Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mission To The Moon
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
26 ธ.ค. 2021 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ชีวิตและธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
พาดู 6 สิ่งที่ (น่า) จะเกิดขึ้น ในวันที่โลก Metaverse มาถึง
“โลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” คงเป็นคำพูดที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อพูดถึงการเกิดขึ้นของ Metaverse ถึงแม้วันนี้คำพูดเหล่านี้จะดูไกลตัวใครหลายๆ คน แต่เมื่อวันใดวันหนึ่งที่โลก Metaverse นั้นสมบูรณ์แบบมากขึ้น และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น คำพูดเหล่านี้จะไม่เกินจริงเลยล่ะ
เพราะถึงแม้ว่าแนวคิดของ Metaverse จะได้รับการพูดถึงที่มากขึ้นมาจาก Mark Zuckerberg ผู้นำแห่งวงการโซเชียลมีเดีย แต่ชีวิตของเราและ Metaverse จะไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตของเราบนโลกโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนทั้งด้านของการใช้ชีวิต ธุรกิจ และการทำงานของเราไปอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว
และเพื่อให้เราทุกคนได้เตรียมความพร้อมทางธุรกิจและชีวิต เราจึงจะพาไปดูถึง 6 สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อโลกของ Metaverse มาถึง
การปฏิวัติวงการโฆษณา ที่ทำให้ธุรกิจต้องกลับมาคิดใหม่
การเกิดขึ้นของ Metaverse นั้นหมายความว่าธุรกิจและองค์กรต่างๆ จะต้องจัดสรรปันส่วนงบประมาณในการทำโฆษณา ที่จะย้ายจากการทำโฆษณาในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ไปยังการทำโฆษณาบนโลกเสมือนมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ การทำธุรกิจจะต้องจัดทำการศึกษาในเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภคกันใหม่ เพราะแน่นอนว่าการใช้ชีวิตบนโลก Metaverse ก็คงจะไม่เหมือนการใช้ชีวิตบนโลกจริงเลยซะทีเดียว
ในปัจจุบัน การทำ Virtual Advertising หรือการทำโฆษณาแบบเสมือนจริงก็ไม่ได้ไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว เพราะแบรนด์ต่างๆ ก็เริ่มที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่และชิงโอกาสในการทำการโฆษณาในรูปแบบนี้บ้างแล้ว โดยจะทำในรูปแบบของการปล่อยสินค้าในรูปแบบ Virtual ออกมาก่อน แล้วค่อยปล่อยสินค้าจริงออกมาทีหลัง หรือในอีกแง่มุมหนึ่งคือ เป็นการปล่อยสินค้ารูปแบบดิจิทัลออกมาอย่างเดียวเท่านั้น
อย่าง Gucci แบรนด์แฟชั่นหรูก็ได้ปล่อยคอลเลกชันพิเศษบน Roblox ไปแล้วในต้นปีที่ผ่านมา โดยอวาตาร์ในเกมจะสามารถสวมใส่สินค้าของ Gucci บนโลก Virtual ที่มีชื่อว่า “Gucci Garden”
ในขณะที่ทางฝั่ง Louis Vuitton เองก็ได้เปิดตัวเกม NFT “Louis the Game” เกมในรูปแบบผจญภัย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเข้าร่วมกิจกรรม เก็บของรางวัลเป็น NFT ที่จะสามารถตามหาได้ผ่านการเล่นเกมนี้เท่านั้น ซึ่งเป้าหมายของ Louis Vuitton ในการทำโปรเจกต์นี้คือการทำให้แบรนด์นั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่ของคนที่ยังไม่ได้รู้จักแบรนด์มากเท่าไหร่
เราจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ณ ปัจจุบันนี้ ส่งผลอย่างมากต่อการที่ธุรกิจจะต้องแบ่งสันปันส่วนงบโฆษณา เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งในอนาคต เมื่อ Metaverse มาถึงและผู้คนเริ่มไปอยู่บนโลกเสมือนจริง แน่นอนว่าการโฆษณาของแบรนด์ก็ต้องหาลู่ทางให้ตัวเองไปอยู่บนโลกแห่งใหม่ด้วยเช่นกัน
“Phygital” เมื่อค้าปลีกต้องสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ทั้งสองโลก
ทุกคนอาจจะสงสัยว่าคำนี้เราเขียนผิดหรือเปล่า.. แต่ไม่ใช่เลย
คำว่า “Phygital” เกิดมากจากคำว่า Physical (ที่แปลว่าทางกายภาพ) บวกกับ Digital (ดิจิทัล) มารวมกัน ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่าการค้าปลีกในอนาคตจะต้องอยู่ในกรอบที่สามารถจับต้องได้ แต่อีกทางหนึ่งก็ต้องสามารถเข้าถึงและสัมผัสผ่านดิจิทัลได้เช่นกัน
1
หากใครยังนึกภาพไม่ออก ลองนึกดูว่าเมื่อก่อน เวลาเราจะซื้ออะไรเราก็ต้องเดินทางไปถึงที่ร้านเพื่อที่จะซื้อสินค้า ซึ่งการซื้อขายในรูปแบบนี้เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัส ได้รู้สึก และได้ลองสินค้าแบบจริงๆ แต่ในอีกทางหนึ่ง การซื้อขายในรูปแบบก่อนๆ ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง นั่นก็คือ 1) เสียเวลาในการเดินทาง และ 2) บางทีสินค้าไซส์และสีหมด ทำให้ไม่สามารถทำการตัดสินใจได้อย่างดีที่สุด
แต่การมาถึงของ eCommerce ก็นับว่าเป็น Game Changer ของวงการนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเข้ามาลดช่องว่างระหว่างสินค้าและลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถจับจ่าย ดูสินค้าจากที่ไหนก็ได้ผ่านโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และยังสามารถจ่ายเงินได้แบบทันที แต่อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในรูปแบบนี้ก็ยังคงมีข้อจำกัดตรงที่ว่าลูกค้าจะไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสสินค้าได้ก่อนที่สินค้ามาถึง ทำให้หลายคนมักจะประสบกับการที่สินค้ามาไม่ตรงปก เล็กไป ใหญ่ไป หรือคุณภาพสินค้าไม่เหมือนกับในรูป
และสำหรับการมาถึงของ Metaverse ธุรกิจค้าปลีกจะต้องเป็น “Phygital” ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถหยิบประโยชน์ของทั้งสองโลกมาใช้ร่วมกันได้.. แล้วอย่างไรกันล่ะ?
ลองนึกภาพดูว่าถ้ามี ลูกค้า A คนหนึ่งใส่อุปกรณ์ Teslasuit และ VR เพื่อที่จะเข้าไปดูสินค้าบนร้าน Lululemon บนโลกของ Metaverse ซึ่งทางลูกค้า A ก็ถูกใจเสื้อตัวหนึ่ง เลยเลือกขึ้นมาลองบนตัว โดยเจ้า Teslasuit ที่สวมใส่อยู่ก่อนหน้านี้จะช่วยให้ลูกค้าได้ความรู้สึกเดียวกันเหมือนกับการได้ใส่เสื้อตัวนั้นในชีวิตจริง และเมื่อลูกค้า A กดสั่งซื้อ เสื้อตัวนั้นก็จะถูกส่งมาที่บ้านของเขาในชีวิตจริง
1
ตัวอย่างนี้อาจจะยังดูเหมือนนิยายสำหรับใครหลายๆ คน แต่เมื่อทั้งสองโลกมีการเชื่อมต่อกันที่ไร้ที่ติมากขึ้น การซื้อขายในรูปแบบ “Phygital” ก็อาจจะกลายมาเป็นการช็อปปิงรูปแบบใหม่ในโลกอนาคตของพวกเราทุกคนก็เป็นได้
การทำงานจากทางไกล ที่ล้ำกว่าการใช้ซูม
ตอนที่การระบาดเกิดขึ้นใหม่ๆ เราทุกคนก็ต่างหันมาใช้ Zoom หรือ Microsoft Team ในการติดต่อสื่อสารเรื่องงานกันทั้งนั้น จนการทำงานในรูปแบบนี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบนี้นานๆ เข้าก็ทำให้เกิดภาวะที่หลายๆ คนเรียกว่า “Zoom Fatique” ภาวะล้าจากการวิดีโอคอลมากเกินไป ทำให้เราก็ได้ตระหนักว่าการปฏิสัมพันธ์เรื่องงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างที่ทำกันอยู่ จะไม่สามารถมาทดแทนการเจอหน้ากันได้แบบ 100%
แต่สำหรับการทำงานในโลกของ Metaverse แล้ว การประชุมแบบออนไลน์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากการที่เราเห็นเพื่อนร่วมงานของเราผ่านหน้าจอเล็กๆ ที่มีแค่ 1 มิติเท่านั้น ต่อไปนี้ในโลกเสมือน การใช้ VR ในการประชุมออนไลน์ จะช่วยให้เรารู้สึกถึง “Sense of Space” หรือ “ความรู้สึกถึงพื้นที่” ที่มากขึ้น รู้สึกว่าเราอยู่ ณ ที่ตรงนั้นกับเพื่อนร่วมงานของเรา ต่างจากการที่เรามองเห็นเพื่อนจากหน้าจอเรียบๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งในตอนนี้ บางบริษัทก็เริ่มที่จะปล่อยแพลตฟอร์มสำหรับการประชุมแบบ VR มาบ้างแล้ว อย่างทาง Facebook เองที่เป็นผู้จุดกระแส Metaverse ขึ้นมาก็ได้ปล่อย “Horizon Workrooms” ออกมา ในขณะเดียวกัน ทาง Microsoft ก็ได้ปล่อย “Mesh for Teams” ซึ่งเป็นการประชุมแบบเสมือนจริงโดยสามารถที่จะใช้ VR/AR หรือจะเป็นการเปลี่ยนตัวเองให้เป็นอวาตาร์ 3D อย่างเดียวก็ได้
ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตามองว่าโลกของการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในอนาคต การนำ VR เข้ามาใช้กับการทำงานจะเวิร์กจริงหรือไม่ เราก็ต้องมาดูกัน
“Internet of Senses” ก้าวสู่โลกอินเทอร์เน็ตที่สามารถรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง
อย่างที่เราได้พูดกันไปว่าการทำงานในโลก Metaverse ประสบการณ์ที่เราจะได้รับไม่ใช่แค่เป็นหน้าจอแบนๆ ไร้มิติอีกต่อไป แต่จะเป็นที่ที่เรารู้สึกว่าเราอยู่ในห้องห้องนั้น อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ และมากไปกว่านั้นอีกคือ การมาถึงของ “Internet of Sense” หรือ “อินเทอร์เน็ตแห่งความรู้สึก”
หลายๆ คนอาจจะงงว่าแล้วอินเทอร์เน็ตแห่งความรู้สึก คืออะไรกัน?
Internet of Senses ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ การที่เทคโนโลยีจะช่วยให้ประสบการณ์บนโลก Metaverse ของเรานั้นมีมากกว่าการมองเห็นและได้ยินเสียง แต่จะได้ครบทุกประสาทสัมผัสเหมือนการที่เราใช้ชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รสชาติ การได้สัมผัส และการได้กลิ่น หรือล้ำถึงกระทั่งสามารถที่จะสั่งงานผ่านความคิด
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ความคิดนี้จะดูเพ้อฝันไปสักหน่อย แต่อย่างที่เราพอจะทราบกันดีว่าหลายๆ สิ่งที่เราเคยคิดว่าคงไม่น่าจะเป็นไปได้ ณ ปัจจุบันก็สามารถที่จะทำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถที่ขับเองได้อย่าง Tesla หรือการที่จรวดสามารถกลับมาจอดที่เดิมได้ของ SpaceX
ทำให้ไม่แน่ว่าในอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า เราอาจจะได้ดื่มด่ำกับกาแฟพร้อมกับรับรู้ “รสชาติดิจิทัล” ในตอนเช้าก่อนทำงาน หรืออาจจะได้ “กลิ่นดิจิทัล” จากอาหารที่เราร่วมรับประทานกับเพื่อนร่วมงานบนโลก Metaverse ก็เป็นได้
การใช้ชีวิตภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ
แน่นอนว่าในการที่จะทำให้โลก Metaverse ขับเคลื่อนไปได้จริงๆ การมีเทคโนโลยีรองรับเรื่องของการเงิน การชำระเงิน และการเป็นเจ้าของนั้นสำคัญมาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว โลกของ Metaverse ก็ถูกสร้างให้เป็นเหมือนโลกคู่ขนานกับโลกของเราที่มีระบบเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ด้วยเหตุผลนี้ทำให้การมีเงินดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี และการมีกรรมสิทธิ์อย่าง NFT เป็นส่วนสำคัญในโลกเสมือนจริงของเรา
อย่างที่เราพอรู้กันว่าในปัจจุบัน ก็เริ่มที่จะมีการซื้อขายผ่านคริปโทฯ กันบ้างแล้ว ซึ่งในอนาคต ในโลกอนาคตก็น่าจะใช้เหรียญคริปโทฯ เหล่านี้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบที่ Decentralised อยู่บน Blockchain ที่จะคอยให้บริการโดยไม่มีอำนาจกลางใดๆ มาควบคุม
และในอีกทางหนึ่ง NFT ก็เข้ามาช่วยในเรื่องของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เพราะก่อนที่จะมี NFT มันค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องยากสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะมีมูลค่า เนื่องจากถูกคัดลอกงานไปได้ง่าย แต่การมาถึงของ NFT เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ ผ่านการที่สินทรัพย์แต่ละชิ้นจะมี Unique ID ที่เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์ชิ้นนั้นๆ และยืนยันว่าสินทรัพย์ของเราเป็นของต้นฉบับนั่นเอง
การมาถึงของ “NFT” โอกาสของวงการเกมและงานศิลปะดิจิทัล
อย่างที่เราพอรับทราบกันมาว่าในปัจจุบัน NFT เริ่มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะอยู่ภายใต้ 2 ด้านหลักๆ คือ (1) เกม และ (2) ศิลปะดิจิทัลและของสะสม
เราเริ่มที่จะเห็นคนจำนวนมากเข้าไปเล่นเกม NFT มากขึ้น และในอีกทางหนึ่ง ฝั่งของนักพัฒนาเกมก็เริ่มที่จะพัฒนาเกมในรูปแบบ NFT เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าจับตามองในอนาคตก็เป็นได้ โดยในปัจจุบัน เกม NFT ที่หลายๆ คนนิยมเล่นกัน ได้แก่ เกม Axie Infinity, CryptoKitties หรือจะเป็น เกม Sorare สำหรับคอฟุตบอล ซึ่งสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนสนใจและอยากที่จะกระโดดเข้าไปเล่นในเกม NFT เป็นเพราะว่าบางเกมจะเป็นเกมในรูปแบบ Play-to-Earn ที่เป็นการเล่นแล้วได้เงิน หรือจะเป็นในรูปแบบที่ได้ของรางวัล NFT อื่นๆ นั่นเอง
และสำหรับศิลปะดิจิทัล ที่จริงๆ แล้วมีอยู่มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากสามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย เมื่อ NFT เข้ามาสร้างความเป็นกรรมสิทธิ์ สร้างความเป็นเจ้าของเพียงหนึ่งเดียว ก็ทำให้มูลค่าและคุณค่าของศิลปะดิจิทัลเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แต่ที่น่าสนใจเลยคือของสะสม ซึ่งในโลกดิจิทัลของสะสมมีหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการ์ด (เช่น การ์ดกีฬาอย่าง NBA และ MBA) หรือแม้แต่การทวีตของดารานักร้อง ก็นับว่าเป็นของสะสมของใครบางคน ซึ่งราคาของของสะสมเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะน้อยๆ เลยด้วย อย่างเช่น ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศิลปินดิจิทัลที่มีชื่อว่า Beeple ได้ขายงานศิลปะที่มีชื่อว่า “Everyday - The First 5000 Days” ไปเป็นจำนวนเงินกว่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยกว่า 2,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดใน ณ ปัจจุบันนี้
ทำให้น่าลุ้นว่าการมาถึงของ NFT จะช่วยให้การเข้าถึงงานศิลปะและของสะสมเหล่านี้ง่ายขึ้นหรือไม่ และจะช่วยเป็นอีกหนึ่งทางให้นักวาด นักผลิตได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น และมีโอกาสที่จะเฉิดฉายได้มากขึ้นหรือไม่
จากทั้ง 6 ข้อนี้ เราก็คงจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อโลก Metaverse มาถึง หรืออาจจะก่อนที่โลก Metaverse จะสมบูรณ์แบบก็ได้ แต่จากที่ดูแล้ว ในตอนนี้บางคนอาจจะคิดว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว และดูเกินจริง
แต่ใน 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ในวันที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ถูกพัฒนาจนฉลาดล้ำหน้าจนสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ เชื่อว่าชีวิตของเราในตอนนั้นก็คงผูกติดกับสิ่งเหล่านี้จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ไม่ได้น่าตื่นเต้นและไกลตัวเหมือนกับในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน
อ้างอิง
DBS Bank’s CIO Vantage Point, November 2021
#missiontothemoon
#missintothemoonpodcast
#metaverse
13 บันทึก
20
17
13
20
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย