวกับเทศกาลที่มีการประดับไฟกันสวยงาม ขณะที่วาตาชิกำลังนั่งแทะขนมรสช็อกโกแลตเพิ่มมวลร่างกายอยู่ก็เริ่มตัดสินใจที่จะเขียนเรื่องราวที่มีคนนำเสนอไปแล้วเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ถ้างั้นมาเริ่มกันที่ทำความเข้าใจความเป็นมาของคริสต์มาสกันก่อน
คริสต์มาส ในภาษาอังกฤษเขียนว่า Christmas มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า “Christes Maesse” แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า เนื่องจากวันคริสต์มาสเป็นวันที่คริสต์ศาสนิกชนนิยมทำพิธีมิสซา
วันคริสต์มาส ตามความเชื่อของชาวคริสต์เชื่อว่าเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุว่าพระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร
ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูประสูติ ณ เมืองเบธเลเฮม แคว้นจูเดีย ในสมัยจักรพรรดิออกัสตัสแห่งกรุงโรม และในอดีตในรัชสมัยของจักรพรรดิออเรเลียน (Emperor Aurelian) ค.ศ.274 ทรงกำหนดให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันเฉลิมฉลองเหล่าสุริยเทพของชาวโรมัน แต่ชาวคริสต์ในอาณาจักรโรมันถือว่าพระเยซูเป็นศาสดาสูงสุดของพวกเขาจึงเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซูในวันดังกล่าวแทน
มีการบันทึกว่า วันคริสต์มาสที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.336 นับจากนั้นเป็นต้นมา วันคริสต์มาส จึงตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี
คืนก่อนวันคริสต์มาส "คริสต์มาสอีฟ" (Christmas Eve)
คริสต์มาสอีฟ (Christmas Eve) ตามวัฒนธรรมตะวันตกโดยทั่วไปคือ วันที่ 24 ธันวาคม ของทุกปีตามระบบปฏิทินสมัยใหม่ ความหมายจริงคือ เย็นแรกของวันคริสต์มาส ซึ่งมีการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงการประสูติของพระเยซู
โดยในวันนี้ ชาวคริสต์จำนวนมากจะเดินทางไปร่วมพิธีนมัสการตามโบสถ์คาทอลิค ทำกันในเวลาเที่ยงคืน หรือที่ทางเยอรมนีเรียกว่า “ไวฮนาคท” (Weihnacht) หรือมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “White Christmas” ซึ่งถือว่าเป็น “คืนอันศักดิ์สิทธิ์”
เหตุผลที่ คริสต์มาส เริ่มต้นในตอนเย็นของวัน คริสต์มาสอีฟ เพราะธรรมเนียมการนับปีของคริสเตียน วันจะเริ่มต้นเมื่อพระอาทิตย์ตก ตามเรื่องราวในปฐมกาล เกิดความสว่างกับความมืด คือวันที่ 1
เฒ่าเครายาวผู้ใจดี ซานตาคลอส (Santa Claus)
ซานตาคลอส แต่เดิมนั้นมาจากชื่อของ นักบุญนิโคลาส (Saint Nicholas) เป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเด็กๆ นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราชของไมรา (อยู่ในประเทศตุรกี ปัจจุบัน) มีชีวิตอยู่ราวศตวรรษที่ 4
ต่อมามีชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐ พวกเขายังคงรักษาประเพณีนี้เอาไว้ คือฉลองนักบุญนิโคลาส ในวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้
เด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมาก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้างเพื่อรับของขวัญ ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอเมริกา
"สีของวันคริสต์มาส" ( Colours of Christmas )
สีของวันคริสต์มาสนั้นมี 3 สีด้วยกัน เป็นสีที่อยู่คู่กับวันคริสต์มาสเสมอ คือ
สีเขียว, สีแดงแดง และสีทอง ด้วยความเชื่อว่า
สีเขียวหมายถึงชีวิต แดงคือโลหิต และทองคือชีวิตอันเป็นนิรันดร์
ไม้ประดับไฟที่มีดวงดาวสว่างไสวอยู่บนยอด "ต้นคริสต์มาส " (Christmas Tree)
ต้นคริสต์มาส ที่ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยโบราณ “ต้นคริสต์มาส” หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและอีฟไปหยิบผลไม้มากินและทำบาป ไม่เชื่อฟังพระเจ้า (ปฐก.3:1-6)
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครถึงความหมายของคริสต์มาส และเอาต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ตรงกลางเพื่อประดับฉากโดยใช้ต้นสน เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่หาง่าย เป็นการสื่อถึงบาปกำเนิดของอาดัมและเอวา
การแสดงละครคริสต์มาสแบบนี้มีมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 15 พระสังฆราชหลายแห่งได้ห้ามแสดง เนื่องจากการแสดงละครคริสต์มาสกลายเป็นการเล่นสนุกค่อนไปทางละครล้อเลียน ซึ่งไม่ตรงกับบรรยากาศของการฉลองวันประสูติของพระเยซู
ชาวบ้านรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสดูละครคริสต์มาสสนุกๆ อีก จึงได้นำรูปแบบไปไว้ที่บ้านของตน โดยเอาต้นไม้มาไว้ที่บ้าน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการแขวนลูกแอปเปิ้ล ขนม และของขวัญอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
แม้ว่าประเพณีการตั้งต้นคริสต์มาสมีความเป็นมาดังกล่าว ชาวคริสต์ในสมัยนี้ก็ยังนิยมทำกันอยู่เพราะเห็นว่ามีความหมายถึงพระเยซูเจ้า ผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิต (ปฐก.2:9) ที่เขียวสดเสมอในทุกฤดูกาล ซึ่งหมายถึง นิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า
และนอกจากนั้นยังหมายถึงความสว่างของพระองค์ เสมือนแสงเทียนที่ส่องในความมืด ทั้งยังหมายถึงความชื่นชมยินดี และความสามัคคีที่พระเยซูเจ้าประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดรวมของครอบครัวในเทศกาลนั้น
เพลงประจำเทศกาลคริสต์มาส
Joy to the World หรือ พระทรงบังเกิด (คาทอลิก) หรือ ความสุขเปรมปรีดิ์มีแก่ชาวโลก (โปรเตสแตนต์) ประพันธ์เนื้อร้องโดย สาธุคุณไอแซก วัตต์ส (Isaac Watts) นักเทศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ช่วงปี ค.ศ.1719
เป็นหนึ่งในเพลงสวดนมัสการพระเกียรติ และชัยชนะของพระคริสต์ และเพื่อการรับเสด็จการกลับมาอีกครั้งของพระคริสต์ในวันพิพากษาโลก
หลังจากเนื้อหาเพลงนี้ถือกำเนิดมาร่วมร้อยปี ถึงได้ผู้แต่งทำนอง โดย โลเวลล์ เมสัน (Lowell Mason) นักแต่งเพลงในสหรัฐฯ เป็นผู้นำบทกวี Joy To The World มาใส่ทำนองดังที่ได้ยินกันกันทุกวันนี้
หวังว่าทุกอย่างที่วาตาชิรวบรวมมาจะช่วยให้ทุกคนจะได้ความรู้และทำความเข้าใจเทศกาลนี้ และถึงแม้ว่าวาตาชิจะไม่ใช่ชาวคริสต์ แต่ชิก็ชื่นชอบเทศกาลแห่งความสุขนี้มากเหมือนๆ กับคนอื่น
ขอติดเทศกาลปีใหม่สากลไว้ครั้งหน้า
ขอลาด้วยคำว่า Merry Christmas
คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณแปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ
เป็นการอวยพรขอให้ได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ
แล้วเจอกันใหม่
วาตาชิ
Thanks for
แมวหง่าว: travel.trueid.net/ ประวัติวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม เทศกาลแห่งความสุข วันประสูติพระเยซูเจ้า
ไทยรัฐออนไลน์: thairath.co.th/lifestyle/culture/ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "วันคริสต์มาส" ทำไมตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี
admin: educatepark.com/ คริสต์มาสอีฟ คืออะไร – วันที่ 24 ธ.ค. วัน คริสต์มาสอีฟ
โฆษณา