24 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Love Actually เศรษฐศาสตร์ของวันคริสต์มาส
คริสต์มาสถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง เราต่างรับรู้สึกถึงความสุขที่ล่องลอยอยู่รอบตัว แต่รู้หรือไม่ว่าในเทศกาลคริสต์มาสนี้ก็ยังมีแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ซ่อนอยู่ วันนี้เราจะพาทุกท่านไปหาความหมายของเทศกาลคริสต์มาสในมุมมองใหม่ๆ ผ่านหนังเรื่อง Love actually หนังรักขึ้นหิ้งที่หลายคนมักจะหยิบมาดูในช่วงเวลานี้ของทุกปี กับเรื่องราวของแต่ละคู่รักและแต่ละครอบครัว โดยมีเทศกาลคริสต์มาสเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงทุกตัวละครไว้ด้วยกัน
📌 ตลาดหุ้นก่อนวันคริสต์มาส
นักเศรษฐศาสตร์ พบว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า Pre-holiday effect ในหลายๆ ประเทศที่มีการเฉลิมฉลองคริสต์มาส พูดง่ายๆ คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นสูงผิดปกติในช่วงวันก่อนคริสต์มาส
ย้อนกลับไปในช่วง 1988 มีงานวิจัยแรกๆ เลยที่พบว่าผลตอบแทนก่อนช่วงเทศกาลนี้สูงกว่า 23 เท่า เมื่อเทียบกับวันปกติ แต่ก็มีงานวิจัยอื่นๆ อีกหลายชิ้นที่ทำการทดสอบแล้วไม่พบ Pre-holiday effect  จนกระทั่งในปี 2009 งานวิจัยของคุณ Marrett และ คุณ Worthington ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยหลักทางจิตวิทยาของนักลงทุนง่ายๆ คือช่วงก่อนคริสต์มาส นักลงทุนมักจะร่าเริงและมองโลกในแง่ดีมากขึ้น จึงมีอารมณ์ในเชิงบวกที่จะซื้อหุ้นเพิ่ม อีกทั้งงานวิจัยของคุณ Bley และ คุณ Saad ในปี 2010 ก็ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า Pre-holiday effect นั้นมาจากปัจจัยเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาของนักลงทุนเอง ดังนั้นปรากฎการณ์นี้จึงมักจะพบในประเทศที่เป็นคริสเตียน
1
📌 เทศกาลคริสต์มาส…ช่วงเวลาแห่งช็อปปิ้ง
ในสหรัฐฯ ช่วงเวลาของเทศกาลคริสต์มาสจะเริ่มขึ้นหลังจากวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งจะตกอยู่ในวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน จนกระทั่งจบวันคริสต์มาส ดังนั้นฤดูกาลแห่งการช็อปปิ้งนี้จะอยู่ที่ 26 - 32 วัน ซึ่งความสั้นหรือยาวของเทศกาลนี้สามารถมีผลกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เลยทีเดียว
ย้อนกลับไปในปี 1939 สหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติ ได้ทำการล็อบบี้ให้เทศกาลของคุณพระเจ้าเลื่อนขึ้นเร็วกว่าที่ปกติที่กำหนดให้เป็นวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้จึงได้ออกเป็นกฎหมายขึ้นในปี 1941 นับตั้งแต่นั้นวันขอบคุณพระเจ้าจึงกลายเป็นวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายนแทน
จากงานวิจัยของคุณ Basker ในปี 2005 ได้พบว่าความยาวของช่วง Christmas Sale มีผลต่อยอดขายปลีก กล่าวคือ หากช่วง Christmas Sale เลยออกไปอีก 1 วัน ยอดขายต่อหัวจะเพิ่มขึ้น 6.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ และงานวิจัยของคุณ Urbatsch ก็ยังขยายผลเพิ่มเติมอีกว่า การที่วันขอบคุณพระเจ้าเร็วขึ้นและเทศกาลเฉลิมฉลองยาวนานขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นตลาดแรงงานอีกด้วย
1
📌 คริสต์มาสและตลาดแรงงาน
งานวิจัยของคุณ Mulligan ในปี 2011 ศึกษาผลกระทบของฤดูกาล (เช่นการที่คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงคริสต์มาส) ต่อตลาดแรงงาน ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ในปีที่เศรษฐกิจถดถอยและในปีที่ไม่ถดถอย พบว่าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาตลอดทั้งปี อีกทั้งความต้องการซื้อสินค้าที่มากขึ้นในช่วงคริสต์มาสยังมีผลต่อตลาดแรงงานเหมือนกันไม่ว่าจะในปีที่เศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ถดถอยก็ตาม
📌 ในช่วงคริสต์มาส มีคนเสียชีวิตมากขึ้น…แต่ก็มีเด็กเกิดจากช่วงเวลานี้มากขึ้นเช่นกัน
ขึ้นชื่อว่าเทศกาลเฉลิมฉลองก็ต้องมีแอลกอฮอล์มาเกี่ยวด้วยอยู่แล้ว ซึ่งในหลายๆ งานวิจัยก็พบว่าช่วงคริสต์มาส ผู้คนมีแนวโน้มที่จะดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะสุราเป็นพิษเนื่องจากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากจนเกินไป ในงานวิจัยของคุณ Poikolainen และคณะ ชี้ให้เห็นว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มมากขึ้น 1% ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากภาวะสุราเป็นพิษเพิ่มขึ้น 0.4%
1
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าในช่วงคริสต์มาส อัตราการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ไปทำให้คนที่เหงาและสิ้นหวังยิ่งทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นไปอีก (เหมือนที่หลายๆ คนก็อยู่คนเดียวมาได้ทั้งปี แต่มารู้สึกอยากจะมีแฟนเป็นพิเศษในช่วงคริสต์มาสหรือปีใหม่) หรืออาจจะเกิดจากความคาดหวังที่สูงเกินไปตลอดทั้งปีทำให้ผิดหวัง จึงจบลงด้วยการฆ่าตัวตายในช่วงสิ้นปีแบบนี้ อย่างไรก็ตามมีหลายงานวิจัยที่ออกมาโต้แย้งประเด็นนี้ว่าเป็นประเด็นเฉพาะบุคคลมากกว่า
แต่ไม่ต้องกังวลใจเกินไป เพราะถึงอย่างนั้น คริสต์มาสก็เป็นช่วงที่ทำให้เด็กหลายคนถือกำเนิดมาเช่นกัน เพราะงานวิจัยของคุณ Cesario ในปี 2002 พบว่าจำนวนคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนั้นจะอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งก็ทำให้ในเดือนกันยายนปีถัดมา มีอัตราการเกิดสูงสุดในหลายๆ ประเทศ แต่ก็ยังยากที่จะหาข้อสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าปัจจัยหลักๆ เป็นเพราะบรรยากาศวันคริสต์มาส สภาพท้องฟ้าอากาศ หรืออุณหภูมิในช่วงเวลานั้นของปีกันแน่
1
📌 ส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการให้ของขวัญที่ผู้รับไม่ได้ต้องการ
พูดถึงแง่มุมน่ารักๆ ของคริสต์มาสไปเยอะแล้ว ทีนี้เราจะมาพูดถึงแง่มุมที่สร้างปัญหากวนใจให้แต่ละคนไม่น้อยคือเรื่องการเลือกของขวัญให้ผู้รับในวันคริสต์มาส เพราะถ้าเลือกให้แล้วผู้รับไม่ถูกใจ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “การสูญเปล่าของทรัพยากร” ได้
งานวิจัยของคุณ Joel Waldfogel ในปี 1993 ระบุว่าการให้ของขวัญเป็นการสูญเปล่าของทรัพยากร โดยเขาแบ่งคำถามเพื่อสำรวจเป็น 2 ข้อ
จะยอมจ่ายเท่าไหร่ให้กับของขวัญที่พวกเขาได้รับ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะยอมจ่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาของขวัญจริงๆ เช่น สมมติว่ามีคนให้ของขวัญมูลค่า 100 บาท แต่เราเห็นค่ามันแค่ 70 บาท ส่วนต่าง 30 บาทนั้นก็คือส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น 
จะยอมรับเงินมูลค่าเงินเท่าไหร่เพื่อแทนของขวัญชิ้นนั้น เช่น ถ้าได้ของขวัญมูลค่า 100 บาท หากเปลี่ยนเป็นรับเงินสดแทน ก็จะต้องให้เงินสด 90 บาทถึงจะยอม
ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือ มูลค่าของขวัญในสายตาผู้รับนั้นหายไป 10 -33% จึงมีแนวคิดว่าบางทีการให้เงินเป็นของขวัญน่าจะมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการที่สุด แต่มันก็อาจดูไม่เหมาะ จึงมีสิ่งที่เรียกว่าบัตรกำนัล (Gift cards) เกิดขึ้นมา อย่างไรก็ตามยังคงพบว่า แม้จะให้บัตรกำนัลเป็นของขวัญก็ยังเกิดส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจอยู่ดี โดยเมื่อดูจากที่คนนำมันไปขายต่อในเว็บไซต์ที่ราคาถูกลงกว่าราคาหน้าบัตรราวๆ 10% ดังนั้นเมื่อการให้บัตรกำนัลยังไม่มีประสิทธิภาพพอ เลยนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าบางทีการที่ผู้รับของขวัญบอก wish-list หรือรายการของขวัญที่อยากได้มาเลย น่าจะเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลที่สุดในการจะลดส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่ก็คงจะลดความตื่นเต้น ความสนุกในการคาดเดาของขวัญไปอยู่เหมือนกัน
2
คริสต์มาสเป็นเทศกาลหนึ่งที่หลายคนรอคอย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็ตาม เป็นเทศกาลแห่งการเป็นผู้ให้ และได้รับของขวัญ (แม้ว่าของขวัญนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการเท่าไรนัก) รวมถึงเป็นเทศกาลบอกรักไปในตัว และนอกเหนือไปกว่านั้นยังเป็นเทศกาลที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี และกระตุ้นความสุขของทุกคนที่เหนื่อยล้ามาตลอดทั้งปี ก่อนที่จะเริ่มปีใหม่ได้อย่างสวยงาม
1
Bnomics ขอให้ทุกคนได้ใช้เวลาแห่งความสุขนี้ไปกับครอบครัวและคนที่คุณรักนะคะ แล้วพบกันใหม่ในปีหน้า
Merry Christmas and Happy New Year ค่ะ
1
Reference :
Marrett, G. J. and A. C. Worthington (2009). An empirical note on the holiday effect in the Australian stock market, 1996-2006. Applied Economics Letters 16 (17), 1769-1776
Bley, J. and M. Saad (2010). Cross-cultural differences in seasonality. International Review of Financial Analysis 19 (4), 306ñ312
Basker, E. (2005). íTwas four weeks before Christmas: Retail sales and the length of the Christmas shopping season. Economics Letters 89 (3).
Mulligan, C. B. (2011). Does Labor Supply Matter During a Recession? Evidence from the Seasonal Cycle.
Poikolainen, K., K. Leppanen, and E. Vuori (2002). Alcohol sales and fatal alcohol poisonings: a time-series analysis. Addiction 97 (8), 1037-1040.
Cesario, S. K. (2002). The “Christmas Effect” and Other Biometeorologic Influences on Childbearing and the Health of Women. Journal of Obstetric, Gynecologic & Neonata Nursing 31 (5), 526-535.
Waldfogel, J. (1993). The Deadweight Loss of Christmas. The American Economic Review 83 (5), 1328-1336.
ตัวละคร
ตอนนี้ รักของคุณเป็นแบบไหนใน Love Actually: หนังรักที่อยู่กับเราในทุกเวลา (mthai.com)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา