27 ธ.ค. 2021 เวลา 08:26 • สุขภาพ
ปวดเมื่อยเนื้อตัวไปหมด … นี่เราเป็นอะไรกันนะ ?!!?
ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราหลายคนคงเคยสัมผัสกับอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นกับร่างกายอยู่บ่อยๆ บางคนปวดเมื่อยช่วงสั้นๆ ไม่กี่วันก็หาย แต่บางคนปวดเมื่อยเรื้อรังเป็นระยะเวลานานจนถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิต … วันนี้เรามาทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเหล่านี้
อาการเมื่อยล้า เหน็ดเหนื่อย หมดแรง ขาดพลังงาน ขาดสมาธิ ขาดแรงกระตุ้นในการทำสิ่งต่างๆ จนมีผลกระทบไปถึงอารมณ์และสุขภาพจิต อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย หรือเกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน และการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
หากแน่ใจว่าเรานอนหลับพักผ่อนเพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และผ่อนคลายความตึงเครียดแล้ว แต่อาการเมื่อยล้ายังคงอยู่เรื้อรังยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ เราควรไปหาหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ทั้งโรคที่มีความรุนแรงน้อย ไปจนถึงโรคที่ค่อนข้างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต
อาการเมื่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ
1. อาการเมื่อยที่เกิดจากการใช้ชีวิต หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงอย่างหนัก เช่น ออกกำลังกายอย่างหนัก ยกของหนัก ลากของหนักเป็นเวลานานๆ ขาดการออกกำลังกาย หรือขาดการทำกิจกรรมที่เพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อร่างกาย การนอนและพักผ่อนไม่เพียงพอ น้ำหนักเกิน อยู่ในภาวะอ้วน อยู่ในช่วงมีประจำเดือนซึ่งมีสภาวะทางอารมณ์ไม่คงที่ รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย บริโภคคาเฟอีนจากกาแฟหรือชามากเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือการใช้ยาเสพติด นอกจากนี้ยังเกิดจากการเดินทางข้ามเขตเวลาโลกแล้วร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเขตเวลาใหม่ได้ เป็นต้น
2. อาการเมื่อยที่เกิดจากการใช้ยาและการรักษาทางการแพทย์
การใช้ยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการเมื่อยล้าหมดแรง เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยาต้านฮิสตามีน ยารักษาความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคหัวใจ ยาสเตียรอยด์ ยาคลายกังวล ยาต้านเศร้า ยานอนหลับ การบำบัดรักษาโรค เช่น เคมีบำบัด รังสีบำบัด
3. อาการเมื่อยที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพทางร่างกาย
เจ็บป่วยด้วยโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ภาวะขาดธาตุเหล็ก โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคปวดกล้ามเนื้อหรือมีอาการเจ็บปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างเรื้อรัง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคลมหลับ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ ภาวะข้ออักเสบหรือข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแอดดิสันที่ต่อมหมวกไตทำงานได้น้อยกว่าปกติ ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เช่น โรคคลั่งผอมหรือโรคกลัวอ้วนทำให้พยายามอดอาหาร โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคพุ่มพวง
เจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับหรือไต เช่น ตับวายเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งมักเกิดจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจากปรสิต โรคไวรัสตับอักเสบ วัณโรค การติดเชื้อเอชไอวี ศีรษะกระแทก สมองถูกกระทบกระเทือนหรือได้รับบาดเจ็บ โรคทางเส้นประสาท เช่น เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มอาการล้าเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการเมื่อยล้าอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป
4. อาการเมื่อยที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพทางจิตใจ
เกิดความเบื่อหน่าย วิตกกังวล เครียด ภาวะซึมเศร้าหรือเผชิญกับความเศร้าเสียใจอย่างหนัก โรคทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล คือจะมีอารมณ์เศร้าหดหู่ ไม่มีแรง เฉพาะในช่วงฤดูกาลนั้นของทุกปีและจะดีขึ้นเมื่อฤดูนั้นผ่านพ้นไป ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการป่วยในช่วงฤดูที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักมีอาการในช่วงฤดูหนาว
การป้องกันและการรักษา
หากเป็นอาการเมื่อยที่ไม่รุนแรง ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน สามารถดูแลรักษา บรรเทาอาการ และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้ เช่น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการและสุขอนามัยในปริมาณที่เหมาะสม
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้ยาเสพติด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หนักจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงอย่างหนัก ไม่หักโหมทำงานหนักหรือทำกิจกรรมต่างๆ มากจนเกินไป
- พักผ่อนร่างกายด้วยกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น วาดรูป เล่นโยคะหรือนั่งสมาธิ
- หลีกเลี่ยงความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้เครียด เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด แก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่อย่างเหมาะสม
- ผ่อนคลายด้วยการเดินทางท่องเที่ยว หรือการทำกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง
- หากกำลังเจ็บป่วยและอยู่ในระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว ต้องกินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด
หากเราดูแลตนเองและปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือยังคงมีอาการเมื่อยปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ควรรีบไปหาหมอเพื่อทำการตรวจรักษา
ควรไปหาหมอ เมื่อมีอาการเมื่อยล้าหาสาเหตุไม่ได้ ร่วมกับอาการต่อไปนี้
- มีไข้ น้ำหนักลด
- ปัสสาวะน้อยมาก หรือไม่ปัสสาวะเลย
- ท้องผูก น้ำหนักขึ้น
- ผิวแห้ง หนาวง่าย
- ตัวบวมขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน
- นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน
- เวียนศีรษะ สับสน มึนงง สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพเบลอ
- เจ็บแน่นหน้าอก หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เต้นแรง
- ปวดศีรษะตลอดเวลา
- ปวดท้อง ปวดท้องน้อย หรือปวดหลังอย่างรุนแรง
- รู้สึกเหมือนจะเป็นลม หรือเหมือนกำลังจะขาดใจตาย
- มีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือมีเลือดไหลออกจากทวาร
- รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ
- มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเอง
- มีความคิดหรือความกังวลว่าจะทำร้ายผู้อื่น
อาการเมื่อยที่เกิดจากการเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรต้องเข้ารับการรักษาตามโรคและการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุ โดยต้องไปหาหมอตามนัด กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำจากหมออย่างเคร่งครัด จะได้หายจากการเจ็บป่วยและกลับมามีสุขภาพดีทั้งกายและใจอีกครั้ง …
ใครที่ป่วยอยู่ … สู้ๆ นะคะ ^^
ขอบคุณข้อมูลจาก
โฆษณา