27 ธ.ค. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
"โรคห่า สมัยปลายอยุธยา" เรื่องเล่าจากคอลัมน์ "รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด" บนแอป 2read
ท่ามกลางบรรยากาศของโรคระบาด COVID-19 สายพันธุ์ต่างๆ ในช่วงนี้ ทำให้หวนไปนึกถึงโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้เคยเกิดโรคระบาดใหญ่ที่มีคนล้มตายเป็นจำนวนมากมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
คนโบราณเขาเรียกโรคระบาดแบบนี้ว่า “โรคห่า”
วันนี้เราจะย้อนไปดู “โรคห่า” ในสมัยปลายอยุธยากันครับ
“โรคห่า” ในสมัยอยุธยา
มาปรับทัศนคติกันก่อนเลย...
คำว่า “โรคห่า” เป็นคำที่คนโบราณเขาใช้เรียกโรคอะไรก็ได้ที่มันระบาดหนักๆ แล้วมีคนตายกันเยอะๆ
คือไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นอหิวาตกโรคเท่านั้นนะครับ ขอแค่มันระบาดหนัก แล้วมีคนตายกันเป็นเบือ คนโบราณท่านก็จะเรียกว่า “โรคห่า” หรือ “ห่าลง” กันทั้งนั้น
(ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ ผมเชื่อว่า COVID-19 ก็น่าจะถือเป็น “โรคห่า”ได้เช่นกัน)
และคำว่า “ห่า” ในกรณีแบบนี้ก็ไม่ใช่คำหยาบแต่อย่างใด
“โรคห่า”ในอยุธยาเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และเท่าที่ผมรวบรวมจากหลักฐานต่าง ๆ มาได้ มีดังนี้
1. ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา
“โรคห่า” ที่ระบาดในครั้งนั้น น่าจะเป็น กาฬโรค เพราะถ้าไปสืบค้นไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์โลก จะพบการแพร่ระบาดอย่างหนักของกาฬโรคช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ตรงกับช่วงอยุธยาตอนต้น) ตอนนั้นมันระบาดหนักทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน ซึ่งเมื่อสำเภาจีนเข้ามาติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองแถบนี้ ก็อาจนำพาเชื้อกาฬโรคติดมาด้วยก็เป็นได้
2. สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกไว้ว่า
“ศักราช 816 จอศก ครั้งนั้นคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก”
ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้ว่า
“ศักราช 802 ปีวอกโทศก ครั้งนั้นคนออกทรพิษตายมากนัก”
ถึงแม้ตัวเลขศักราชของพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับจะต่างกันหลายปี แต่เอาเป็นว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยาได้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของไข้ทรพิษ จนทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากก็แล้วกัน
3. สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร)
ในครั้งนั้นเกิดการระบาดอย่างหนักของไข้ทรพิษ ผู้คนทั้งในและนอกพระนครก็ล้มตายกันเป็นเบือ แต่เนื่องจากผมมีข้อมูลไม่มากพอ ดังนั้นผมจะไม่ลงรายละเอียด
4. สมัยสมเด็จพระเพทราชา
ดูเหมือนว่าครั้งนี้จะเป็น “ห่าลง” ครั้งใหญ่ในสมัยอยุธยา ถึงแม้พงศาวดารไทยจะไม่ได้บันทึกรายละเอียดไว้มากนัก แต่โชคดีที่เรามีจดหมายของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสอยู่ 2 ฉบับ ที่เขาเขียนรายงานเหตุการณ์ถึงกันอยู่ตลอด เขาบันทึกไว้เลยว่า ในตอนนั้นได้เกิดการระบาดหนักของ ไข้ทรพิษ และมีคนตายกันมากถึงเกือบๆ 80,000 ชีวิตเลยทีเดียว
5. สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
เรื่องนี้ผมอ่านไม่เจอในพงศาวดารไทยเลย แต่ก็พบโดยบังเอิญว่า มันไปปรากฏในจดหมายของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส 2 ฉบับ ที่เล่าว่าได้เกิดไข้ทรพิษขึ้นในปี ค.ศ. 1712-1713 (พ.ศ. 2225-2226) ซึ่งถ้าเทียบเลขศักราชแล้วก็จะเป็นช่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
ซึ่งเรื่องโรคห่า (ไข้ทรพิษ) ที่ระบาดหนักในสมัยสมเด็จพระเพทราชา และสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ นี่แหละ ที่ผมจะเอารายละเอียดมาเล่าให้ในบทความนี้
โรคห่าสมัยพระเพทราชา ในพงศาวดารไทย
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกเรื่องนี้ว่าเกิดขึ้นใน จ.ศ. 1060 ปีเถาะ เอกศก (ประมาณ พ.ศ. 2241) ดังนี้
1
“ขณะนั้นให้เกิดพยาธิโรคาป่วยไข้ ชนก็ตายเป็นอันมากในปีนั้นน้ำมากเหลือขนาด ท่วมไร่นาเรือกสวน”
ฉบับพันจันบอกเราแค่เพียงว่าได้เกิดโรคระบาดขึ้น ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร และไอ้ที่ว่าคนตาย “เป็นอันมาก” นี่มันมากแค่ไหน
แต่อย่างไรก็ดี ข้อความนี้ในฉบับพันจัน ก็พอจะเป็นเงื่อนงำบางอย่างให้เราสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ต่อไป
โรคห่าสมัยพระเพทราชา ในจดหมายบาทหลวงฝรั่งเศส
เรื่องนี้ปรากฏในจดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศส 2 ฉบับ
ฉบับแรกเป็นของ มองซิเออร์ปินโต (หรือ อ็องตวน ปินโต / ปิงตู) ซึ่งเขาเขียนไปถึงมองซิเออร์บาส์เซต์ ลงวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1696 (พ.ศ. 2239) ซึ่งเป็นสมัยสมเด็จพระเพทราชา
ในจดหมายฉบับนี้ บาทหลวงปินโต (มองซิเออร์ปินโต) ได้เขียนเล่าไว้ว่า
ในกรุงศรีอยุธยาตอนนั้นเกิดภัยแล้ง อาหารการกินก็มีราคาแพงขึ้นมาก นอกจากนั้นยังเกิดเพลิงไหม้บ่อยๆ ไม่ว่าทางวังหลวงจะพยายามป้องกันระมัดระวังสักแค่ไหนก็ตาม
น้ำในแม่น้ำก็ขุ่นและเขียวไปหมด จนแทบจะไม่เหลือน้ำให้กินให้ใช้กันมาหลายวัน อากาศก็ร้อนจัดจนแทบจะทนไม่ได้... และแล้วก็ได้เกิดโรคร้ายขึ้น
บาทหลวงปินโตเล่าว่า ก่อนจะมีไข้ทรพิษ ได้เกิดโรคชนิดหนึ่งขึ้นก่อน โดยคนป่วยจะมีเลือดออกปากและจมูกได้ 2-3 วันก็จะตายลง จากนั้นก็เกิดไข้ทรพิษเข้ามาแทรกทั่วทั้งราชอาณาจักร ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ เป็นไข้ทรพิษล้มตายเป็นจำนวนมาก
โดยตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.1696 (พ.ศ. 2239) มีคนตายในกรุงศรีอยุธยาถึงเกือบ 80,000 คน ตายกันเยอะจนตามวัดต่างๆ แทบไม่เหลือที่ให้ฝังศพ แม้แต่ที่โล่งตามทุ่งนาก็มีแต่ศพทั้งนั้น
ลำพังแค่วัดใกล้โรงเรียนของท่านแค่แห่งเดียวนี่ ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมาก็ได้ฝังศพไปถึง 4,200 ศพเข้าไปแล้ว นี่ยังไม่นับที่อื่นๆ อีกมหาศาล
บาทหลวงปินโตเล่าต่อไปว่า ทางราชสำนักของสมเด็จพระเพทราชา ก็ได้จัดสวดมนต์ทำบุญหลายพันอย่าง และได้มีรับสั่งให้หมอออกตระเวนรักษาคนป่วย พระราชทานยา และแจกเงินเป็นทานถ้วนหน้ากัน
ส่วนท่านสังฆราชหลุยส์ ลาโน (สังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส) ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมก็ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ให้คนถ่ายเลือดออก เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วย (เป็นวิธีการรักษาโรคของคนสมัยก่อน) และสมเด็จพระเพทราชาก็ทรงเห็นชอบ จึงทรงออกประกาศให้ราษฎรปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านสังฆราช ช่วงนั้นบาทหลวงก็ได้วิ่งช่วยคนทุกหนทุกแห่งตัวท่านบาทหลวงปินโตเอง ก็ออกวิ่งไปรักษาคนทั่วทุกแห่งเหมือนมิชันนารีคนอื่นๆ แต่ในไม่ช้าคนไข้ก็เต็มมือ และนักเรียนในโรงเรียนสามเณรก็ค่อยๆ ทยอยล้มตายลง (และต่อมาไม่นาน ท่านบาทหลวงปินโตก็ล้มป่วย และถึงแก่กรรมลงเช่นกัน)
จดหมายฉบับต่อไปเป็นของบาทหลวงฝรั่งเศส มองซิเออร์โปเกต์ เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ลงวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1696 (พ.ศ.2239)
ซึ่งจดหมายฉบับนี้ก็เขียนเล่าไปในทางเดียวกับของบาทหลวงปินโต โดยบาทหลวงโปเกต์เล่าว่า...
ภาวะฝนแล้งและน้ำน้อยในกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องข้ามปี คือนับวันก็ยิ่งแล้งลงเรื่อยๆ ถึงขนาดในหน้าน้ำหลาก ซึ่งตามปกติน้ำจะต้องล้นเข้าท่วมพื้นที่รอบพระนคร แต่ในปีนั้นก็ไม่มีน้ำจะให้หลากเลยทีเดียว เรียกว่าแล้งหนักหนาสาหัสมากๆ
ราคาข้าวไม่ใช่แค่แพงเท่านั้น แต่ยังหาซื้อไม่ได้เลยด้วย
บาทหลวงโปเกต์เล่าว่า ความแห้งแล้งครั้งนี้ได้ทำให้เกิดไข้ทรพิษขึ้นหลายชนิด โดยท่านใช้คำว่า “บางอย่างก็ดำ บางอย่างก็แดง” ซึ่งการระบาดของไข้ทรพิษ ได้ทำให้ผู้คนทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
สมเด็จพระเพทราชา ก็ทรงพยายามช่วยเหลือราษฎรทุกอย่าง ทางวัดพุทธได้อัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่เพื่อขอฝน ส่วนทางคณะบาทหลวงก็จัดพิธีสวดมนต์ แล้วอีกไม่นานก็เริ่มมีฝนตกลงมา และตกเรื่อยไปตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน น้ำในแม่น้ำเริ่มเพิ่มมากขึ้นจนล้นไปท่วมทุ่งนาอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน และก็เริ่มเกี่ยวข้าวกันได้บ้าง
นั่นคือรายละเอียดของโรคห่า (ไข้ทรพิษ) ระบาดในสมัยสมเด็จพระเพทราชา จากจดหมายของท่านบาทหลวงปินโต และท่านบาทหลวงโปเกต์
โรคห่าสมัยพระเจ้าท้ายสระ ในจดหมายบาทหลวงฝรั่งเศส
อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นนะครับ เรื่องโรคห่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนี้ ผมอ่านเจอโดยบังเอิญ ในจดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศส 2 ฉบับ ซึ่งบันทึกเรื่องราวไว้ตรงกัน และช่วงเวลาที่เกิดการระบาดก็ใกล้เคียงกัน
เริ่มที่จดหมายฉบับแรก เป็นของมองเซนเยอร์ เดอ ซีเซ เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ลงวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1712 (พ.ศ. 2255) ซึ่งเป็นช่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
จดหมายฉบับนี้เขียนไว้แค่สั้นๆ มีแค่ย่อหน้าเดียวเท่านั้น โดย มองเซนเยอร์ เดอ ซีเซ เขียนเล่าไว้ว่า...
ได้เกิดไข้ทรพิษมาได้ 5-6 เดือนแล้ว (คงจะเริ่มระบาดประมาณเดือนมิถุนายน) และจนถึงตอนที่เขียนจดหมายก็ยังคงระบาดอยู่ มีผู้คนในอยุธยาล้มตายเป็นจำนวนมาก ทางคณะบาทหลวงก็ได้พยายามช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วยทุกอย่าง รวมทั้งออกไปช่วยรักษาคนตามในเมืองและหมู่บ้านต่างๆ (ถึงบางหมู่บ้านต้องเดินทางไกล 3-4 ไมล์ก็ต้องไป)
นอกจากช่วยรักษาชาวบ้านแล้ว เหล่าบาทหลวงยังต้องซื้อข้าวมาเลี้ยงคนยากจนด้วย แม้ว่าราคาข้าวจะแพง และหาซื้อยากแค่ไหนก็ตาม
มองเซนเยอร์ เดอ ซีเซ เขียนเล่าไว้ในจดหมายสั้นๆ เพียงเท่านี้นะครับ
จดหมายฉบับต่อไปเป็นของ มองเซนเยอร์เดอบูร์ ซึ่งเคยเป็นบาทหลวงระดับบิชอป ที่เมืองตังเกี๋ยฝ่ายตะวันตก ท่านได้เขียนจดหมายถึง มองซิเออร์เตเซีย ลงวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1713 (พ.ศ.2256) ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
จดหมายฉบับนี้ช่วยขยายรายละเอียดของโรคห่าได้มากขึ้น
มองเซนเยอร์เดอบูร์ เขียนเล่าไว้ว่า...
คณะของท่านได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม โดยสภาพของกรุงศรีอยุธยาในตอนนี้ แตกต่างจากที่ท่านเคยเข้ามาครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้วอย่างมาก
อยุธยาในตอนนี้ เรือค้าขายของพ่อค้าต่างประเทศไม่พลุกพล่านเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน หรือถ้าจะให้เปรียบเทียบกันจริงๆ แล้ว กรุงศรีอยุธยาแทบจะกลายเป็นเหมือนป่าที่ร้างผู้คนเลยทีเดียว เพราะจำนวนประชากรลดลงไปกว่าครึ่ง
มองเซนเยอร์เดอบูร์ บอกว่า เมื่อต้นปี ค.ศ. 1713 (พ.ศ. 2256) ได้เกิดไข้ทรพิษระบาดขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เป็นผลให้ผู้คนล้มตายกันไปตั้ง “ครึ่งเมือง" นอกจากนั้นยังได้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้คนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส ราคาข้าวตามปกติเคยซื้อกันในราคา 1 เหรียญ แต่ตอนนี้ 10 เหรียญก็ยังแทบจะหาซื้อกันไม่ได้
ซึ่งการมากรุงศรีอยุธยาของท่านในครั้งนี้ ท่านได้พาชายชาวตังเกี๋ยมาด้วย 20 ชีวิต เพราะเข้าใจว่าอยุธยาคงจะยังเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน แต่พอมาเจอแบบนี้ ก็ทำให้คณะของท่านได้รับความลำบากอย่างมากทีเดียว
และทั้งหมดนั้นคือบันทึกเรื่อง “โรคห่า” ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ทั้งจากพงศาวดารของไทย และจากจดหมายของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้ช่วยให้รายละเอียดเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ได้ดีเหลือเกิน
::: อ้างอิง :::
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ และคำให้การชาวกรุงเก่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2559.
จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา : บาทหลวงโลเน รวบรวมพิมพ์ เมื่อ ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2562.
อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก / กำพล จำปาพันธ์. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, 2560.
เรื่องและภาพ  : หอย อภิศักดิ์
โฆษณา